การดูแลแปลงอ้อยด้วยแทรกเตอร์ขนาดเล็ก

การดูแลรักษาแปลงอ้อยโดยใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก

อ้อยเป็นพืชที่มีการปลูกเป็นแถว มีระยะห่างระหว่างแถวตั้งแต่ 80 – 180 เซนติเมตร ปลูกได้ทั้งแบบร่องคู่และร่องเดี่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะการเจริญเติบโตของแต่ละพันธุ์อ้อยและความอุดมสมบูรณ์ของสภาพดินและน้ำ อีกทั้งเมื่อปลูกแล้วอ้อยยังสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้งหรือเรียกว่าการไว้ตอ เพราะหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือการตัดต้นอ้อยออกไปแล้ว ตออ้อยที่อยู่ใต้ผิวดินสามารถแตกหน่อขึ้นมาใหม่ได้อีก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยลดลงและเก็บเกี่ยวได้กำไรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องลงทุนเรื่องการเตรียมแปลงพันธุ์อ้อย และต้นทุนการปลูกตั้งแต่ช่วงปีที่ 2 จนถึงอายุตอสุดท้าย ซึ่งปกติต้นอ้อยจะสามารถให้ผลผลิตสูงถึง 2 – 3 รอบ/ต้น แต่มีเกษตรกรบางรายที่สามารถได้มากกว่านี้ แต่ต้องอาศัยการบำรุงตออ้อยให้สมบูรณ์ในทุกปี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อ้อยสามารถแตกหน่อได้มาก ระบบรากแข็งแรง ได้ผลผลิตดีทั้งคุณภาพและปริมาณการดูแลรักษาแปลงนั้นหมายถึง การปลูกซ่อม การป้องกัน กำจัดวัชพืช การพรวนดิน การใส่ปุ๋ย การให้น้ำและการป้องกัน กำจัดโรค แมลง และศัตรูอื่น ๆ แต่ปัจจุบันนี้จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่แพงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวไร่ไม่สามารถดูแลแปลงได้เต็มที่จนทำให้อ้อยตอไม่สมบูรณ์ ศัตรูพืชทำลายได้ง่ายได้ผลผลิตน้อยกว่า 10 ตันต่อไร่ ซึ่งถือว่าได้ผลกำไรน้อยลงมาก จึงต้องทำการรื้อตอปลูกใหม่ 

ปัจจุบันชาวไร่เริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาทดแทนแรงงานในขั้นตอนการดูแลแปลงมากขึ้น เช่นขั้นตอนการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดวัชพืช การพรวนดินและการใส่ปุ๋ย โดยใช้แทรกเตอร์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ต่อพ่วงอุปกรณ์เข้าทำงานในแปลง แต่หลังจากอ้อยมีความสูงเกินกว่าที่จะใช้แทรกเตอร์คร่อมแถวอ้อยเพื่อทำงานในแปลงได้ ก็ยังต้องอาศัยแรงงานคน ในการเข้าทำงานในแปลง จึงขอแนะนำการบำรุงรักษาแปลงอ้อยหลังอ้อยอายุเกิน 3 เดือน หรือมีความสูงมากกว่า 50 เซนติเมตรขึ้นไป โดยใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก ขนาด 20 – 24 แรงม้าต่อพ่วงอุปกรณ์พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เข้าทำงานระหว่างแถวอ้อยแต่ต้องใช้ระยะระหว่างกลางแถวตั้งแต่ 150 เซนติเมตรขึ้นไปซึ่งจากการทดลองของเกษตรกรต้นแบบที่ใช้วิธีนี้พบว่า ผลผลิตไม่แตกต่างกับการปลูกระยะแคบ แต่สามารถบำรุงรักษาแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพจนได้ตออายุมากขึ้น ลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานได้มาก กำไรเพิ่มขึ้นสำหรับการทำงานของแทรกเตอร์ขนาดเล็กร่วมกับอุปกรณ์ต่อพ่วง ขอยกตัวอย่างในขั้นตอนการพรวนดิน และการใส่ปุ๋ยดังนี้

การพรวนดิน

การพรวนดินระหว่างแถวอ้อยนั้นมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น เป็นการกำจัดวัชพืช เปิดผิวหน้าดินรับน้ำฝน รักษาความชื้นดิน พรวนกลบปุ๋ยเพื่อลดการสูญเสีย หรือเพื่อช่วยให้การถ่ายเทอากาศในดินดีขึ้น วิธีการที่สามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดแรงงานคือการใช้แทรกเตอร์ขนาดตั้งแต่ 20 – 24 แรงม้าที่มีขนาดเล็ก ทำงานสะดวก และมีความกว้างญานล้อไม่มาก เพื่อสามารถเข้าทำงานระหว่างแถวอ้อยได้ ตั้งแต่อ้อยอายุ 1 – 8 เดือน อุปกรณ์ที่ใช้ต่อพ่วงเพื่อทำหน้าที่พรวนดินมีหลายชนิดเช่น จอบหมุนหรือโรตารี่ ซึ่งสามารถปั่นพรวนดินได้ละเอียดกว่าอุปกรณ์ชนิดอื่น และปั่นได้ลึกตั้งแต่ 8 – 10 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับชนิดและความชื้นดิน) นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำจัดวัชพืชไปในตัว โดยตัวใบมีดจะทำหน้าที่สับลงที่ต้นวัชพืชและย่อยวัชพืชให้มีขนาดเล็ก ซึ่งจะย่อยสลายได้เร็ว และกลายเป็นอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงดินได้อีกด้วย อุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งก็คือชุดกลบโคนอ้อย ซึ่งสามารถต่อพ่วงกับแทรกเตอร์ขนาดเล็กได้เช่นกัน โดยจะทำการกลบโคนอ้อยในช่วงที่ต้นอ้อยแตกกอเต็มที่แล้ว มีประโยชน์เพื่อให้รากอ้อยถูกฝังดินได้ลึกขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความชื้นจากดินมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้รากอ้อยมีพื้นที่การเจริญเติบโตได้มากขึ้น และช่วยป้องกันการโค่นล้มเมื่ออ้อยโตเต็มที่

