สู้วิกฤตภัยแล้งด้วยถั่วฝักยาว

1.การเตรียมการก่อนปลูก

1.1 การเตรียมดิน
1) ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกคือดินทรายหรือดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดและด่างของดิน pH มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.8
2) การเตรียมดิน ควรไถดินตากไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวนอีก 1 – 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วใส่อัตรา 2 – 4 ตันต่อไร่
3) กำจัดวัชพืชออกจากแปลงให้หมดจากนั้นจึงไถคราด ควรใส่ปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วเพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น การยกร่องนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1 – 1.2 เมตร โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง และเตรียมร่องระหว่างแปลง กว้างประมาณ 0.5 – 0.8 เมตร

1.2 การเตรียมพันธุ์ปลูกการปลูกถั่วฝักยาวในเนื้อที่ 1 ไร่

ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 3 – 4 กิโลกรัม และก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกควรนำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอก คัดเลือกเมล็ดที่มีตำหนิออกและควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลายด้วย

1.3 การเตรียมหลุมปลูกหลังจากยกร่องปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้จอบขุดหลุมปลูกให้ระยะระหว่างแถวห่างกันประมาณ 80 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตรโดยขุดให้หลุมลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร จากนั้นใช้ปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมกับถั่วฝักยาวเช่น สูตร 15-15-15, 13-13-21, 12-24-12 หรือ 6-12-12 ใส่หลุมละ ½ ช้อนโต๊ะคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดินก้นหลุมปลูก

1.4 การหยอดเมล็ดโดยหยอดเมล็ดตรงลงในหลุมปลูก หลุมละ 3 – 4 เมล็ด แล้วกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วหรือดิน ผสมให้หนาประมาณ 5 เซนติมตร คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งสะอาดบางๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นผิวหน้าดิน รดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะการให้น้ำในระยะ 1- 7 วัน หลังหยอดควรให้น้ำทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาสภาพภูมิอากาศและสภาพดินประกอบด้วย

2.วิธีการปลูก
1) เตรียมแปลงขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 10 เมตร เว้นทางเดิน 50 เซนติเมตรปลูก 2 เป็นแถวคู่ ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 80 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร
2) ในแปลงแบบยกร่องสวน ให้ปลูก 2 แถว แต่ละแถวห่างจากขอบร่อง 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 3 – 4 เมล็ด กลบดินให้ลึกประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร แล้วจึงรดน้ำทันที

3.การดูแลรักษา
3.1 การให้ปุ๋ย
1) ระยะเตรียมดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 – 4 ตันต่อไร่และใส่ปุ๋ยสูตร15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 20 – 25 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ 2 ข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ
2) หลังปลูกระยะเวลาประมาณ 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 20 – 25 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ 2 ข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ

3.2 การให้น้ำถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ แต่ไม่ควรให้มากจนดินแฉะ การให้น้ำถั่วฝักยาวในระยะ 1 – 7 วันแรก หลังจากหยอดเมล็ด ควรให้น้ำทุกวันวันละ 1 ครั้ง ควรพิจารณาสภาพภูมิอากาศ และสภาพดินประกอบด้วย อย่าปล่อยให้น้ำขังในแปลงจะทำให้ต้นถั่วฝักยาวตาย ควรให้น้ำทันทีหลังจากปลูก และใส่ปุ๋ยแล้ว

3.3 การปักไม้ค้างอายุประมาณ 15 – 20 วันหลังปลูก หรือมีใบจริง 4 – 5 ใบ ควรทำค้างโดยใช้ไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้ว ยาว 2 – 2.5 เมตร ปักใกล้ๆ หลุมปลูกเพื่อให้ถั่วฝักยาวพันหรือเลื้อยขึ้นไป โดยในระยะแรกควรมีการช่วยเหลือคือจับยอดถั่วฝักยาวมาพันไม้ค้างไว้ โดยพันทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งการปักแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เป็นที่นิยมทั่วไป

3.4 การพรวนดิน และกำจัดวัชพืชครั้งที่ 1 ในระยะแรกประมาณ 7 – 10 วันหลังปลูก ควรถอน หรือดายหญ้าครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นหญ้าที่งอกพร้อมถั่วฝักยาวเจริญเติบโตได้ครั้งที่ 2 ควรกระทำพร้อมกับการใส่ปุ๋ย คือเมื่อถั่วฝักยาวมีอายุประมาณ 3 วันหลังปลูก ในระยะหลังจากนั้นไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก เพราะถั่วฝักยาวเจริญเติบโตและสามารถปกคลุมพื้นที่ปลูกได้หมด

3.5 การตัดแต่งฝักถั่วควรมีการตัดแต่งฝักที่อยู่ระดับล่างออกบ้าง เพื่อไม่ให้ต้นถั่วฝักยาวโทรมก่อนถึงอายุการเก็บเกี่ยวจริงๆ และทำให้ฝักที่อยู่ส่วนยอดเต่งไม่ลีบ

