วิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน

การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสัมพันธ์กับความแก่-อ่อน ขนาด รูปร่าง รสชาติ และน้ำหนักของข้าวโพดหวาน ปัจจุบันข้าวโพดหวานแต่ละพันธุ์มีอายุใกล้เคียงกัน คือ จะออกดอกประมาณ 45-50 วันหลังปลูก และเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดหวานมีอายุไม่เกิน 73 วัน

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

เมื่อข้าวโพดหวานพร้อมเก็บส่วนปลายฝักจะยุบตัวได้ง่าย เมื่อใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงเมล็ดภายในจะเต่งมีสีเหลืองอ่อนสดใส โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเมื่อมีอายุ 18-20 วันหลังออกไหม (สำหรับฤดูหนาวจะเก็บช้าไปอีก 3-5 วัน) เพราะเป็นช่วงเวลาที่เมล็ดมีความเต่ง เปลือกเมล็ดไม่หนาเกินไป การเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด จะทำให้ข้าวโพดหวานอ่อนเกินไปและมีน้ำหนักฝักน้อย ในขณะที่การเก็บอายุมากเกินไป ถึงแม้จะได้น้ำหนักฝักมากขึ้น แต่เปลือกเมล็ดจะหนา และข้าวโพดหวานเสียคุณภาพ ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกต้องจดบันทึกวันออกไหมและทำการนับต้นข้าวโพดหวานที่ออกไหม โดยถือว่าวันที่มีจำนวนต้นออกไหมครบ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นวันออกไหม แล้วนำมากำหนดวันเก็บเกี่ยว โดยนับจากวันออกไหม 18-20 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของข้าวโพดหวาน นอกจากนี้สามารถสังเกตได้โดยดูว่าไหมมีสีน้ำตาลเข้มหรือยัง การใช้พันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสม ซึ่งมีช่วงการออกดอกสม่ำเสมอ ทำให้เกษตรกรสามรถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เสร็จสิ้นภายใน 1-2 วัน เมื่อถึงอายุเหมาะสม

วิธีการเก็บเกี่ยว

ทำการปลิดฝักสดออกจากต้นไม่ต้องปอกเปลือก การเก็บรักษาข้าวโพดหวานในอุณหภูมิห้อง ถ้าเก็บไว้โดยไม่ปอกเปลือกจะยังคงสภาพความสดไว้ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเก็บในสภาพที่ปอกเปลือกแล้ว ความสดของข้าวโพดหวานจะลดลงตามอายุของข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานแล้ว ควรส่งถึงผู้บริโภคหรือโรงงานโดยเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ในกรณีเก็บเพื่อส่งตลาด ควรตัดให้มีส่วนของลำต้นติดโคนฝักประมาณ 20 เซนติเมตร จะช่วยยืดความสดและความหวานได้อีกประมาณ 24 ชั่วโมง รวมเป็น 48 ชั่วโมง และควรเก็บฝักข้าวโพดหวานไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรงและไม่กองสุมกัน

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน

1. หลังเก็บเกี่ยวแล้วให้รีบนำฝักข้าวโพดหวานเข้าเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง การเก็บข้าวโพดหวานไว้ในสภาพอุณหภูมิต่ำ จะทำให้คุณภาพของข้าวโพดหวานคงสภาพไว้ได้นานขึ้น

2. สถานที่เก็บชั่วคราว ควรมีการถ่ายเทอากาศดี ห่างไกลจากสารเคมี ปุ๋ย และมูลสัตว์

3. ไม่กองสุมฝักข้าวโพดหวานสูงเกินไป

4. ภาชนะที่ใช้บรรจุฝักข้าวโพดหวาน หากจำเป็นต้องใช้กระสอบบรรจุเพื่อขนส่ง กระสอบต้องผ่านการล้างทำความสะอาด ปากกระสอบตัดแต่งให้เรียบร้อยก่อนใช้บรรจุข้าวโพดหวาน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแต่ละฤดู นอกจากจะเกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืช ในเมล็ดที่เคลื่อนย้ายออกไปจากนาแล้ว หากมีการเผาหรือนำฟางไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน จะทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืชในดินมากยิ่งขึ้น ดินจะมีธาตุอาหารพืชลดลง และเกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร ส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อ
การไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มผลผลิตข้าว ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ ได้ผลผลิตข้าว 24 ล้านตัน มีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 16.9 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจึงนับได้ว่ามีปริมาณฟางข้าว และตอซังข้าวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับตอซัง
โรคพืช ตัวการทำลายพืชผล หนึ่งในปัญหาสำคัญของเกษตรกร หากไม่สามารถยับยั้งได้จะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง สร้างความสูญเสียมหาศาลต่อพืชผลและเกษตรกร ดังนั้นวันนี้ KAS จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรคพืช เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ป้องกันโรคพืชได้อย่างเหมาะสม จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย