ทางเลือกการปลูกพืชแซมยาง พืชร่วมยาง และกิจกรรมเสริมรายได้ของชาวสวน

สำหรับคำแนะนำในการปลูกพืชแซมยาง พืชร่วมยาง และกิจกรรมเสริมรายได้ ของชาวสวนยาง เกษตรกรจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของชนิดพืชโดยเฉพาะในประเด็นของการเจริญเติบโตในสภาพร่มเงา ตลอดจนวิธีการปลูกพืชร่วมกับยางโดยไม่ให้มีผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายกับการเจริญเติบโตของยาง ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยพบว่ามีชนิดพืชที่เหมาะสมหลายชนิด โดยสรุปมีดังนี้

1 การปลูกพืชแซมยาง

               พืชแซมยางในระยะก่อนยางให้ผลผลิต คือ ในช่วง 3 ปี แรก สามารถปลูกพืชแซมยางได้หลายชนิด ได้แก่

1.1 พืชล้มลุกและเป็นพืชอายุสั้น เช่น สับปะรด ข้าวโพด ข้าวไร่ ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วหรั่งถั่วเหลือง แตงโม และ พืชผักต่างๆ เป็นต้น โดยพืชเหล่านี้ควรปลูกห่างแถวยางประมาณ 1 เมตร

1.2 กล้วย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง และมะละกอ ควรปลูกแถวเดียวบริเวณกึ่งกลางระหว่างแถวยาง

1.3 หญ้าอาหารสัตว์ เช่น หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง หญ้าขน ควรปลูกห่างแถวยางประมาณ 1.5 – 2เมตร หญ้าอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆจะไม่แนะนำให้ปลูกแซมยางเพราะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง

1.4 มันสำปะหลัง ควรปลูกในปีที่ 2 หรือปีที่ 3 โดยปลูกห่างแถวยางด้านละ 2 เมตร และ ไถตัดรากมันสำปะหลังปีละครั้ง ห่างจากแถวมันสำปะหลัง 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันระบบรากมันสำปะหลังเข้ามาอยู่ในแถวของต้นยาง

1.5 อ้อยคั้นน้ำ ควรปลูกระหว่างแถวยาง ให้ห่างแถวยาง 2.2 เมตร ปลูกครั้งเดียวไว้ตอ 2 ครั้ง เก็บเกี่ยว 3 ครั้ง ในเวลา 3 ปี ไม่แนะนำให้ปลูกอ้อยอุตสาหกรรมแซมยางในเขตแห้งแล้งและในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาด้านไฟไหม้ตามมา

2. การปลูกพืชร่วมยาง

               พืชร่วมยาง คือพืชที่ปลูกเพื่อให้ผลผลิตพร้อมๆกับยาง ซึ่งจะเป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงา มีดังนี้

2.1 พืชร่วมยางที่สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของยาง เมื่อต้นยางมีอายุ 3 ปีขึ้นไป เช่น ขิงข่า ขมิ้น ผักพื้นบ้าน และพืชสมุนไพรบางชนิด โดยปลูกระหว่างแถว ห่างแถวยาง 1.5 เมตร

2.2 พืชร่วมยางที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยาง เมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งมีแสงรำไรเพียงพอและมีฝนตกชุก จะเหมาะสมต่อการปลูกไม้ดอกสกุลหน้าวัว ไม้ดอกวงศ์ขิง เช่น ขิงแดง ดาหลา หงส์เหิน กระเจียวพังงา กระเจียวส้ม และบัว ไม้ดอกสกุลเฮลิโกเนีย และไม้ประดับบางชนิดโดยปลูกระหว่างแถวยาง ห่างแถวยาง 1.5-1.7 เมตร

2.3 พืชร่วมยางที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้แก่ พืชสกุลระกำ เช่น ระกำ หวาน สละเนินวง สละหม้อ หวายตะค้าทอง กระวาน โดยปลูกกึ่งกลางแถวยาง สำหรับหวายตะค้าทองอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสวนยาง แนะนำให้ปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ก่อนการโค่นยาง

2.4 การปลูกไม้ป่าในสวนยาง มีไม้ป่าบางชนิดที่ทนต่อสภาพร่มเงาของต้นยางขนาดใหญ่ โดยปลูกผสมผสานกึ่งกลางระหว่างแถวยางและทดแทนการปลูกซ่อมต้นยาง เช่น ในสวนยางทางภาคใต้ ได้แก่กระถินเทพา กระถินณรงค์ สะเดาเทียม ทัง พะยอม มะฮอกกานี เคี่ยม ตะเคียนทอง ยางนา ยมหิน ในสวนยางทางภาคตะวันออก ได้แก่ กระถินเทพา กระถินณรงค์ สะเดาไทย ยมหอมตะเคียนทอง ยมหิน ยางนาแดง และประดู่ป่า และในสวนยางทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่กระถินเทพา กระถินณรงค์ สะเดาไทย ยางนา ตะเคียนทอง ยมหิน พะยูง สาธร และประดู่ป่า

3. การประกอบอาชีพเสริมรายได้อื่นๆของชาวสวนยาง

               อาชีพเสริมอื่นๆที่เหมาะกับชาวสวนยาง เช่น การเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์มในสวนยาง การเลี้ยงผึ้ง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ยางบางส่วนเพื่อปลูกพืชอื่นๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน กล้วย กาแฟและพืชอื่นๆ

               ทั้งนี้การเลือกปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งจะต้องคำนึงถึง การตลาดในพื้นที่ สภาพพื้นที่รอบๆ ระยะเวลาการให้ผลตอบแทน เช่น มีรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี และในแต่ละชุมชนควรมีการรวมกลุ่มผลิตพืชที่มีคุณภาพดี มีเอกลักษณ์และกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

               อย่างไรก็ตามในระยะยาวเกษตรกรชาวสวนยางไม่ควรพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากบทเรียนด้านราคายางที่ตกต่ำหลายๆครั้งที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรควรมีการทบทวนการวางแผนการการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้รวมของครัวเรือนใหม่ โดยให้มีการกระจายรายได้ไปยังกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่มีการพึ่งพารายได้จากยาง พืชแซมพืชร่วมยาง ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ ปศุสัตว์และประมง เป็นต้น ทั้งนี้โดยน้อมนำพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เกิดความพอเพียงและสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อต้องพบกับปัญหาราคายางตกต่ำ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ระบบ Modern Farm เริ่มต้นมาอย่างไร คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า การเตรียมแปลงปลูกนั้นก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี ที่ไร่ด่านช้างได้มีการใช้ระบบเข้ามาควบคุมการทำร่องเพื่อกำหนดขนาดของร่องได้ทันที ที่ไร่ด่านช้างแห่งนี้มีการกำหนดขนาดร่องปลูกเอาไว้ที่ 1.85 เมตร โดยที่ร่องปลูกนั้นจะมี
หลักพิจารณาสภาพพื้นที่ในการสร้างแปลงเพาะกล้ายาง 1. พื้นที่สำหรับสร้างแปลงกล้า – ควรเป็นที่ราบ สามารถระบายน้ำได้ดี อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การคมนาคมสะดวก ดินร่วน ดินที่ไม่เหมาะสมคือ ดินทรายจัด และดินเหนียว เพราะการระบายน้ำไม่ดี 2. การเตรียมดิน – ไถพลิกดิน