การเตรียมดิน

การทำนาดำเป็นวิธีการทำนาที่มีการนำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลงที่เตรียมไว้ (แปลงกล้า) ให้งอกเป็นต้นกล้า แล้วถอนต้นกล้าไปปักดำในกระทงนาที่เตรียมไว้ และมีการดูแลรักษาจนให้ผลผลิต การทำนาดำนิยมในพื้นที่ที่มีแรงงานเพียงพอ

การเตรียมดินสำหรับการทำนาดำ ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เช่น น้ำ ภูมิอากาศ ลักษณะพื้นที่ ตลอดจนแบบวิธีการทำนา และเครื่องมือการเตรียมดินที่แตกต่างกัน การเตรียมดินแยกได้เป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

การไถดะ

“การไถดะ” เป็นการไถครั้งแรกตามแนวยาวของพื้นที่นา การไถดะจะช่วยพลิกดินเพื่อให้ดินชั้นล่างได้ขึ้นมาสัมผัสอากาศรับออกซิเจน และเป็นการตากดินเพื่อทำลายวัชพืช โรคพืชบางชนิด การไถดะในบางพื้นที่จะไถหลังฝนตกเมื่อดินเกิดความชุ่มชื่น บางพื้นที่ใช้การวิดน้ำเข้านาแทน การปล่อยน้ำเข้านานั้นต้องดูที่สภาพดินด้วยว่า ควรปล่อยน้ำมากน้อยเพียงไร การปล่อยน้ำเข้านาเพื่อทำให้ดินนิ่มขึ้น จะได้ไถนาได้ง่ายขึ้น หลังจากไถดะจะตากดินเอาไว้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้วัชพืชงอกที่ติดค้างอยู่ในดินนาเกิดการงอกแล้วจึงทำลายในกระบวนการถัดไป

การไถแปร

“การไถแปร” (ใช้ขลุบหมุน) เป็นการไถครั้งที่สอง ทำหลังจากทำการไถดะ และตากดินไว้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์แล้ว จึงทำการการไถแปร โดยการไถในครั้งนี้จะช่วยพลิกเอาดินที่กลบไว้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำลายวัชพืชที่ขึ้นใหม่และเป็นการย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง จำนวนครั้งในการ  ไถแปรขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัชพืช ลักษณะดิน และระดับน้ำ

การไถคราด

“การไถคราด” เป็นการกำจัดวัชพืช ตลอดจนการทำให้ดินแตกตัว และเป็นเทือกพร้อมที่จะปักดำได้ ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นที่ทำต่อจาก ขั้นที่ 1 และขังน้ำไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้มีสภาพดินที่เหมาะสมในการคราด หรือการใช้ลูกทูบในบางพื้นที่อาจมีการใช้โรตารี ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัว ควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า ควายเหล็กหรือไถยนต์เดินตามทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำนั้นได้มีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็กๆ คันนามีไว้สำหรับกักเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา นาดำจึงมีการบังคับน้ำในนาได้บ้างพอสมควร ก่อนที่จะทำการไถจะต้องรอให้ดินมีความชื้นพอที่จะไถได้เสียก่อน ปกติจะต้องรอให้ฝนตกจนมีน้ำขังในผืนนาหรือไขน้ำเข้าไปในนาเพื่อทำให้ดินเปียก

หมายเหตุ : ในบางพื้นที่การไถแปร และการคราด จะอยู่ในขั้นตอนเดียวกัน แถวบ้านผมเรียกว่าการตีดินและทำเทือก ซึ่งจะสามารถทำเองได้ถ้าเรามีเครื่องมือ

ข้อควรระวังในการเตรียมดิน

1.ควรปล่อยให้ดินนามีโอกาสแห้งสนิท เป็นระยะเวลานานพอสมควร และถ้าสามารถไถพลิกดินล่างขึ้นมาตากให้แห้งได้ก็จะดียิ่งขึ้น ถ้าดินเปียกน้ำติดต่อกันโดยไม่มีโอกาสแห้ง จะเกิดการสะสมของสารพิษ เช่น แก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) และกรดอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งถ้าสารเหล่านี้มีปริมาณมากก็จะเป็นอันตรายต่อรากข้าวได้

2. ควรมีการหมักฟาง หญ้ารวมทั้งอินทรียวัตถุเพื่อให้สลายตัวสมบูรณ์ ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังการไถเตรียมดิน เพื่อให้ดินปรับตัวอยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว และสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นออกมาให้แก่ต้นข้าว

3. ดินกรดจัดหรือดินเปรี้ยวจัด มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำ (pH ต่ำกว่า 4.0) ควรขังน้ำไว้อย่างน้อย 1 เดือนก่อนปักดำข้าว เพื่อให้ปฏิกิริยาต่าง ๆ ตลอดจนความเป็นกรดของดินลดลงสู่สภาวะปกติ และค่อนข้างเป็นกลางเสียก่อน ดินกลุ่มนี้ถ้ามีการขังน้ำตลอดปี หรือมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง ก็จะเป็นการลดสภาวะความเป็นกรดของดิน และการเกิดสารพิษลงได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของข้าวสูงขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคใบจุดจากเชื้อเฮลมินโธสปอเรี่ยม (Northern Leaf Spot หรือ Helminthosporium Leaf Spot) ลักษณะอาการ พบอาการตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบธง แผลเป็นจุดค่อนข้างกลมสีเหลือง หรือน้ำตาลขนาดเล็ก มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ขนาดความกว้างยาวของแผลอยู่ระหว่าง 0.5 – 4.0 x 0.5 – 40.0 มม. เมื่อความชื้นสูงแผลขยายใหญ่
“แผ่นเทียบสีใบข้าว” คือ อุปกรณ์วัดสีของใบข้าว โดยแผ่นดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกคุณภาพพิเศษ ประกอบด้วยแถบสีระดับต่าง ๆ 4-6 แถบ มีร่องเล็ก ๆเลียนแบบลักษณะของใบข้าว ซึ่งระดับสีบนแผ่นเทียบจะจำลองจากสีของใบข้าว หลังจากการใส่ปุ๋ยเคมี ประกอบด้วยสีเขียวเข้ม จางลงตามลำดับ