สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย

สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย หมายถึง สภาพของดินอยู่ในสภาวการณ์ขาดอากาศ (ออกซิเจน) ทำให้รากอ้อยเกิดสภาวการณ์ขาดอากาศเช่นกัน เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้ โดยที่อ้อยแสดงอาการทางใบ คือ ใบอ้อยจะค่อย ๆ มีสีเหลืองซีด ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งอ้อยตาย นอกจากนี้ยังทำให้คุณสมบัติของดินเปลี่ยนแปลงไปในทางลบต่อการเจริญเติบโตของอ้อย เช่น ดินจะมีการอัดตัวแน่นมากขึ้น การชะล้างหน้าดิน การปลดปล่อยธาตุอาหารของดินลดลง ตัวจุลินทรีย์ในดินตาย และอื่น ๆ

สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย

1. สภาวะน้ำท่วมขังยอดอ้อย (น้ำท่วมมิดยอดอ้อย) หมายถึง สภาวะน้ำท่วมขังยอดอ้อยหรือสภาวะอ้อยอยู่ใต้น้ำ ซึ่งสภาวะแบบนี้จะทำให้อ้อยขาดอากาศอย่างรวดเร็ว แล้วจะทำให้อ้อยตายอย่างรวดเร็วเช่นกัน ถือว่ามีระดับความรุนแรง (ความเสียหาย) ของอ้อยอย่างมาก และมากกว่าสภาวะน้ำขังแบบอื่น ๆ แต่ถ้าหากน้ำท่วมขังระยะเวลาสั้น ๆ จะทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต สำหรับสภาวะแบบนี้จะมีผลโดยตรงทางลบต่อผลผลิตอ้อยและการไว้ตอ พื้นที่ลักษณะนี้ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มมาก ๆ (บึง/ หนอง/ แอ่งรับน้ำ) และพื้นที่นาลุ่ม

ระดับความรุนแรง (ความเสียหาย): จะมีความรุนแรงมากจนทำให้อ้อยตายในระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะอ้อยเล็กหรือระยะอ้อยกำลังงอก สำหรับระยะเวลาน้ำท่วมขังยอดอ้อยที่ทำให้อ้อยตายที่ 50 % คือ ระยะเวลาน้ำท่วมขังยอดอ้อยที่ 2, 3 และ 5 วัน ของระยะอ้อยงอก ระยะอ้อยแตกกอ และระยะอ้อยย่างปล้อง

การบริหารจัดการ: หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่แอ่งกระทะ และมีการวางแผนการระบายน้ำอย่างดี แต่ถ้าหากต้องการปลูกอ้อยในบริเวณดังกล่าว จะต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำทุกด้าน เพื่อกั้นน้ำเข้าท่วมแปลงและต้องสูบระบายน้ำออกให้ทันด้วย

2. สภาวะน้ำขังบนผิวดิน (น้ำขังโคนอ้อย) หมายถึง สภาวะน้ำขังบริเวณโคนอ้อยจะทำให้อ้อยขาดอากาศ (ออกซิเจน) เช่นกัน แต่มีระดับความรุนแรง (ความเสียหาย) น้อยกว่าอ้อยที่เกิดสภาวะน้ำท่วมขังยอดอ้อย เนื่องจากอ้อยมีรากอากาศที่ช่วยหาอากาศออกซิเจนแทนได้ อ้อยที่อยู่ในสภาวะนี้มักทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเท่านั้น หรืออ้อยมีอัตราอยู่รอดมากขึ้น สำหรับพื้นที่ลักษณะนี้จะเป็นพื้นที่ ที่อยู่สูงกว่าแบบที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ริมแม่น้ำ คลอง ลำธาร และพื้นที่นาดอน

ระดับความรุนแรง (ความเสียหาย): จะมีความสัมพันธ์โดยตรงอย่างใกล้ชิดกับผลผลิตอ้อย หรือความสูญเสียผลผลิตอ้อย (%) อ้อยจะชะงักการเจริญเติบโต เช่น ความสูงของอ้อยขณะน้ำขังที่ 0.3, 1.2 และ 1.5 เมตร ทำให้อ้อยมีผลผลิต 2.72, 14.40 และ 15.36 ตัน/ไร่ หรือสูญเสียผลผลิต 93%, 10% และ 4% ตามลำดับ เพราะสภาวะนี้ทำให้อ้อยมีปริมาณรากน้อยและระบบรากตื้นเท่านั้น เป็นสาเหตุให้ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างมาก การไว้ตอลดลง และอ้อยจะไม่ทนแล้ง

การบริหารจัดการ: หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ที่เป็นทางน้ำไหล (ริมคลอง/ แม่น้ำ) และการปรับพื้นที่เพื่อระบายน้ำ 

