การปลูกถั่วเขียวผิวดำ

ถั่วเขียวผิวดำ หรือ ถั่วแขก หรือถั่วเม็ดนุ่น เป็นชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ มีลักษณะต้น ใบ กิ่งก้าน ฝัก และเมล็ดใกล้เคียงกับถั่วเขียวธรรมดา ฝักอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด ส่วนเปลือกถั่วและซากลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ ยังสามารถปลูกไว้เพื่อใช้ทำปุ๋ยพืชสดได้ ปัจจุบันผลผลิตของถั่วเขียวผิวดำตลาดของประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการมาก เนื่องจากชาวญี่ปุ่นพบว่าถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวผิวดำมีความน่ารับประทาน ลำต้นขาวอวบอ้วนกว่าและคงความสดไว้ได้นานกว่าถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวธรรมดา ส่วนคุณค่าทางอาหาร (ของเมล็ดแห้ง) ก็ใกล้เคียงกับถั่วเขียวธรรมดาคือมีโปรตีนประมาณ 23.4 เปอร์เซ็นต์ น้ำมัน 1.0 เปอร์เซ็นต์ และคาร์โบไฮเดรต 57.3 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการปลูกถั่วเขียวผิวดำในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีการปลูกมากในท้องที่หลายจังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี ผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ประเทศที่เป็นลูกค้าสำคัญของไทยรองลงมาได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง การที่จำนวนเนื้อที่ปลูกและผลผลิตของถั่วเขียวผิวดำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะมีผลผลิตสูงขึ้นต่อไปอีกนั้น เนื่องจากว่าราคาผลผลิตสูงจึงเป็นสิ่งจูงใจ นอกจากนี้การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวไม่ยุ่งยาก เหมือนพืชไร่อื่นๆ ทั้งยังเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีให้ผลผลิตสูง และประกอบกับเกษตรกรผู้ปลูกในบางท้องที่เริ่มมีความชำนาญ

ในการปลูกมากขึ้น จึงมีการขยายเนื้อที่ปลูกออกไป ปัจจุบัน ตลาดญี่ปุ่นเริ่มพอใจผลผลิตถั่วเขียวผิวดำของไทย เพราะมีคุณภาพดีกว่าถั่วเขียวผิวดำของพม่า การผลิตของไทยมีขนาดเมล็ดใหญ่กว่า ทั้งนี้เพราะพ่อค้าผู้ส่งออก ของไทยได้ทำการคัดขนาดของเมล็ด และเลือกสิ่งเจือปนอื่นๆ ออกก่อน และพยายามปรับปรุงมาตรฐานของถั่วเขียวผิวดำให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องการผลิตถั่วเขียวผิวดำก็ไม่ควรผลิตให้เกินเป้าหมายของตลาดผู้รับซื้อ โดย เฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยต้องการ ถั่วเขียวผิวดำเพื่อไปเพาะถั่วงอกบริโภคเพียงปีละ 4-5 หมื่นตันเท่านั้น แต่ถ้าคนไทยจะหันมาบริโภคถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวผิวดำกันบ้างก็จะทำให้ตลาดรับซื้อผลผลิตในประเทศกว้างขวางขึ้นอย่างแน่นอน

ลักษณะดีเด่นของถั่วเขียวผิวดำ

  • ปลูกง่าย ดูแลรักษาง่าย ทนแล้ง และทนต่อการรบกวนของวัชพืชได้ดี
  • ให้ผลผลิตสูงกว่าถั่วเขียวธรรมดา ประมาณ 2 เท่าตัว
  • แมลงรบกวนน้อย เนื่องจากต้นมีขนมาก
  • ฝักแก่ไม่แตก สามารถชลอการเก็บเกี่ยวได้โดยไม่เสียหายและเก็บเกี่ยวได้ทั้งต้น
  • เมล็ดเก็บไว้นานราว 2 ปี โดยความงอกไม่เสื่อม มอดไม่ทำลายเมล็ด
  • ใบใหญ่และดก เมื่อร่วงหล่นลงดินและเน่าเปื่อย จะเป็นการช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุพวกธาตุอาหารให้แก่ดินได้มาก

พันธุ์

กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ พบว่าถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ซี คิว20147 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงประมาณ 300 กก./ ไร่ และมีขนาดของเมล็ดใหญ่ จัดเป็นถั่วเขียวผิวดำพันธุ์ดีพันธุ์หนึ่ง มีอายุเก็บเกี่ยว 90 วัน ซึ่งนานกว่าถั่วเขียวธรรมดาประมาณ 25-30 วัน

ฤดูปลูก ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

  1.  ปลูกตอนปลายฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคมถึงต้นตุลาคม
  2. ปลูกตามพืชไร่อื่น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หรือ ปอ หรือปลูกในนาที่มีการชลประทานในฤดูแล้ง โดยปลูกหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วประมาณเดือนมกราคม สถานที่ปลูก สามารถปลูกได้ตั้งแต่บนพื้นที่ราบระดับน้ำทะเล จนถึงสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร ไม่เหมาะที่จะปลูกทางภาคใต้ของประเทศไทย หรือปลูกในท้องที่หรือในฤดูที่มีฝนตกชุกและตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ต้นถั่วเขียวผิวดำเกิดโรคโคนเน่าได้ง่าย

การปลูก

–  ปลูกแบบหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 6-8 กิโลกรัมต่อไร่

–  ปลูกแบบโรยเป็นแถว ให้แถวห่างกันประมาณ 25 เซนติเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5-6 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนปลูก ไถเตรียมดินประมาณ 1-2 ครั้ง แล้วหว่านหรือโรยเมล็ดพันธุ์ทันที โดยไม่ต้องปล่อยดินตากแดดจนแห้ง ในประเทศอินเดียจะปลูกถั่วเขียวผิวดำหมุนเวียนหรือปลูกปนไปกับต้นข้าว

การดูแลรักษา

การปลูกถั่วเขียวผิวดำ ไม่ต้องดูแลมากนัก ไม่ต้องกำจัดวัชพืชเพราะต้นถั่วเขียวผิวดำมีการเจริญเติบโตเร็ว และแผ่กิ่งใบปกคลุมต้นวัชพืช จนไม่อาจขึ้นเจริญงอกงามทำความเสียหายให้แก่ต้นถั่วได้ มีศัตรูพืชรบกวนน้อย ทั้งนี้หากลงมือปลูกไปแล้วมีแมลงพวกตั๊กแตน ด้วงน้ำมัน หรือหนอนระบาดทำความเสียหายมาก แนะนำให้ฉีดยาคาบาริล (เซวิน) 85 ตามอัตราส่วนที่บอกไว้ในฉลากยาเพื่อป้องกันกำจัดแมลง

การเก็บเกี่ยว

เมื่อฝักแก่หมดและเริ่มแห้ง สามารถเก็บเกี่ยวทั้งต้นเช่นเดียวกับเกี่ยวข้าวแล้ววางรายตากแดดจนกว่าฝักจะแห้งสนิท หลังจากนั้นจึงรวบรวมมัดเป็นฟ่อนนำมานวดที่ลาน โดยใช้แทรกเตอร์ย่ำให้เมล็ดหลุดออกจากฝัก แล้วจึงฝัดหรือเข้าเครื่องเป่าเพื่อกำจัดเศษผงพวกใบเปลือกฝักที่ปะปนอยู่ออกแล้วใส่ตะแกรงร่อนเอาทราย ดิน หิน กรวด ที่ติดมาออกให้หมดอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วจึงบรรจุเมล็ดลงกระสอบจำหน่ายต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

อายุเก็บเกี่ยว เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 62-75 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ เงื่อนไขการดำเนินการ 1. ฤดูกาล ในฤดูแล้งปลูกช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมกราคม ช่วงปลูกหากกระทบอากาศเย็นจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต 2. ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง 3. ดินเหนียวไม่เหมาะสมกับการ
ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5. ชุดดินโคราช (โคราช series : Kt) กลุ่มชุดดินที่ 35 การกำเนิด : เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ และ/หรือเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะทางไม่ไกลนักของหินตะกอนเนื้อหยาบพวกหินทรายบริเวณพื้นที่เกือบราบหรือที่เกือบราบ (peneplain)
เมล็ดที่มีการฟักตัว คือ เมล็ดที่มีชีวิตแต่ไม่งอก แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ระยะฟักตัวหาได้จากจำนวนวันหลังจากเก็บเกี่ยว ถึงวันที่เมล็ดงาน 80% โดบนับทั้งต้นอ่อนสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ ระยะฟักตัวของข้าวแตกต่างกันไปตามพันธุ์