การปลูกถั่วลิสงหลังเก็บเกี่ยวข้าวในนาโดยไม่อาศัยน้ำชลประทาน

ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชบำรุงดิน และขายเป็นรายได้สำหรับเกษตรกร นำมาปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งในพื้นที่อาศัยน้ำชลประทานและไม่อาศัยน้ำชลประทาน แต่การปลูกถั่วลิสงหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยไม่อาศัยน้ำชลประทานสามารถทำได้ในบางพื้นที่เท่านั้น

1การเลือกพื้นที่ปลูก

พื้นที่ทำนาที่สามารถปลูกถั่วลิงสงได้ดีโดยไม่อาศัยน้ำชลประทานตลอดฤดูกาล จะต้องมีระดับน้ำใต้ผิวดินตื้นในช่วงฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มีความชื้นในดินดีในช่วงฤดูแล้ง  กล่าวโดยทั่วไปพื้นที่นาดังกล่าวระดับน้ำใต้ผิวดินจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ หลังเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะอยู่ลึกไม่เกิน  1.50 – 2.00 เมตร ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน

2การปลูก

นอกจากระดับน้ำใต้ผิวดินตื้นจะเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จของการปลูกพืชฤดูแล้งในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยไม่อาศัยน้ำชลประทานแล้ว การเตรียมดิน การเตรียมเมล็ด ความลึกของการปลูก และการใช้วัสดุคลุมดินก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มผลผลิตของการปลูกพืชฤดูแล้งในนาโดยไม่อาศัยน้ำชลประทาน

2.1 การเตรียมดิน

หลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วรีบตัดตอซังข้าวออกจากแปลงนาและเก็บไว้ที่คันนา การตัดตอซังข้าวออกจากแปลงนาจะช่วยให้น้ำที่ขังอยู่ในแปลงนา (ถ้ามี) หรือความชื้นหน้าดินที่มากเกินไปแห้งเร็วขึ้นพอเหมาะสำหรับการไถพรวน ระดับความชื้นที่เหมาะสมจะอยู่ที่ระดับความจุชื้นสนาม (field capacity) ซึ่งเกษตรกรเรียกว่า ดินแห้งพอหมาดๆ การไถพรวนดินจะทำ 3-4 ครั้ง โดยไถแต่ละครั้งจะคราดทันทีและตากดินให้แห้งนาน 5-7 วัน แล้วจึงไถรอบต่อไป หน้าดินจะอยู่ในสภาพร่วนซุย จึงเป็นการตัดสายน้ำไม่ให้ความชื้นสูญเสียออกไปจากดินชั้นลึก และเหมาะสมที่ถั่วลิสงจะแทงเข็มลงไปในดินเพื่อเจริญเติบโตเป็นฝัก

2.2 การเตรียมเมล็ด

ก่อนปลูกควรนำเมล็ดที่แกะเปลือกออกแล้วมาหุ้มด้วยผ้าที่เปียกชื้นนาน 1 วัน เพื่อเร่งการงอกของเมล็ด เมื่อปลูกลงในดินเมล็ดจะงอกเร็วขึ้นและงอกพร้อมกัน อัตราการงอกของเมล็ดสูง การงอกของเมล็ดได้เร็วจะทำให้พืชสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ดี การย่นระยะเวลาการงอกจะส่งผลให้ช่วงฤดูปลูกสั้น พืชได้ใช้ความชื้นที่มีอยู่ในดินอย่างจำกัดเพียงพอตลอดฤดูปลูก

2.3 ความลึกของการปลูกและการใช้ตอซังข้าวคลุมดิน

ควรหยอดเมล็ดลงในร่องหรือหลุมลึก 10-15 เซนติเมตร การปลูกลึกทำให้ราก ถั่วลิสงหยั่งลงไปในดินได้ลึกเพื่อดูดความชื้นในดินชั้นล่างได้มาก การใช้ตอซังข้าวที่ตัดออกแล้วนำกลับมาคลุมดินหลังจากปลูกถั่วลิสงได้ประมาณ 10-15 วัน จะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ ได้นาน

2.4 การใส่ปุ๋ย

การปลูกถั่วลิสงหลังเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะไม่ใส่ปุ๋ยเคมีก็ได้โดยอาศัยปุ๋ยที่เหลือตกค้างจากการที่ใส่ให้กับข้าว แต่ถ้าจะให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โดยในร่องพร้อมกับการหยอดเมล็ด

2.5 การกำจัดวัชพืช

กล่าวโดยทั่วไป การปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้งโดยไม่ให้น้ำชลประทานจะมีวัชพืชน้อยมาก ในกรณีที่มีวัชพืชเกิดขึ้นให้ใช้มือถอนออกจากแปลง

2.6 การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

ศัตรูพืชที่สำคัญในการปลูกถั่วลิสงก็คือ เสี้ยนดิน แต่การปลูกถั่วลิสงหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยที่ดินผ่านสภาพน้ำขังมาก่อนจะมีปัญหาเสี้ยนดินน้อย

2.7 การเก็บเกี่ยว

ใช้มือถอนต้นจากดินแล้วปลิดฝักออกจากต้น ถ้าดินแน่นให้ใช้จอบขุด เมื่อปลิดฝักออกจากต้นแล้ว นำฝักถั่วลิสงตากแดด แล้วนำไปขายต่อไป หรืออาจจะขายในรูปของฝักสดก็ได้ ต้นถั่วลิสงที่ปลิดฝักออกแล้วทิ้งเศษซากไว้ในแปลงนาเพื่อเป็นปุ๋ยสำหรับข้าวต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

การเกิดสภาวะน้ำท่วมพื้นที่นาข้าว อาจเกิดได้ 2 กรณี คือจากฝนตกหนักน้ำไหลบ่าท่วมฉับพลัน หรือน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าว ดังนั้นหลังจากน้ำลดลงระดับปกติจึงควรมีการจัดการดินที่เหมาะกับการปลูกข้าว ซึ่งความรุนแรงของความเสียหายขึ้นกับระยะ
เกษตรทฤษฎีใหม่ แนวคิดการเกษตรตามรอยพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยทำงานน้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์มากขึ้น พออยู่ พอกิน ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งบทความนี้ KAS (KUBOTA (Agri) Solutions) จะมาอธิบายเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ว่าคืออะไร ต้องทำแบบไหน มีข้อดีอย่างไร จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย
เชื้อสาเหตุ : Erwinia carotovora แบคทีเรีย อาการ : ในระยะแรกอ้อยจะแห้งตายเป็นบางหน่อ ระยะหลังลำอ้อยบริเวณคอเน่าจนคอหักพับ มีกลิ่นเหม็นเน่า เนื้อในอ้อยยุบเป็นโพรงเห็นเนื้อเป็นเส้น วิธีการแพร่ระบาด : ติดไปกับท่อนพันธุ์ ลมและฝนพัดพาเชื้อจากต้นที่เป็นโรคไปติดต้นข้างเคียง วิธีการป้องกันรักษา : พบกอเป็น