การใส่ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยในแปลงอ้อยโดยส่วนใหญ่จะใส่กันประมาณ2 – 3 ครั้ง ครั้งแรก คือปุ๋ยรองพื้นใส่ในขั้นตอนการปลูกโดยเครื่องปลูก ครั้งที่ 2 ในขณะที่ต้นอ้อยมีอายุประมาณ2 – 3 เดือน เพื่อส่งเสริมการแตกกอ โดยใช้เครื่องฝังปุ๋ยต่อพ่วงแทรกเตอร์ และครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าในแปลง หรือบริเวณที่อ้อยยังไม่สมบูรณ์ในช่วงอายุประมาณ 4 – 5 เดือนโดยส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานในการเข้าไปหว่านปุ๋ย อายุอ้อยที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวนั้นควรมากกว่า 10 เดือนขึ้นไป จึงจะได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดีดังนั้นหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว ก็ควรต้องมีการดูแลรักษาแปลงที่ดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการใส่ปุ๋ย เพราะจะเป็นช่วงการย่างปล้อง( 6 – 8 เดือน ) และการสะสมน้ำตาล ซึ่งจะมีส่วนสำคัญโดยเฉพาะในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตดังนั้นถ้าแบ่งการใส่ปุ๋ยตามช่วงการเจริญเติบโตของอ้อยก็สามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน คือ ใส่ปุ๋ยรองพื้นเพื่อส่งเสริมการงอก และการเจริญเติบโตในช่วงแรกใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ที่อายุอ้อยประมาณ 2 – 3 เดือน เพื่อส่งเสริมการแตกกอ ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ในขณะที่อ้อยมีอายุประมาณ4 – 5 เดือนเพื่อส่งเสริมการย่างปล้อง และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 4 ในขณะที่อ้อยอายุประมาณ 6 – 7 เดือน เพื่อส่งเสริมการสะสมน้ำตาล แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการตรวจวิเคราะห์ดินก่อน เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาวางแผนทั้ง ชนิด ปริมาณ และจำนวนครั้งในการใส่ปุ๋ย ถ้าเกษตรกรสามารถแบ่งใส่ปุ๋ยได้ตามระยะการเจริญเติบโตของอ้อย นอกจากจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้แล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียปุ๋ย โดยใช้หลักการใส่น้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง

“ขั้นตอนการดูแลแปลงอ้อยนั้นมีช่วงเวลาตั้งแต่หลังปลูกจนถึงการรื้อตอ” โดยเฉพาะชาวไร่ที่ต้องการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มจำนวนการไว้ตอให้ได้มากขึ้น ต้องมีการดูแลแปลงอ้อยให้สมบูรณ์ตลอดช่วงเวลาที่ต้นอ้อยยังมีชีวิตอยู่ แต่การที่จะดูแลรักษาแปลงได้ทันเวลาในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของอ้อยนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยในการทำงาน ซึ่งทำให้สามารถลดค่าจ้างแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อันส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต ยืดอายุอ้อยตอ และลดต้นทุนการผลิต ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมืออาชีพมีกำไรเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความสำคัญ แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา หรือแตนตาแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเจริญเต็มที่มีขนาด ประมาณ 0.50 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเหลืองขุ่น ตาสีแดง บริเวณเส้นปีกมีขนอ่อนเรียงเป็นแนวตรง แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมาทำลายไข่ของผีเสื้อต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น หนอนกออ้อย หนอนกอข้าว หนอนห่อใบข้าว หนอนเจาะ ล้าต้น
ปอเทือง เป็นพืชตระกูลถั่ว ลักษณะเป็นไม้พุ่มความสูง 100–300 เซนติเมตร ลำต้นกลม ใบยาวเรียวแหลม ดอกสีเหลือง ฝักเป็นรูปทรงกระบอก เมล็ดคล้ายรูปไตสีน้ำตาล ความยาว ประมาณ 6 มิลลิเมตร มี 10 -20 เมล็ด/ฝัก ปอเทืองเป็นพืชที่ต้นทุนในการปลูกต่ำและทนแล้ง โดยนอกจากเก็บเมล็ดพันธุ์ขายแล้วยังสามารถไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด
โรคไหม้ คืออะไร ? สาเหตุเกิดจาก เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc. พบมาก ในน้ำฝน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง พบส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้