อนุรักษ์พันธุกรรมพืช ภูมิปัญญาบรรพชนของคนชาวลั๊ว

ทำไม ? ต้องเก็บพันธุ์พืชท้องถิ่น

ในยุคสมัยปัจจุบันที่การแก่งแย่งแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ การผลิตอาหารป้อนให้ทันความต้องการถือเป็นประเด็นสำคัญ การมุ่งปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากๆ ทำให้เกิดพันธุ์พืชลูกผสมมากมายหลายสายพันธุ์ เมื่อเกิดการปรับปรุงไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดฐานพันธุกรรมพืชที่แคบลง และหากเกิดสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง โรคและแมลงระบาดหนัก พืชเหล่านี้จะไม่สามารถปรับตัวได้เนื่องจากขาดความสามารถจากพันธุกรรมป่า หรือที่เรียกทั่วไปว่าความหลากหลายทางพันธุกรรม “เกิดจากต้นตอเดียวกัน โดนโรคเหมือกัน ก็ตายพร้อมกัน” หากเรามุ่งไปในทางนี้ความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกก็สั่นคลอน 

ในอีกประเด็นคือ พันธุ์พืชพื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน มีคุณประโยชน์คนละด้าน ซึ่งในปัจจุบันอาจยังไม่มีใครศึกษาวิจัย หากไม่มีการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ไว้ คุณประโยชน์ที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ก็จะสาบสูญไปก่อนที่เราจะได้ค้นพบ โดยตัวอย่างของพันธุ์พืชพื้นเมืองที่เราพบในปัจุบันก็ได้แก่ ความทนต่อโรคแมลงได้ดี ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีเพราะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์มาก เช่น สารแอนโทไซยานิน ในข้าวสีนิล ที่ช่วยต่อต้านมะเร็งได้ เป็นต้น

พืชที่ขายเมล็ดพันธุ์ในปัจจุบันคือการนำข้อดีของพันธุ์พื้นเมืองหลายๆ พันธุ์มาผสมเข้าด้วยกัน ถ้าพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมหมดไป พันธุ์ใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น อาจจะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เข้าใจ เช่น พันธุ์ข้าวปลูกในโลกเรามีมากกว่า 120,000 สายพันธุ์ แค่ในประเทศไทยก็มีไม่น้อยกว่า 3,500 สายพันธุ์ พันธุ์เหล่านี้มีทั้งพันธุ์ดั้งเดิมและพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการผสมมา หากเรามุ่งแต่ปลูกพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงอย่างเดียวพันธุ์ข้าวอื่นๆ จะค่อยๆ สาบสูญไปจาก 3,500 สายพันธุ์ อาจเหลือเพียงแค่ 10 สายพันธุ์ ถ้าเกิดโรคระบาด โอกาสรอดของข้าวก็ลดลง อาหารของมนุษย์ก็จะหมดไป

การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบฉบับชาวเผ่าลั๊วบ้านปางยาง

ชาวบ้านปางยางนั้นส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยพื้นที่สูงเผ่าลั๊ว และเผ่าถิ่นเกือบร้อยละ 95% ที่เหลืออาจเป็นเขยและสะใภ้จากพื้นราบ มีประชากรในหมู่บ้านประมาณ 80 หลังคาเรือน 280 คน โดยอาชีพหลักคือทำไร่ข้าวโพด ข้าวไร่ และพืชพื้นเมืองอื่นๆ เพื่อดำรงชีพเป็นหลัก โดยในปัจจุบันมีการเก็บพันธุ์พืชพื้นเมืองไว้มากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยพันธุ์พืชที่เก็บเป็นหลักได้แก่ข้าวโพดประมาณ 20 สายพันธุ์ และข้าวมากกว่า 50 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่สืบทอดมาหลายสิบปีแล้ว เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันทุกครัวเรือนที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์พืชของตัวเองไว้สำหรับปลูกในฤดูกาลต่อไป ส่วนใครอยากได้พันธุ์ใหม่ที่ตนไม่มีก็ต้องนำพันธุ์พืชที่ตนมีไปแลกกับเพื่อนบ้าน โดยไม่มีการซื้อขายหากำไรแต่อย่างใด

