เทคนิคและขั้นตอนการขุดสระน้ำเพื่อการเกษตรด้วยรถขุดคูโบต้า KX080-3

จากการสำรวจพื้นที่ และหาข้อมูลประกอบด้านต่าง ๆ จึงกำหนดขนาดสระที่จะดำเนินการขุด ด้วยรถขุดคูโบต้า รุ่น KX080-3 ขนาด 8 ตัน ให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำขนาด 40x20x2.5 เมตร ความสูงของคันดินขอบสระ 1.5 เมตร ความกว้าง 5 เมตร และความจุสระประมาณ 1,350 ลูกบาศก์เมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มสุดของพื้นที่โดยรอบ เหมาะแก่การเป็นศูนย์รวมน้ำเมื่อถึงฤดูฝน ลักษณะดินชั้นบนเป็นดินทรายมีความลึกชั้นดินทราย 1.5 เมตร และดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวสามารถกักเก็บน้ำได้ดี มีการรั่วซึมน้อย โดยขั้นตอนในการดำเนินการ รายละเอียดดังนี้ 

การสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสม

โดยพิจารณาจากความลาดเอียงของพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นพื้นที่ลุ่มที่สามารถเป็นศูนย์รวมน้ำจากบริเวณโดยรอบได้ มีชั้นดินที่สามารถรองรับการกักเก็บน้ำ มีอัตราการรั่วซึมน้อย มีชั้นดินเหนียว หรือชั้นดินดานช่วยขวางการไหลซึมของน้ำ ดินมีการยึดเกาะตัวกันอย่างมั่นคง ซึ่งอาจต้องประเมินในวงกว้าง หรือมีการทำแผนที่ระดับความสูงต่ำของพื้นที่รายหมู่บ้าน เพื่อให้ได้พื้นที่ที่เหมาะสมในการขุดสระที่ดีที่สุด

การวัดพื้นที่ขอบเขตการขุด

เมื่อได้พื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว ให้ดำเนินการวัดพื้นที่สำหรับเว้นไว้เป็นคันสันสระ และวัดขนาดความกว้างและความยาวของสระ เพื่อทำการปักแนวขอบเขตของสระ โดยปักหลักขอบเขตของปากสระที่มีขนาดตามแบบที่กำหนด 

การกำจัดวัชพืช และปรับผิวดิน

กำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางในพื้นที่ ปรับผิวดินให้เรียบเสมอกันทั้งพื้นที่ เพื่อให้รถขุดสามารถจอดได้ระดับทั่วทั้งพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับท้องสระเรียบเสมอได้ระดับ สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ

การสร้างแนวขอบสระ

ใช้ล้อตีนตะขาบวิ่งเป็นแนวรอบสระตามขอบเขตที่ได้วัด และปักหลักขอบเขตไว้ เพื่อเป็นจุดสังเกตในขั้นตอนการขุดดิน การวิ่งแนวขอบสระอาจต้องวิ่งไปกลับ จนเส้นแนวที่ได้เป็นเส้นตรงทั้งสี่ด้าน เพื่อให้ขอบปากสระมีความตรง ได้แนวระดับเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก 

การขุดดิน และสร้างพื้นที่เก็บน้ำของสระ

1. ขุดเปิดงานสร้างระดับความลึกมาตรฐาน ทำการขุดดินบริเวณมุมของสระให้ห่างจากหลักขอบเขตประมาณ 1.5 เมตร เพื่อเว้นพื้นที่สำหรับปรับลาดขอบสระ โดยทำการขุดจนได้ระดับความลึกท้องสระตามที่กำหนด ควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 2.5-3.0 เมตร และทำการวัดความลึกให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อใช้ความลึกนี้เป็นเกณฑ์ในการขุดระดับก้นสระทั้งหมด

2. ขุดเปิดแนวตลอดความยาวของสระ โดยขุดห่างจากแนวล้อตีนตะขาบ 1.5 เมตร ตลอดความยาวของสระที่ได้ทำการเขียนผังไว้ และมีความลึกระดับเดียวกับความลึกมาตรฐานที่จุดเปิดงาน

3. ขุดเปิดแนวตลอดความกว้างของสระ ทำการขุดแนวด้านกว้างของสระ โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับแนวด้านความยาว เมื่อทำการขุดแนวด้านกว้างเรียบร้อยแล้ว จะได้แนวการขุดเป็นรูปตัว L

