การผลิตขยายแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา

ความสำคัญ

แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา หรือแตนตาแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเจริญเต็มที่มีขนาด ประมาณ 0.50 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเหลืองขุ่น ตาสีแดง บริเวณเส้นปีกมีขนอ่อนเรียงเป็นแนวตรง แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมาทำลายไข่ของผีเสื้อต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น หนอนกออ้อย หนอนกอข้าว หนอนห่อใบข้าว หนอนเจาะ ล้าต้นข้าวโพด หนอนใยผัก หนอนแก้วส้ม หนอนคืบละหุ่ง หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเจาะสมอฝ้าย และ หนอนหัวดำมะพร้าว เป็นต้น โดยตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ไว้ในไข่ของแมลงศัตรูพืช เมื่อไข่แตนเบียนฟักออกเป็นตัวหนอนจะอาศัยดูดกินของเหลวอยู่ในไข่ของแมลงศัตรูพืชที่อาศัยอยู่ ไข่ที่ถูกเบียนจะถูกทำลายเปลี่ยนเป็นสีดำภายใน 5 วัน ต่อมาดักแด้แตนเบียนจะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยเจาะออกจากไข่เพื่อผสมพันธุ์วางไข่ต่อไป แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา 1 ตัว ทำลายไข่ได้ 200-400 ฟอง

การใช้แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม

นำแผ่นกระดาษที่มีไข่ผีเสื้อข้าวสารที่ถูกเบียนแล้ว 7 วัน ไปเย็บติดกับใบพืชหรือต้นพืชในช่วงที่ศัตรูพืชระบาด โดยปล่อยให้ครอบคลุมพื้นที่ และต้องปล่อยเหนือลมในอัตรา 20,000-30,000 ตัวต่อไร่ (10-15 แผ่น/ไร่) สภาพพื้นที่ในขณะปล่อย ต้องไม่มีฝนตก และลมไม่แรงเกินไป ในช่วงเวลาตอนเย็น 16.00 น. เป็นต้นไป จุดปล่อยแต่ละจุดควรมีระยะห่าง 15-20 เมตร ใน 1 ไร่ ปล่อย 10 จุด การนำไปปล่อยให้ใส่ในกระติกน้ำแข็งระหว่าง ขนย้าย ถ้ายังไม่นำไปปล่อยควรเก็บรักษาในกล่องพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ปิดสนิท และใส่ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 7- 10 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์

วงจรชีวิต

ระยะไข่ อยู่ภายในไข่ของผีเสื้อ อายุ 1 วัน จะฟักเป็นตัวอ่อน

ระยะตัวอ่อน อยู่ภายในไข่ของผีเสื้อ อายุประมาณ 3 วัน อาศัยกินอยู่ในไข่ผีเสื้อ แล้วเข้าระยะพักตัว 1 วัน ระยะดักแด้อยู่ภายในไข่ของผีเสื้อ อายุ 2 วัน มองภายนอกเห็นไข่ผีเสื้อเป็นสีดำ

ระยะตัวเต็มวัย สีน้ำาตาล ตาสีแดง อายุ 1-12 วัน

การเพาะเลี้ยงผลิตขยายแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา

วัสดุอุปกรณ์

–  กล่องพลาสติกเหลี่ยมใส มีฝาซึ่งเจาะรูระบายอากาศแล้วบุด้วยผ้าใยแก้ว

–  กระดาษโปสเตอร์สีแดง

–  กาวแท่ง

–  พู่กัน

–  ที่เย็บกระดาษ

–  ลวดเย็บกระดาษ

–  ตู้เขี่ยเชื้อพร้อมหลอด Ultraviolet (หลอดยูวี) ขนาด 30 วัตต์

–  หลอดไฟนีออน

–  มีดคัตเตอร์

–  กรรไกร

–  อุปกรณ์สำหรับตีตารางกระดาษโปสเตอร์

–  น้ำผึ้ง

–  สำลี

–  กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ

–  ชั้นวางกล่อง

–  ตู้ควบคุมอุณหภูมิ

–  ไข่ผีเสื้อข้าวสาร ที่ทำความสะอาดแล้ว

–  พ่อแม่พันธุ์แตนเบียนไตรโคแกรมมา

วิธีการเพาะเลี้ยง

1. ใส่แผ่นพ่อแม่พันธุ์แตนเบียน จำนวน 2 แผ่น ใส่ในกล่องเบียน ทิ้งไว้ 1-2 วัน แตนเบียนฟักเป็นตัวเต็มวัย ปล่อยให้ผสมพันธุ์ 1 วัน โดยให้น้ำผึ้ง 50 เปอร์เซ็นต์ บนกระดาษทิชชูเพื่อเป็นอาหารของพ่อแม่พันธุ์

2. โรยไข่ผีเสื้อข้าวสารบางๆ บนถาดขนาด 45 x 35 เซนติเมตร วางในตู้ยูวี นาน 15-20 นาที เพื่อชะลอ การฟักเป็นตัวหนอน

3.  ใช้กาวแท่งทาบนกระดาษโปสเตอร์สีแดงพื้นที่ประมาณ 2 x 2 เซนติเมตร นำไข่ของผีเสื้อข้าวสารที่ผ่านยูวีแล้วมา โรยบนแผ่นกระดาษบริเวณที่ทากาว

4. นำกระดาษที่โรยไข่แล้วมาวางในกล่องเบียนที่มีพ่อแม่พันธุ์แตนเบียน จำนวน 10 แผ่น (อัตรา แผ่นพ่อแม่พันธุ์ : แผ่นไข่ เท่ากับ 1 : 5)

5. วางกล่องเบียนในห้องอุณหภูมิประมาณ 27 องศาเซลเซียส และเปิดไฟเพื่อเพิ่มความเข้มแสง 12 ชั่วโมง/วัน เป็นเวลา 5 วัน เพื่อให้แตนเบียนวางไข่

6.  เมื่อครบเวลา 5 วัน ตรวจสอบเปอร์เซ็นต์การเบียน และเก็บแผ่นไข่ที่ถูกเบียนไม่น้อยกว่า 80% เก็บในตู้ควบคุมอุณหภูมิ 7-10 องศาเซลเซียสเพื่อรอการปล่อย

การควบคุมการคุณภาพ

1.  อัตราการเบียน  ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

2.  อัตราการฟัก  ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95

3.  สัดส่วนเพศ  เพศเมีย : เพศผู้  1 : 1

4.  ไข่ผีเสื้อข้าวสาร 0.1 กรัม ผลิตแตนเบียนได้ 2,000 ตัว (1 แผ่น)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะมีพื้นที่เกษตรกรรมมากหรือน้อย พื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 10 ไร่ หรือเป็น 100 ไร่ พอถึงช่วงเวลาของการบำรุงรักษาที่ต้องฉีดพ่นสาร เกษตรกรย่อมไม่อยากสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง และถ้าหาแรงงานมาฉีดพ่นสารไม่ได้ จะมีแนวทางจัดการได้อย่างไรบ้าง
พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Grassy Stunt Virus (RGSV) อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้งระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง ต้นเตี้ยแคระแกรน เป็นพุ่มแจ้ แตกกอมาก เชื้อสาเหตุสายพันธุ์เดิมทำให้เกิดอาการใบแคบสีเขียวเข้ม แต่ในปัจจุบัน เชื้อสาเหตุสายพันธุ์ใหม่ที่พบทำให้เกิด
ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5. ชุดดินโคราช (โคราช series : Kt) กลุ่มชุดดินที่ 35 การกำเนิด : เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ และ/หรือเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะทางไม่ไกลนักของหินตะกอนเนื้อหยาบพวกหินทรายบริเวณพื้นที่เกือบราบหรือที่เกือบราบ (peneplain)