ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ที่ไร่รื่นรมย์

เราจะพาทุกคนร่วมเดินทางไปเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ ณ ไร่รื่นรมย์ ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พื้นที่ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา มีการทำเกษตรอินทรีย์ทั่วพื้นที่ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับชุมชนด้วยความเข้าใจ เติบโตไปกับชุมชน ผ่านการออกแบบพื้นที่ พัฒนาและต่อยอดสินค้าเกษตรต่างๆ มากมาย

หัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์ คือ การคืนสมดุลให้กับพื้นที่ มีการทำการเกษตรแบบผสมผสานทั้งพืชหลัก พืชรอง มีการดูแลเอาใจใส่ เดินตรวจแปลง ทางไร่รื่นรมย์เน้นการปรับดินให้ดี ทำให้พืชเจริญเติบโต ลดการเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช และเราต้องรู้ว่าพื้นที่ของเราเหมาะกับการปลูกอะไร 

    ภายในไร่มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว การปลูกผัก และการปลูกไม้ผล พื้นที่ของไร่ตั้งอยู่กลางหุบเขา ดินมีลักษณะเป็นก้อน แห้ง แข็ง มีน้ำท่วมขัง จึงมีการปรับปรุงดินให้กลายเป็นดินที่ร่วนซุย ปลูกพืชอะไรก็งาม ต้นโต อวบ น่ากิน ซึ่งทางไร่ก็จะเริ่มจากการเก็บตัวอย่างดินและนำไปวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบว่าดินในพื้นที่ของตัวเองนั้นมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำหรือสูง ดินขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง

    จึงมีวิธีการเตรียมแปลง ผสมดินปลูกและการระเบิดแปลง เพื่อให้โครงสร้างของดินดีขึ้นเหมาะสมกับการปลูกพืช ดังนี้

1. ทำการพรวนดิน ใช้จอบขุดดินลึกประมาณ 6 นิ้ว เพื่อพรวนดินให้มีโครงสร้างดีขึ้น กำจัดวัชพืชในดินกำจัดไข่แมลงหรือโรคพืชที่อยู่ในดิน 

2. การยกแปลง ใช้จอบพรวนยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว จากผิวดิน โดยมีความกว้างประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนความยาวควรเป็นตามลักษณะของพื้นที่หรืออาจแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ ตามความเหมาะสม ความยาวของแปลงนั้นควรอยู่ในแนวทิศเหนือ – ใต้ ทั้งนี้เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง

3. การปรับดินที่ปลูกผัก ควรเป็นดินร่วนแต่สภาพดินเดิมนั้นอาจจะเป็นดินทราย ดินเหนียวหรือดินภูเขา จำเป็นต้องปรับปรุงให้เนื้อดินดีขึ้น โดยการใส่มูลสัตว์ พืชสดสับให้ละเอียด แกลบสด ปุ๋ยแห้ง รำอ่อน ฟางข้าว คลุกเคล้าให้เข้ากัน และราดด้วยน้ำจุลินทรีย์เข้มข้น จะเป็นตัวเร่งในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุที่อยู่ในดิน ส่วนผสมทุกอย่างอัตราส่วนอย่างละ 1:1 จากนั้นก็นำผ้าใบมาคลุมทิ้งไว้ 7 วัน ดินก็พร้อมที่จะปลูกพืชแล้ว

นอกจากที่ดินจะกลับมาร่วนซุยแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้ต้นพืชเจริญงอกงาม ทางเราก็ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งปัจจัย คือ การใช้น้ำจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีย์มีบทบาทที่สำคัญต่อดินและพืชหลายประการ ไม่ได้เป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชโดยตรง แต่ทำหน้าที่ “เป็นผู้ย่อยสลาย” ย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนให้มีขนาดเล็กและกลายเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งปรับสมดุลและสภาพแวดล้อมต่างๆ ในดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิต มีประโยชน์ต่อพืช คน สัตว์ จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการปลูกพืชทุกรูปแบบ 

ทางไร่ก็มีการทำน้ำจุลินทรีย์ โดยการนำจุลินทรีย์ตัวที่ดีมาทำการขยายลงในน้ำที่มีอาหารของจุลินทรีย์ผสมอยู่ หมักทิ้งไว้จนครบอายุ 7 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้ มีส่วนผสมสำหรับถัง 200 ลิตรดังต่อไปนี้ น้ำ 160 ลิตร      น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม รำอ่อน 5 กิโลกรัม นมวัว 1 ลิตร ในส่วนของการขยาย     น้ำจุลินทรีย์ทำง่ายมากๆ เพียงใส่ส่วนผสมทั้งหมดลงในถัง จากนั้นคนส่วนผสมให้เข้ากันและปิดไว้ให้แน่น หลังจากนั้น 7 วัน น้ำจุลินทรีย์สามารถใช้ได้ จะนำไปเป็นหัวเชื้อเพื่อหมักครั้งต่อไป ทำเป็นปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยก้อน เป็นต้น

และนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆของการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน เพราะนอกเหนือจากการดูแลพืชผักให้เจริญงอกงามด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย รวมถึงชุมชนที่กำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับเรา แต่สิ่งที่ตามนั้นคือความยั่งยืน ทั้งเรื่องด้านอาหารที่ปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์การเรียนรู้อีกแห่งที่เราอยากแนะนำก็คือ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว) ซึ่งอยู่ใกล้แค่จังหวัดสุพรรณบุรีนี่เอง ที่เกิดจากความตั้งใจของคุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ที่นี่ได้เปิดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่เกษตรกรทั่วไปรวมถึง
จากการสำรวจพื้นที่ และหาข้อมูลประกอบด้านต่าง ๆ จึงกำหนดขนาดสระที่จะดำเนินการขุด ด้วยรถขุดคูโบต้า รุ่น KX080-3 ขนาด 8 ตัน ให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำขนาด 40x20x2.5 เมตร ความสูงของคันดินขอบสระ 1.5 เมตร ความกว้าง 5 เมตร และความจุสระประมาณ 1,350 ลูกบาศก์เมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มสุดของ