4.การเก็บเกี่ยว
4.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเมื่อถั่วฝักยาวมีอายุประมาณ 40 วันหลังปลูก หรือหลังดอกบานประมาณ 4 – 8 วัน ระยะเก็บเกี่ยวจากครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย 55 – 75 วัน
4.2 วิธีการเก็บผลผลิตให้ปลิดขั้ว ระวังไม่ให้ดอกใหม่หลุดเสียหาย เพราะจะกระทบกระเทือนต่อปริมาณผลผลิต ลักษณะการเก็บให้ทยอยเก็บทุก ๆ 2 วัน โดยไม่ปล่อยให้ฝักแก่ตกค้าง

5.ศัตรูพืชและโรคที่สำคัญ
1) โรคเหี่ยว อาการต้นเหี่ยว เริ่มจากใบที่อยู่บริเวณโคนต้นแสดงอาการใบเหลืองการป้องกันกำจัดใช้น้ำปูนใสรดให้ทั่ว
2) โรคราแป้ง อาการบนใบมองเห็นคล้ายมีผงแป้งจับอยู่ อาการที่รุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและร่วง การป้องกันกำจัดใช้สารเคมีตามคำแนะนำ
3) หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่วจะทำให้ต้นและเถาเหี่ยวการป้องกันกำจัดคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดแมลงหรือหากจำเป็นให้พ่นสารเคมีตามคำแนะนำ

4) หนอนกระทู้หอมลักษณะการทำลายโดยหนอนจะกัดกินทุกส่วนของถั่วฝักยาวการป้องกันกำจัด ไถพรวน พลิกและตากหน้าดิน 7-14 วัน เพื่อกำจัดดักแด้

5)เพลี้ยอ่อนถั่วฝักยาวลักษณะทำให้ยอดแกร็นไม่สามารถคลี่ใบ ทำให้ดอกร่วง และฝักไม่สมบูรณ์ การป้องกันใช้สารเคมีตามคำแนะนำ

6)หนอนกระทู้ผัก ลักษณะแทะกัดกินทุกส่วนของถั่วฝักยาวการป้องกันกำจัดไถพรวนและตากหน้าดินเพื่อกำจัดดักแด้ในดิน หากจำเป็นให้ใช้สารคมีตามคำแนะนำ

แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วฝักยาว

  1. ใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภูมิกาศ และวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ เมล็ดพันธุ์ของถั่วฝักยาวเกษตรกรสามารถคัดเลือกไว้ใช้เองได้ โดยคัดเลือกจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงและให้ผลผลิตดี ทั้งปริมาณและคุณภาพ
  2. การปักค้าง ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องอาศัยค้างหรือนั่งร้าน เพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยความยาวของไม้มีความยาวประมาณ 2.5 – 3 เมตร หรือตามความเหมาะสมหรืออาจจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน และใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้น ระยะเวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มใส่หลังจากงอกแล้ว 15 – 20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พันเลื้อยขึ้นค้างในลักษณะทวนเข็มนาฬิกาผู้ปลูกควรใช้เชือกแทนค้าง การปลูกถั่วฝักยาวควรมีการทดสอบการใช้เชือกแทนค้างเพื่อหาข้อมูลสำหรับการลดต้นทุนการผลิต
  3. การตัดแต่งฝักที่อยู่ระดับล่างออกบ้าง เพื่อมิให้ต้นถั่วฝักยาวโทรมก่อนถึงอายุการเก็บเกี่ยวจริงๆ และทำให้ฝักที่อยู่ส่วนยอดเต่ง ไม่ลีบ กรณีปลูกฤดูฝน เป็นการป้องกันไม่ให้ฝักนอนอยู่บนผิวดินจะทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย และเมล็ดที่แก่จะงอก ทำให้ผลผลิตลดลง

บทความที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบ 6 มาตรการ จำกัดการใช้ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ ผู้เกี่ยวข้องมีดังนี้ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต กำหนดพืชที่อนุญาตให้ใช้ 3 สาร กำหนดข้อความในฉลาก แผนปฎิบัติการอบรม ตัวอย่างฉลากวัตถุอันตราย
ข้าวอินทรีย์เป็นการผลิตทางการเกษตรที่เน้นเรื่องของธรรมชาติเป็นสำคัญ อีกทั้งยังสามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการรักษาสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในทุกๆวันนี้โลกมีวิวัฒนาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย ในขณะที่การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชยั
สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย หมายถึง สภาพของดินอยู่ในสภาวการณ์ขาดอากาศ (ออกซิเจน) ทำให้รากอ้อยเกิดสภาวการณ์ขาดอากาศเช่นกัน เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้ โดยที่อ้อยแสดงอาการทางใบ คือ ใบอ้อยจะค่อย ๆ มีสีเหลืองซีด ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งอ้อยตาย นอกจากนี้ยังทำให้คุณสมบัติของดิน