3. สภาวะน้ำขังใต้ดิน (ระดับน้ำใต้ผิวดิน) หมายถึง บริเวณพื้นที่ดินไม่ถูกน้ำขังแต่มีสภาวะระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน ที่เรียกว่า “สภาพดินชุ่ม/ ฉ่ำน้ำ” ซึ่งสภาวะแบบนี้จะทำให้รากอ้อยขาดอากาศเช่นกัน ถ้าหากมีระดับน้ำใต้ดินสูง แสดงว่า ระดับน้ำอยู่ใกล้ผิวดินมากทำให้พื้นดินมีอากาศน้อย จะทำให้ปริมาณรากน้อย/ ลดลง ในขณะเดียวกันหากมีระดับน้ำใต้ดินต่ำ แสดงว่า ระดับน้ำอยู่ไกลผิวดินมาก ทำให้พื้นดินมีอากาศมากขึ้น ก็จะทำให้มีปริมาณรากมาก/ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่มีระดับความรุนแรงของอ้อยน้อยกว่าอ้อยที่เกิดสภาวะอื่นๆ ส่วนใหญ่พื้นที่ลักษณะนี้ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานที่ไม่มีน้ำท่วมขัง และที่ชุ่มน้ำ

ระดับความรุนแรง (ความเสียหาย): จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับน้ำใต้ดิน คือ ระดับน้ำใต้ดินใกล้ผิวดินมากเท่าไหร่ จะมีผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตของอ้อยมากเท่านั้น เช่นเดียวกับระยะเวลาน้ำขังแช่ พบว่า ระดับน้ำใต้ดินที่ 0.2, 0.4, 0.6 ,0.8 และ 1.0 เมตร (จากผิวดิน) จะทำให้อ้อยมีผลผลิต 2.2, 5.8, 9.4 และ 13.1 ตัน/ไร่ ตามลำดับ สำหรับระยะเวลาที่ระดับน้ำใต้ดิน 0.5 เมตร นาน 40, 80, 120, 160 และ 200 วัน จะทำให้อ้อยมีผลผลิต 14.9, 12.0, 9.1, 6.1 และ 3.2 ตัน/ไร่ ตามลำดับ สภาวะนี้คล้ายกับแบบที่ 2 แต่ความรุนแรงน้อยกว่า จึงทำให้อ้อยมีปริมาณรากน้อยและระบบรากตื้นเท่านั้น เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างมาก การไว้ตอลดลง และอ้อยจะไม่ทนแล้ง

การบริหารจัดการ: หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และมีการวางแผนการระบายน้ำ คือ การสูบน้ำออก เมื่อระดับน้ำใต้ดินอยู่ต่ำหรือใกล้ผิวดิน และวิธีเขตกรรม เช่น การพูนโคน การพรวนดิน เป็นต้น

ดังนั้น การปลูกอ้อยควรสำรวจสภาพพื้นที่เพาะปลูกว่าเหมาะสมต่อการปลูกอ้อยหรือไม่ เช่น สภาพหน้าดิน สภาพน้ำในดิน และการปรับระดับพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังไม่ว่าน้ำจะสูงระดับใด เป็นต้น ดังนั้นหากน้ำท่วมขังจะทำให้อ้อยขาดอากาศ ส่งผลต่อผลผลิต และอ้อยจะเน่าตายในที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

พืชทุกชนิดมีความต้องการธาตุอาหารในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งธาตุอาหารพืช ที่จำเป็น ประกอบด้วย 17 ธาตุ แบบออกเป็น 3 กลุ่ม ยกเว้น คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ได้จากการให้น้ำและอากาศ และธาตุอาหารรอง จุลธาตุส่วนใหญ่มีอยู่ในดินในระดับหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 1. กลุ่มธาตุอาหารหลัก
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น พวก Monoecious Plant คือมีทั้งช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกตัวเมีย อยู่ในต้นเดียวกัน แต่ช่วงเวลาการออกดอกไม่พร้อมกัน ช่อดอกตัวผู้ มีช่อดอกย่อยเป็นช่อยาวทรงกระบอก สีเหลืองจำนวนมาก ลักษณะคล้ายนิ้วมือและแต่ละดอกจะมีเกสรตัวผู้ปกติและมีเกสรตัวเมียเป็นหมัน ส่วนช่อดอกตัวเมียมีลักษณะของดอก
ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรประสบปัญหาสารเคมีมีตกค้างจากการใช้สารเคมีในกำจัดวัชพืช ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพต่อผู้ปลูกรวมถึงผู้บริโภค แต่เกษตรกรหัวก้าวหน้าท่านนี้มีนามว่า นายเสน่ห์ พันธ์ภูมิ อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 146 ม.1 ต.ศรีวิลัย อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ได้รับเลือกให้เป็นปราชญ์พร