การผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน

วันนี้สยามคูโบต้า มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณวีนัด สำราญวงศ์ เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศสาขาทำไร่ ที่มีการปลูกอ้อยแบบลดต้นทุน มีผลผลิตที่ดี และยังมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งเพื่อสร้างเป็นอาชีพอย่างยั่งยืน ที่เกษตรกรรายอื่นสามารถปฏิบัติตามได้อย่างแน่นอน

เกษตรกรปลูกอ้อยในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่ ต.หินโคก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่และกรรมการเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ยึดอาชีพทำไร่อ้อย ด้วยวิธีการใช้ตออ้อยเดิมมากว่า 19 ปี จากการเป็นคนช่างสังเกต และมีการศึกษาและทดลองอยู่เสมอ โดยสังเกตว่าการเผาอ้อยแบบดั้งเดิมที่ผ่านมาทำให้อ้อยเจริญเติบโตไม่ดี ผลผลิตลดลงมาก ไว้ตอได้น้อย 2-3 ตอ ก็ต้องรื้อปลูกใหม่ ทำให้มีต้นทุนการเพาะปลูกสูง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยไม่เผาอ้อย และใช้ใบอ้อยจากการตัดบำรุงดิน ซึ่งสังเกตเห็นจากอ้อยตอที่ 18 ยังคงมีผลผลิตสูงถึง 15 ตันต่อไร่ อีกทั้งการตัดอ้อยสด ยังได้เปอร์เซ็นต์บวกจากโรงงาน และช่วยลดมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ใบอ้อยที่เหลือจากการตัดกลายเป็นปุ๋ยภายในแปลงได้อีกด้วย

แนวทางการเพาะปลูกอ้อยให้เป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน

การปลูกอ้อยในระยะแรก ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากปฏิบัติตามวิธีปลูกโดยทั่วไป คือใส่ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดวัชพืชจำนวนมาก และเผาอ้อยก่อนการตัดส่งทุกครั้ง จากการลองผิดลองถูกและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจนสามารถหาวิธีการลดต้นทุน โดยการนำปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) มาละลายน้ำ เพื่อทำการฉีดพ่นลงใบอ้อยที่คลุมดินทันทีหลังเก็บเกี่ยว พบว่าใบอ้อยจะเปื่อยยุ่ยกลายเป็นปุ๋ยได้เร็ว จึงยึดวิธีการดังกล่าวในการทำอ้อยเรื่อยมา

ความสำเร็จของเกษตรกร เริ่มต้นจากการบริหารจัดการที่ดีดังนี้

  1. การเตรียมดินปลูกอ้อยใหม่ เริ่มจากกการไถระเบิดดินดานก่อนปลูก ทำให้เกิดการเปิดหน้าดินน้อยลดการสูญเสียความชื้น และเมื่อมีฝนจะทำให้น้ำไหลผ่านชั้นดินดานไปได้ดีช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้นมากขึ้น
  2. พันธุ์อ้อย ใช้พันธุ์อ้อยตามคำแนะนำของหน่วยงานภาครัฐโดยเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และต้องเป็นพันธุ์ที่ปลอดโรค (ขอนแก่น3 สุพรรณบุรี80 LK11 KPX98-51 และ CSB06 เป็นต้น)
  3. การปลูก เน้นการปลูกอ้อยข้ามแล้ง เพื่อลดต้นทุนจึงใช้แทรกเตอร์ KUBOTA ต่อพ่วงเครื่องปลูกทำให้ประหยัดแรงงานมาก
  4. มีการบำรุงดินภายในไร่อ้อยของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ การไม่เผาไร่อ้อย ทำให้ใบอ้อยจากการตัดอ้อยสดมีการคลุมหนาทั่วแปลงรักษาความชื้นภายในดินได้ดี วัชพืชไม่สามารถขึ้นมาได้ และใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ ได้แก่ กากอ้อย และปุ๋ยจากโรงงานอ้อยที่มีโควต้าให้สมาชิก อีกทั้งมีการใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงตออ้อยเสริมเป็นบางครั้ง

การบำรุงตออ้อยที่ดี หลังจากที่เกษตรกรตัดอ้อยสดแล้วจะปล่อยใบอ้อยให้คลุมดิน แต่เนื่องจากเป็นอ้อยตอ ทำให้อ้อยที่คลุมดินหนามาก จึงคิดวิธีช่วยย่อยสลาย โดยนำปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ปริมาณ 20 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 200 ลิตร หมักในถังหมักระยะเวลา 7 วัน จากนั้นจึงทำการฉีดใบอ้อยที่คลุมดิน เพื่อให้ใบอ้อยย่อยสลายและเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่อ้อยตอได้ดี แต่ควรพ่นทันทีหลังทำการเก็บเกี่ยวอ้อย เนื่องจากใบอ้อยจะมีความชื้นสูง และมีน้ำตาลที่ตกค้างในยอดอ้อยที่ถูกตัด ทำให้ใบกรอบง่าย และจุลลินทรีย์ในดินเจริญได้ดีจากน้ำตาลที่ตกค้างอยู่

  1. การเก็บเกี่ยว เมื่ออ้อยมีอายุครบ 1 ปี ทำการเก็บเกี่ยวด้วยรถตัดอ้อย เพื่อประหยัดแรงงาน และไม่ต้องเผา อ้อย ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยอ้อยของ คุณวีนัสอยู่ที่ 15-17 ตันต่อไร่ โดยต้นทุนปลูกอ้อยใหม่ปกติอยู่ประมาณ 6,000-6,500 บาท/ไร่ แต่อ้อยตอของใช้ทุนต่อปีเพียง 1,300 บาท/ไร่เท่านั้น นี่คือความสำเร็จจากการวางแผนการผลิตและการบริหารจัดการที่ดี เป็นเกษตรกรที่ไม่หยุดทดลอง หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพื่อชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Tag:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา จ.เพชรบูรณ์ การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พื้นที่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม จากการปลูกพืชหลังนา เป็นหนึ่งแนวทางที่สยามคูโบต้าได้สนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทยมาโดยตลอด เพราะนอกจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มแล้ว ยังเกิด
เพลี้ยแป้งสีชมพู พบการระบาดมากในช่วงฤดูแล้งฝนทิ้งช่วง เพลี้ยแป้งเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะของการเจริญเติบโตได้ด้วยการ ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด ใบ ตา และลำต้น
การทำการเกษตรแบบปลอดการเผามีความจำเป็นต้องมีการจัดการระบบการเพาะปลูกพืชให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยควรมีการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆเข้ามาใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิตเพื่อสนับสนุนการหยุดการเผาในไร่นาควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช การพัฒนาการเตรียมดิน การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการพัฒนาการเตรียม