1. การเลือกพื้นที่
- ควรมีชั้นหน้าดินหรือความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง
- ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนเหนียวปนทราย หรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งและไม่มีชั้นดินดาน
- ดินระบายน้ำได้ดีถึงปานกลางความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมคือ 4.2 – 5.5
- ในพื้นที่ลาดชันควรปลูกแบบขั้นบันไดและมีพืชคลุมระหว่างแถวเพื่อลดการพังทลายของดิน
- ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม 1,700 – 2,500 มิลลิเมตรต่อปีทิ้งช่วงไม่เกิน 2-3 เดือน หากทิ้งช่วงนานควรมีแหล่งน้ำสำหรับให้ปาล์มน้ำมันในช่วงแล้ง
2. การเตรียมพื้นที่
- พื้นที่ที่มีข้อจำกัดเช่น ดินทราย ดินเค็ม ดินในที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมขังนานๆต้องมีการจัดการที่เหมาะสมเช่น ที่ดินลุ่มต่ำต้องทำร่องระบายน้ำ
- หากเป็นการปลูกแทนปาล์มน้ำมันเดิม ต้องมีการจัดการโค่นล้มต้นปาล์มน้ำมัน
- ต้องมีการตัดแบ่งถนนในแปลงอย่างเหมาะสมเพื่อขนส่งผลผลิตและลดการเหยียบย่ำดิน
- ประสิทธิภาพในการใช้แสงเต็มพื้นที่
- ในช่วงแรกของการปลูกปาล์มน้ำมัน 1-3 ปี ควรมีการปลูกพืชคลุมดินหรือพืชแซมที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การปลูกและการดูแลรักษา
ในช่วงแรกของการปลูกปาล์มน้ำมัน 1-3 ปี ควรมีการปลูกพืชคลุมดินหรือพืชแซมที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
- เตรียมหลุมปลูกขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่กว่าถุงต้นกล้าเล็กน้อยรูปตัวยูหรือทรงกระบอกควรแยกดินชั้นบน-ล่าง ออกจากกัน รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต 0-3-0 อัตรา 250 ถึง 500 กรัมต่อหลุม
- ควรใช้ต้นกล้าที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไปซึ่งมีลักษณะต้นสมบูรณ์แข็งแรงไม่แสดงอาการผิดปกติและมีใบรูปขนนกจำนวนอย่างน้อย 2 ใบ
- เวลาปลูกควรปลูกในช่วงฤดูฝนไม่ควรปลูกช่วงปลายฝนต่อเนื่องฤดูแล้งหรือหลังจากปลูกแล้วจะต้องมีฝนตกอีกอย่างน้อยประมาณ 3 เดือนจึงเข้าฤดูแล้ง ข้อควรระวังหลัง จากปลูกไม่ควรเกิน 10 วันจะต้องมีฝนตก
วิธีการปลูกถอดถุงพลาสติกออกจากต้นกล้าปาล์มน้ำมันอย่าให้ก้อนดินแตกจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตของต้นกล้าลงในหลุมปลูกใส่ดินชั้นบนลงก้นหลุมแล้วจึงใส่ดินชั้นล่างตามลงไปและจัดต้นกล้าให้ตั้งตรงแล้วจึงอัดดินให้แน่นเมื่อปลูกเสร็จแล้วโคนต้นกล้าจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับระดับดินเดิมของแปลงปลูก
1. ตอนปลูกควรใช้ตาข่ายหุ้มรอบโคนเพื่อป้องกันหนูหลังจากปลูกเตรียมป้องกันหนูโดยวิธีผสมผสานหากสำรวจแล้วพบว่ามีหนูเข้าทำลายควรวางเหยื่อพิษและกรงดัก
2. หลังปลูกถ้าพบด้วงกุหลาบเริ่มทำลายไปเป็นรูพรุนให้ฉีดคาร์บาริลหรือคาร์โบซัลแฟน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นทุก 7-10 วัน
3. ด้วงแรดเป็นศัตรูปาล์มน้ำมัน ใช้คอไพริฟอส อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นยอดอ่อนและโคนทางใบให้ชุ่มเดือนละครั้ง ไม่ควรวางกองซากพืชและมูลสัตว์ในสวนปาล์มเพราะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ด้วงแรด
กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นในช่วงอายุ 1-3 ปีตามระยะเวลาเช่นก่อนการใส่ปุ๋ยถ้าใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชระวังอย่าให้สัมผัสต้นปาล์มน้ำมัน
4. การจัดการธาตุอาหาร
- ใส่ปุ๋ยเคมีตามตารางด้านล่าง (ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั่วไป) ควบคู่กับการสังเกตอาการขาดธาตุอาหารหรือเก็บตัวอย่างดินและใบส่งวิเคราะห์เพื่อปรับปริมาณธาตุอาหารตามความเหมาะสม
- ตำแหน่งการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต้องใส่ในตำแหน่งที่มีรากฝอย (รากที่ 3 – 4) ปริมาณมากซึ่งรากดังกล่าวสามารถดูดธาตุอาหารได้ดี
- ควรบำรุงดินเพิ่มอินทรีย์วัตถุเพิ่มปริมาณธาตุอาหารรักษาความชื้นในดินและลดการพังทลายของหน้าดินด้วยการใส่ทะลายเปล่าอัตรา 150-400 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี (ตามอายุปาล์มน้ำมัน) หรือปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสด
5. การตัดแต่งทางใบ
พื้นที่ใบเป็นแหล่งสำคัญในการสังเคราะห์แสงพื้นที่ใบที่มากแสดงว่าสังเคราะห์แสงได้มากและช่วยให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและให้ผลผลิตสูงดังนั้นหากใบปาล์มน้ำมันยังมีสภาพสวยและมีสีเขียวแสดงว่าใบปาล์มยังคงทำงานได้ดี ไม่ควรตัดทิ้งแต่เมื่อปาล์มน้ำมันอายุเพิ่มขึ้น และไม่สามารถเก็บเกี่ยวทะลายได้ก็จำเป็นต้องตัดและควรมีการตัดแต่งทางใบที่แห้งหรือหมดสภาพในการสังเคราะห์แสงสำหรับบำรุงดินต่อไป
6. การให้น้ำ
ในพื้นที่ที่ช่วงแล้งนานกว่า 3 เดือน หากมีแหล่งน้ำเกษตรกรควรให้น้ำ 3-5 ลิตร/พื้นที่ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร (ปริมาณน้ำที่ให้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพื้นที่ทรงพุ่มปาล์มน้ำมัน) เพื่อให้ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพ และระบบน้ำที่เหมาะสมคือ มินิสปริงเกอร์ ซึ่งมีการกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงได้ดีกว่าระบบอื่นๆ
7. การเก็บเกี่ยว
- รอบการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม 15 วันต่อครั้งแต่ในช่วงที่ผลผลิตมากควรเก็บเกี่ยว 10 วันต่อครั้ง รอบการเก็บเกี่ยวที่นานเกินไปจะมีผลทำให้เก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันดิบ เนื่องจากเกรงว่าถ้าปล่อยไว้รอบถัดไปอาจร่วงมากเกินไป
ควรเก็บเกี่ยวเฉพาะทะลายที่มีผลร่วง 1 ผลขึ้นไป เมื่อทลายหล่นบนพื้นจะมีผลร่วงเพิ่มขึ้นและ หากล่วง 10 ผลขึ้นไปถือว่าเป็นทะลายสุก(ทลายกึ่งสุกร่วง 1-9 ผล) แต่หากรอบการเก็บเกี่ยวน้อยกว่า 15 วัน สีผิวด้านนอกควรเปลี่ยนสี 100%
- · แกนทะลายปาล์มน้ำมันไม่ควรเกิน 1 นิ้วลดการสูญเสียเปอร์เซ็นต์น้ำมันในกระบวนการสกัดน้ำมัน
8. การเลือกซื้อพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
- เลือกคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรปัจจุบันมี 9 สายพันธุ์คือพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 และ 9
- เลือกลูกผสมเทเนอรา ( ดูรา x พิสิเฟอรา) จากแปลงเพาะชำที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ตรวจรายชื่อแปลงเพาะชำจาก www.doa.go.th หรือสอบถามจากหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการเกษตร
9. แหล่งที่มาของพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
- ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี
- นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศคอสตาริกา เบนิน ปาปัวนิวกินี และเพิ่มประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2558
- ผลิตโดยบริษัทเอกชนของประเทศไทย ขณะนี้มี 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด มหาชน จ.กระบี่ , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ,หจก.โกลเด้นเทเนอรา จ.กระบี่, บริษัท เปา-รงค์ ออยปาล์ม จำกัด จ.นครศรีธรรมราช ,บริษัท ซีพีไออะโกรเทค จำกัด ชุมพร และบริษัทสยามเอลิท จำกัด กระบี่
10. การบันทึกข้อมูล
บันทึกข้อมูลผลผลิต การใส่ปุ๋ย และวัสดุการเกษตร การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และรายรับ – รายจ่าย ฯลฯ เพื่อประกอบการจัดการสวนให้มีประสิทธิภาพ