ถั่วเขียวพืชไร่หลังนา

ถั่วเขียว  เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 65-70 วัน ใช้น้ำน้อยทนแล้ง นิยมใช้ในระบบปลูกพืช การปลูกถั่วเขียวในระบบปลูกพืช มีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่

  • ตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าว
  • เป็นปุ๋ยพืชสด ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดิน
  • ลดรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชครั้งต่อไป
  • เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตถั่วเขียว

การปลูกถั่วเขียว

1.  พื้นที่ปลูก

  ถั่วเขียวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ค่าความเป็นกรดด่างของดิน 5.5 -7.0 ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ควรมีร่องระบายน้ำ

2.  ฤดูกาล

  ปลูกได้ตลอดทั้งปี ฤดูฝนเริ่มปลูกกลางเดือนเมษายน-พฤษภาคม และปลายสิงหาคม-กันยายน ในฤดูแล้งเริ่มเดือนธันวาคม-มกราคม โดยปลูกได้ทันทีหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแต่ต้องตรวจสอบความชื้นในดินด้วย

3.  สภาพภูมิอากาศ

  อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 25-35 องศาเซลเซียส ควรหลีกเลี่ยงการปลูกในช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เพราะถั่วเขียวจะชะงักการเจริญเติบโต

4.  เมล็ดพันธุ์

  พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 84-1 ชัยนาท 72 กำแพงแสน 2 เป็นต้น เมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 85 เปอร์เซ็นต์

การเตรียมดินและปลูก

 ไถดินให้ลึก 20-30 เซนติเมตร แล้วพรวนดินและปรับดินให้สม่ำเสมอ ตัดร่องเพื่อระบายน้ำในกรณีปลูกแบบไม่ให้น้ำ ต้องอาศัยความชื้นในดินหลังเก็บเกี่ยวข้าว โดยปลูกแบบหว่านในอัตรา 5-6 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนดินกลบ กรณีปลูกเป็นแถว ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างต้น 10 เซนติเมตร จำนวน 2 ต้นต่อหลุม

5.  การใส่ปุ๋ย

 ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านพร้อมการเตรียมดิน

6.  การให้น้ำ

 อย่าให้ถั่วเขียวขาดน้ำช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ผลผลิตลดลง

7.  การป้องกันกำจัดวัชพืช

 วัชพืชใบแคบ พ่นฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล(15% EC) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรหรือควิซาโลฟอบ-พี-เทฟิวริล (6% EC) 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังงอก พ่นคลุมไปบนต้นถั่วเขียวและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก

 วัชพืชใบกว้าง พ่นหลังงอก พ่นโฟมีซาเฟน(25% EC) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คลุมไปบนต้นถั่วเขียวและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก ห้ามเกินอัตราที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเขียว

8.  แมลงศัตรูที่สำคัญ

1)  ระยะต้นกล้า

หนอนแมลงวันเจาะลำต้น ฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง เช่น ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหลังจากถั่วเขียวงอกไม่เกิน 7-10 วัน และพ่นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน

2)  ระยะออกดอกและติดฝัก

เพลี้ยไฟ ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบฟูแรน 20% อีซีหรือโปรธิโอฟอส 50% อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการทำลายใบและดอกในระยะถั่วเขียวเจริญเติบโตจนถึงระยะติดฝักอ่อน พ่น 2-3 ครั้งห่างกัน 7-10 วัน

–  หนอนเจาะฝัก ให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% อีซี (ฮอสตาไธออน 40 อีซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 1-2 ครั้งให้ห่างกัน 10 วัน

9.  โรคที่สำคัญ

–  โรครากและโคนเน่า คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

–  โรคราแป้ง ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น กำแพงแสน 2 หือชัยนาท 36 ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา ได้แก่ เบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อถั่วเขียวอายุ 30 วัน และพ่นซ้ำอีกทุก 10 วัน รวม 3 ครั้ง

10.  การเก็บเกี่ยว

 เก็บเกี่ยว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อถั่วเขียวถั่วเขียวมีฝักแก่ 80 เปอร์เซ็นต์ และครั้งที่ 2 หลังจากการเก็บเกี่ยวครั้งแรกประมาณ 14 วัน วิธีการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวที่เหมาะสมสำหรับทำเมล็ดพันธุ์ คือ ใช้มือปลิดฝักแก่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำ

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคใบจุดจากเชื้อเฮลมินโธสปอเรี่ยม (Northern Leaf Spot หรือ Helminthosporium Leaf Spot) ลักษณะอาการ พบอาการตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบธง แผลเป็นจุดค่อนข้างกลมสีเหลือง หรือน้ำตาลขนาดเล็ก มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ขนาดความกว้างยาวของแผลอยู่ระหว่าง 0.5 – 4.0 x 0.5 – 40.0 มม. เมื่อความชื้นสูงแผลขยายใหญ่