ขั้นตอนวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์แบบฉบับชาวบ้าน

โดยวิธีอนุรักษ์ของชาวบ้านปางยางนั้น จะเริ่มตั้งแต่การแยกพื้นที่ปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ คนละพื้นที่กัน แล้วใช้แรงงานคนคัดพันธุ์โดยสังเกตุจากลักษณะต่างๆ ทั้งภายนอกเช่น เก็บรวงที่สวย ยาว เมล็ดดี ทนต่อสภาพอากาศไว้ และภายในเช่น รสชาติดี หวาน หอม ทานอร่อย เป็นต้น ส่วนในเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์นั้น ชาวลั๊วมีวิธีที่แตกต่างจากที่อื่น โดยเป็นวิธีที่อิงกับวิถีชีวิต กล่าวคือ ชาวลั๊วจะหุงหาอาหารบนบ้าน โดยมีพื้นที่ที่แบ่งเอาไว้เฉพาะเจาะจง เรียกว่า “เรือนไฟ” คือจะประกอบด้วยเตาไว้ปรุงอาหาร และให้ความอบอุ่น ที่วางอยู่บนพื้นไม้กระดานแต่หนุนรองด้วยขี้เถ้าเพื่อป้องกันไฟไหม้บ้าน ส่วนเหนือขึ้นไปจากเตาก็จะมีไม้ไผ่วางพาดไว้ สำหรับถนอมอาหารโดยอาศัยไอร้อนจากเตาไฟ และเหนือขึ้นไปอีกชั้นสูงจากเตาประมาณ 1.5 เมตร จะเป็นราวไม้สำหรับเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้พ้นจากมดแมลง อาศัยความร้อนอุ่นๆ และแห้งจากเตาไฟ ช่วยในการรักษาไม่ให้เมล็ดพันธุ์เกิดความชื้นอันจะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อราได้ การกระจายพันธุกรรม ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพราะหากเราเก็บพันธุ์ไว้คนเดียวก็มีโอกาสสูงที่สายพันธุ์อาจสาบสูญไปได้ แต่ชาวลั๊วมีวิธีการที่น่ารักและได้ประโยชน์มาก คือพันธุ์พืชจะไม่มีการซื้อขายกัน แต่จะใช้วีธีการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชกันแทน ถ้าเห็นคนอื่นมีพันธุ์พืชที่ดี และตนสนใจก็จะเอาพันธุ์พืชของตนไปแลก ทำให้เกิดการกระจายช่วยกันอนุรักษ์รักษาพันธุ์พืชไว้ และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กันในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งในปัจจุบันทุกครัวเรือนก็จะยังคงรักษาวิธีการดั้งเดิมไว้ เพียงแต่มีวิธีการอื่นๆ ที่เป็นเทคนิคใหม่ๆ ทางวิชาการเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เมล็ดบางส่วนก็ได้มีการจำแนกแยกสายพันธุ์ระบุชื่อที่ชัดเจน รวบรวมเก็บรักษาไว้ด้วย เพื่อให้ง่ายแก่การที่ลูกหลายรุ่นต่อไป ที่จะมาสานต่อวิธีการและพันธุกรรมพืชของบรรพชนไว้

จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านปางยาง ก็ได้ข้อมูลว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้นั้นนอกจากเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมไว้แล้ว ยังเป็นการลดการบุกรุกพื้นที่ป่าด้วย เพราะเมื่อก่อนชาวไทยภูเขาจะต้องบุกป่าใหม่เพื่อเพาะปลูกพืช เพื่อหลีกเลี่ยงโรคและแมลงที่จะระบาดจากการปลูกพืชพันธุ์เดิมๆ ซ้ำกันหลายครั้งในพื้นที่เดียวกัน แต่ปัจจุบัน เมื่อเก็บอนุรักษ์พันธุ์พืชไว้ได้จำนวนมากก็สามารถนำพันธุ์พืชมาปลูกสลับกันในพื้นที่เดิมได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายบุกรุกป่าผืนอื่นๆ อีก และโรคแมลงก็จะไม่ระบาด อีกทั้งยังไม่ต้องใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีอีกด้วย เพราะพืชแต่ละพันธุ์ต้องการอาหารไม่เหมือนกันจึงไม่แก่งแย่งกันเอง “การอนุรักษ์พันธุ์พืชจึงไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อคน” 

หากเราเก็บรักษาพันธุ์พืชเอาไว้ให้หลากหลายสายพันธุ์ ก็เท่ากับเราสร้างหลักประกัน
ว่ายุ้งฉากเราจะไม่มีทางว่างเปล่า ปากท้องของคนในครอบครัวเราจะไม่มีวันอดอยาก 

** พี่สมหมาย พนะสัน **

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคกลาง 6. ชุดดินกำแพงแสน (Kamphaeng Saen series : Ks) กลุ่มชุดดินที่ 33 การกำเนิด : เกิดจากตะกอนน้ำพามาทับถมอยู่บนเนินตะกอนรูปพัด สภาพพื้นที่ : ค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความลาดชัน 1-5 % การระบายน้ำ : ดี การซึมผ่านได้ของน้ำ : ปานกลาง
เกิดจากเชื้อรา Phoeoramularia manihotis (Cercospora caribaea) พบได้ทั้งในทวีป เอเชีย อเมริกาเหนือ อัฟริกา และลาตินอเมริกา สามารถพบได้ในเขตปลูกมันสำปะหลังที่ชื้นและเย็น