4. ขุดดินในส่วนกลางของสระ โดยการขุดจะทำการขุดจนสุดแนวที่ได้ทำการวัดพื้นที่ทั้งหมด และเขียนผังสระไว้ โดยใช้ความลึกเท่ากับจุดเปิดงานที่ได้ทำการสร้างระดับความลึกมาตรฐานไว้ ซึ่งจะเลือกใช้การขุดดินแบบทิ้งดิน หรือเก็บดิน ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้ปฏิบัติงานขุดสระ โดยหากเป็นสระที่มีการถมดินสร้างคันดินขอบสระ จะต้องมีการวางดินไว้ตลอดความยาวทั้งสี่ด้านของสระในระหว่างขุด ให้มีปริมาณเพียงพอเพื่อใช้ในขั้นตอนการปรับแต่งสร้างคันดินขอบสระต่อไป

การปรับระดับ และบดอัดดินก้นสระ

ปรับเกลี่ยก้นสระให้เรียบเสมอกัน และอัดดินก้นสระให้แน่นทั่วทั้งสระ เพื่อช่วยลดการรั่วซึมของน้ำ จะเริ่มด้วยการทำทางลาดเพื่อให้รถขุดสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงก้นสระได้และใช้บุ้งกี๋พยุงตัวรถในขณะขึ้นลง ทำการใช้บุ้งกี๋เกลี่ยก้นสระ และใช้ล้อตีนตะขาบวิ่งบดอัดจนทั่วทั้งสระ

การแต่งขอบสระ และถมคันดินสร้างคันดินขอบสระ

ในขั้นตอนการแต่งลาดขอบสระ และทำคันดินรอบสระนี้จะทำการปรับลาดขอบสระตามที่ได้ออกแบบไว้ โดยความลาดเอียงจะมีอัตราส่วน 1:2 หรือ 1:3 ของแนวตั้งต่อลาดขอบสระ ตามลักษณะของดิน และความสามารถในการยึดเกาะของดินในบริเวณสระ และทำการอัดแน่นตลอดแนวลาดขอบสระ ทำการแต่งและบดอัดคันดินรอบสระจนเรียบร้อย หากสระมีขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไร่ และความลึกไม่เกิน 3.5 เมตร นิยมทำลาดขอบสระให้มีความลาดเอียง 45 องศา เนื่องจากเพียงพอต่อการป้องกันการพังทลายของขอบสระ และไม่ทำให้เสียพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ

การทำทางน้ำเข้า-ออก

ขุดวางท่อสำหรับทางน้ำเข้า และออกจากสระ โดยการขุดสระที่ดีควรขุดบ่อดักตะกอนก่อนน้ำเข้าสระโดยเป็นบ่อขนาดเล็กที่อยู่บริเวณรับน้ำก่อนท่อทางน้ำเข้าสระ เพื่อชะลอการตื้นเขินจากตะกอนที่พัดพามากับน้ำช่วงน้ำหลาก การวางท่อน้ำเข้าสระต้องมีความยาวจนพ้นระยะลาดเอียงขอบสระเพื่อป้องกันการกัดเซาะ และอยู่ในส่วนด้านรับน้ำจากพื้นที่ทั้งหมด การวางท่อน้ำออกจากสระ ควรวางไว้บริเวณที่ต่ำสุดของสระ และเป็นพื้นที่ที่ปล่อยน้ำออกไปแล้วส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกน้อยที่สุด โดยท่อที่ฝังเป็นทางน้ำเข้าและออกควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 4 นิ้ว หรือหากสระมีขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าสระมากควรพิจารณาเลือกใช้เป็นท่อคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 – 1.5 เมตร

การป้องกันการกัดเซาะพังทลาย

บริเวณคันสระต้องปลูกหญ้าเพื่อป้องกันการกัดเซาะ พังทลายของดิน โดยชนิดหญ้าที่ใช้ปลูกเป็นหญ้านท้องถิ่นที่มีความทนทาน และปกคลุมดินได้ดี บริเวณขอบสระส่วนที่ลาดเอียงให้ทำการปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้รากช่วยในการยึดเกาะดิน หากสภาพพื้นที่มีลมพัดแรงควรปลูกพืชกันลม เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำในสระ เช่น กล้วย ไผ่กอเล็ก เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์การเรียนรู้อีกแห่งที่เราอยากแนะนำก็คือ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว) ซึ่งอยู่ใกล้แค่จังหวัดสุพรรณบุรีนี่เอง ที่เกิดจากความตั้งใจของคุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ที่นี่ได้เปิดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่เกษตรกรทั่วไปรวมถึง
เราจะพาทุกคนร่วมเดินทางไปเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ ณ ไร่รื่นรมย์ ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พื้นที่ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา มีการทำเกษตรอินทรีย์ทั่วพื้นที่ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับชุมชนด้วยความเข้าใจ เติบโตไปกับชุมชน ผ่านการออกแบบพื้นที่ พัฒนาและต่อยอดสินค้าเกษตรต่างๆ มากมาย หัวใจของการทำเกษตร