วิธีการไถเตรียมพื้นที่เพาะปลูก

มันสำปะหลังเป็นพืชหัว ส่วนของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวคือ ส่วนของหัวที่เกิดจากการขยายใหญ่ของราก ดังนั้น การเตรียมดินที่ดีโดยการไถให้ลึก และพรวนดินให้ร่วนซุย นอกจากจะช่วยทำลายวัชพืชในแปลงปลูกเดิมให้หมดสิ้นแล้ว ยังช่วยให้ดินมีการระบายน้ำได้ดี และมีผลทำให้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลูกสัมผัสกับดินได้มาก ความงอกดี จำนวนต้นอยู่รอดสูง มันสำปะหลังจะสามารถลงหัวได้ดี ผลผลิตที่จะได้จะสูงขึ้นด้วย

วิธีการไถให้ไถดะโดยใช้ผาน 3 ครั้งแรก ในช่วงที่ดินมีความชื้นพอเหมาะและไถกลบวัชพืช ซากพืช เช่น ใบ ต้นของมันสำปะหลังที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวลงไปในดิน เพื่อให้ธาตุอาหารที่มีอยู่ในเศษเหลือดังกล่าวกลับคืนสู่ดิน เป็นวิธีการที่เหมาะสมและเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปฏิบัติโดยปกติหลังจากการขุดเก็บเกี่ยว ควรเริ่มไถด้วยผาล 3 ก่อน แล้วทิ้งไว้ 7-14 วัน เพื่อเก็บความชื้นและปล่อยให้ซากจากมันสำปะหลังและวัชพืชเน่าสลาย เมื่อพร้อมที่จะปลูกจึงไถแปรด้วยจานพรวนหรือผาล 7 ในกรณีที่เป็นดินร่วนเหนียว แต่ถ้าเป็นดินร่วนทราย ก็ไม่จำเป็นต้องไถแปร ห้ามไถดะครั้งแรกด้วยผาล 7 เพราะจะไถได้ไม่ลึก การไถดะให้ลึกจะเพิ่มความสามารถในการเก็บกักความชื้นของดินได้มากขึ้น และมันสำปะหลังลงหัวง่าย

สำหรับการปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นฤดูฝน ควรทำการยกร่องแล้วปลูกบนสันร่องจะดีกว่า ซึ่งมีข้อดีคือ ในกรณีที่ฝนตกชุก น้ำสามารถระบายไปตามร่องได้ ท่อนพันธุ์ที่ปลูกจะไม่ถูกพัดพาโดยการไหลผ่านของน้ำได้ง่าย การปลูกจะทำได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการปลูกแบบขึงเชือก(ปลูกบนพื้นราบไม่มีการยกร่อง) การใส่ปุ๋ยกลางร่อง ทำให้พืชได้รับสารอาหารได้เต็มที่ การกำจัดวัชพืชในช่วงที่มันสำปะหลังโตแล้วก็จะทำได้สะดวก นอกจากนี้ ถ้าพื้นที่ปลูกมีความลาดเท การไถพรวนและยกร่องปลูกขวางแนวลาดเทก็มีความจำเป็น เพราะจะช่วยป้องกันการพังทลายของดินจากการไหลของน้ำได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การยกร่องปลูกจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (เพิ่มต้นทุนการผลิต) แต่อาจชดเชยได้ด้วยการจ่ายค่าแรงปลูกและค่าแรงขุดเก็บเกี่ยวที่น้อยลง เนื่องจากการปฏิบัติในแปลงสามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ถ้าดินในพื้นที่ปลูกเป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียด การยกร่องปลูกจะทำให้การระบายน้ำในแปลงดีขึ้น และต้นมันสำปะหลังไม่ถูกน้ำท่วมขังจนทำให้เกิดความเสียหาย

     สำหรับการปลูกมันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูฝน การไถครั้งแรกด้วยผาล 3 ในขณะที่ดินมีความชื้น เช่น หลังฝนตก และรถแทรกเตอร์สามารถเข้าไถได้ จะเป็นการไถที่ช่วยตัดเก็บความชื้นไว้ในดินได้เป็นอย่างดี เมื่อพร้อมปลูกจึงไถแปรดินด้วยจานพรวน หรือผาล 7 อีกครั้ง หลังจากนั้นก็สามารถปลูกได้โดยวิธีขึงเชือก โดยปลูกบนพื้นราบไม่มีการยกร่องสำหรับพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังมานาน ชั้นลึกลงไปของดินที่ปลูกอาจเกิดเป็นชั้นของดินดาน หรือในดินบางชุดชั้นลึกลงไปเป็นดินแน่นแข็ง การใช้ไถเบรกดินดานหรือไถสิ่ว (sub soiler) ช่วยทุก 2-3 ปี จะทำให้การไถเตรียมดินปลูกทำได้ลึกขึ้น โดยเริ่มจากการไถพรวนปรับหน้าดินก่อนแล้วไถระเบิดดินดาน จากนั้นให้ไถพรวนอีกครั้งเพื่อย่อยดิน ตามด้วยไถหัวหมูเพื่อสร้างหน้าดิน จากนั้นไถยกร่องด้วยรถไถขนาดกลาง ก่อนที่จะปลูกด้วยท่อนพันธุ์ต่อไปการเตรียมดินเพื่อปลูกมันสำปะหลังโดยลดการไถพรวน หรือไม่มีการไถพรวน เพื่อไม่ต้องการรบกวนโครงสร้างดิน เมื่อมีความชื้นเพียงพอก็สามารถปลูกได้โดยไม่ไถพรวน ถ้ามีวัชพืชปกคลุมมากก็ให้ใช้สารกำจัดวัชพืชก่อนปลูก การไถยกร่องอาจไม่จำเป็นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลาดเทของพื้นที่ ซึ่งหากไม่ยกร่องก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีก เท่าที่ผ่านมาได้มีรายงานการศึกษาบ้าง ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเตรียมดินโดยไม่ไถพรวนมีความเหมาะสมเพียงใด และการทดลองในดินที่มีเนื้อดิน (ชุดดิน) ที่แตกต่างกัน ผลการศึกษาก็จะแตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม การลดการไถพรวน หรือไม่มีการไถพรวน จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการไถลดลงและเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อม ลดการชะล้าง ลดการพังทลายของดินได้

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

การปลูกข้าวด้วยการทำนาดำเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า สามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรสามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำนาดำโดยเฉพาะ ช่วยให้ทำงานได้อย่างสะดวกสบาย งานเสร็จไว รวดเร็วทันใจ พร้อมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนได้
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ วิธีการเพาะปลูกสุดสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกแบบเดิมที่ใช้ดิน สู่รูปแบบใหม่ที่ใช้น้ำซึ่ง ดีกว่า ล้ำกว่า คุ้มกว่า ตอบโจทย์การเกษตรในทุกมิติ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คืออะไร ต่างจากเดิมแค่ไหน ? KAS จะมาบอกให้
ทำไม ? ต้องเก็บพันธุ์พืชท้องถิ่น ในยุคสมัยปัจจุบันที่การแก่งแย่งแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การผลิตอาหารป้อนให้ทันความต้องการถือเป็นประเด็นสำคัญ การมุ่งปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากๆ ทำให้เกิดพันธุ์พืชลูกผสมมากมายหลายสายพันธุ์ เมื่อเกิดการปรับปรุงไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดฐานพันธุกรรมพืช