การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery pool model)

การทำเกษตรกรรมในยุคปัจจุบัน เกษตรกรยุคใหม่จำเป็นต้องหันมาใช้ระบบการรวมกลุ่ม เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาแนวทางการทำเกษตรของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต  เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง” (เกษตรทิพย์) ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มกันทำการเกษตร จึงได้รวมกลุ่มกันผลิตข้าวอินทรีย์และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้สอดคล้องกับการดำเนินงานของสยามคูโบต้าที่มุ่งพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมสนับสนุนชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้โครงการ “ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” ที่ต้องการพัฒนาชุมชนเกษตรเข้มแข็งต้นแบบอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรด้วย KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร หรือ KAS ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรภายในกลุ่ม ควบคู่ไปกับการจัดการระบบเกษตรกรรมในขั้นตอนต่างๆ เช่น การเตรียมดิน การทำนาดำหรือนาหยอด และการทำเกษตรปลอดการเผา เป็นต้น

ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีจำนวนสมาชิก 1,254 คน มีพื้นที่การเพาะปลูกกว่า 21,000 ไร่ และด้วยองค์ความรู้ KAS ที่สยามคูโบต้าได้ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ทำให้ชาวบ้านบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรในแต่ละขั้นตอนของการปลูกข้าวอินทรีย์ได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในขั้นตอนการเตรียมดิน  เกษตรกรจะใช้แทรกเตอร์ต่อพ่วงกับอุปกรณ์เตรียมดินได้หลากหลาย เพราะมีการทำนาแห้งและนาน้ำตม จากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนการเพาะปลูกได้ใช้รถดำนาและเครื่องหยอดแทนการทำนาหว่าน ทำให้ต้นข้าวมีระยะห่างระหว่างกอที่เหมาะสม ลดค่าใช้จ่ายเมล็ดพันธุ์และแรงงานคนในการปลูก นอกจากนี้ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ทางกลุ่มฯ ได้ใช้รถเกี่ยวนวดข้าว ทำให้เก็บเกี่ยวได้ทันเวลา ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงความต้องการของตลาด หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ได้ใช้เครื่องอัดฟาง เพื่อลดการเผาไหม้ฟางและลดมลพิษภายในชุมชน *ซึ่งผลลัพธ์จากการปลูกข้าวด้วยวิธีใช้รถดำนา พบว่า ได้ผลผลิต 540 กก./ไร่ และได้กำไร 4,442 บาท/ไร่ ส่วนวิธีหยอดแห้ง ได้ผลผลิต 530 กก./ไร่ และได้กำไร 4,606 บาท/ไร่

ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ มีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ซื้อในนามกลุ่มฯ ได้แก่

1. แทรกเตอร์ รุ่น L4708 1 คัน

2. รถดำนาเดินตาม 6 แถว 1 คัน

3. รถเกี่ยวนวดข้าว 2 คัน รุ่นDC95 และ DC105

4. เครื่องอัดฟาง 1 เครื่อง

โดยมีแนวทางในการจัดสรรให้เกษตรกรได้ใช้งานร่วมกัน ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานเครื่องจักรกลการเกษตรขึ้นมา ทำการสำรวจความต้องการและอธิบายเงื่อนไขการให้บริการต่างๆ เช่น ลักษณะพื้นที่ วิธีการทำนา และราคาการให้บริการที่เป็นธรรม หลังจากนั้นจะทำแผนออกให้บริการแก่สมาชิก นอกจากนี้ ทีมงานสยามคูโบต้ายังได้จัดอบรมการใช้งานและดูแลรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรเบื้องต้นให้แก่สมาชิกอีกด้วย

หลังจากที่เกษตรรวมกลุ่มกันใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ส่งผลให้ทางกลุ่มฯ  มีเครื่องจักรกลการเกษตรในการทำนาอย่างครบวงจร และมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่คุ้มทุนและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรแก่สมาชิกได้อย่างทั่วถึงและทันต่อช่วงเวลาการเพาะปลูกในทุกๆ ช่วง ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง เป็นชุมชนเกษตรต้นแบบแห่งที่ 2 ที่สยามคูโบต้า จัดตั้งขึ้น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้แก่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเองให้ประสบความสำเร็จต่อไป

*หมายเหตุ : ตัวเลขทั้งหมดได้จากการเก็บข้อมูลของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ในปี 2559 โดยผลการทดสอบอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ  การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

การส่งเสริมให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการทำเกษตรกรรม ควบคู่ไปกับการเลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างเหมาะสม เป็นสิ่งที่สยามคูโบต้าได้ดำเนินงานมาโดยตลอด เพราะนอกจากจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้แล้ว ยังช่วยให้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
แม้ว่าการปลูกข้าวโพดหวานสามารถทำได้ตลอดปีถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอ อย่างไรก็ตามผลผลิตและคุณภาพข้าวโพดหวานอาจจะแตกต่างไปตามฤดูกาล นอกจากนี้พันธุ์บางพันธุ์อาจตอบสนองต่อฤดูปลูกแตกต่างกัน โดยทั่วไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ จะให้ผลผลิตต่ำกว่าในช่วงอื่น ๆ เนื่องจากอากาศเย็น ขณะที่การปลูกในเดือนเมษายน
ประวัติ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 2 เดิมชื่อรหัส เอ็น เอส เอ็กซ์ 022031 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว อายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-115 วัน เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 1 (พันธุ์แม่) และสายพันธุ์แท้พันธุ์ตากฟ้า 2 (พันธุ์พ่อ) ซึ่งสร้าง