ขมิ้นชัน จากการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และช่วยยับยั้งการหลั่งสารอักเสบ ทั้งนี้จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่าสารสำคัญของขมิ้นชัน และ demethoxycurcumine สามารถแย่งจับกับตำแหน่งของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ ทำให้เกษตรหลายคนหันมาปลูกขมิ้นชัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งขมิ้นชันนั้นปลูกง่าย ถึงแม้จะมีแค่เหง้าเดียวก็สามารถขยายพันธุ์และปลูกได้แล้ว
ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินประเภทไรโซม (Rhizome) ลักษณะเป็นเหง้าแง่งค่อนข้างกลม มีแง่งนิ้วแตกออก 2 ข้าง เป็นข้อปล้องสั้น ๆ เหง้าอ่อนสีเหลืองอ่อนออกขาว แก่สีน้ำตาลอมส้ม เลื่อมมัน ดำรงชีวิตอยู่ได้ข้ามปีหรือหลายปี ส่วนลำต้นเหนือดินกลมแบนกาบใบใหญ่หนาเรียงสลับซ้อนทับขึ้นไป และแตกต้นใหม่หลายต้นเป็นกอสูง เจริญได้ดีในฤดูฝนและโทรมแห้งตายในฤดูหนาว ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่อยู่ที่ปลายกาบ ดอกออกมาจากกลางลำต้นสีขาว รากส่วนใหญ่จะหนาแน่นบริเวณโคนลำต้น
พันธุ์ที่นิยมปลูก ;
ขมิ้นสีทอง ขมิ้นด้วง ขมิ้นแดงสยาม พันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร แนะนำได้แก่ พันธุ์ตรัง 1 และพันธุ์ตรัง 2
การปลูก
เจริญได้ดีในดินร่วนอุดมสมบูรณ์สูงชอบอากาศค่อนข้างร้อนและมีความชุ่มชื้นในเวลากลางคืน ช่วงฤดูการปลูก ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ขยายพันธุ์โดยใช้เหง้าหัวหรือแง่งนิ้วที่มีตา 2 – 3 ตา
วิธีการปลูก
1.การเตรียมดิน
โดยการไถพรวนดิน ตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยคอก 4 ตันต่อไร่ หากพื้นที่ปลูกเป็นที่ลุ่ม ยกร่องแปลงกว้าง 1-2 เมตร สูง 15-25 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่อง 50-80 เซนติเมตร
2.การเตรียมพันธุ์
-การปลูกโดยใช้หัวแม่ ให้หัวแม่มีน้ำหนัก 15-50 กรัม ใช้ 1 หัวต่อหลุม หากหัวพันธุ์ มีขนาดใหญ่มาก ให้ตัดเป็นท่อนๆ มีตาติดอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ตา
– การปลูกโดยใช้แง่ง น้ำหนัก 10 กรัม และมีตา 2 – 3 ตาต่อแง่ง โดยใช้ 2 – 3 แง่งต่อหลุม และใช้ใบพลู เปล้าน้อย และต้นตะไคร้หอม บดแห้ง อัตรา 10,000 ppm คลุกกับหัวพันธุ์ก่อนปลูก
3.การปลูก
-โดยขุดหลุมปลูกลึก 10-15 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอก 200-300 กรัม และวางหัวพันธุ์ในหลุมปลูก กลบดินหนา 5-10 เซนติเมตร ให้เว้นระยะปลูก 35×50 เซนติเมตร
4.การดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย หากปลูกขมิ้นชัน 2 ปีใส่ปุ๋ยคอก 300 – 500 กรัมต่อหลุม โดยใส่รอบโคนต้น
การให้น้ำ ในระยะแรก ให้น้ำอย่าง สม่ำเสมอจนกว่าพืช จะตั้งตัวได้ จากนั้นให้น้ำน้อยลงจนถึงระยะหัวเริ่มแก่ และงดให้น้ำในระยะเก็บเกี่ยว
5.ศัตรูพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
– โรคเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ต้นมีอาการใบเหลือง ต้นเหี่ยว หัวเน่าและมีเมือก สีขาวข้น ซึมออกมาตรงรอยแผล ป้องกันกำจัดโดยใช้หัวพันธุ์ที่ปลอดโรค การปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด การขุดต้นที่เป็ นโรคเผาทำลาย และโรยปูนขาวบริเวณหลุมปลูกที่ขุด
– เพลี้ยแป้ง โดยตัวอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยง เข้าทำลายตามรากและแง่งในระดับผิวดิน ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายจะเห็นเป็นผงแป้งเกาะติดอยู่ ป้องกันกำจัดโดยใช้แมลงช้างปีกใส อัตรา 200 –500 ตัวต่อไร่และฉีดพ่นด้วยสารสะเดา2
6.การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมและมีสารสำคัญสูงเมื่ออายุ 9 – 10 เดือนขึ้นไป โดยจะสังเกตเห็นลำต้นเหนือดินแสดงอาการเหี่ยวแห้งสนิท หลีกเลี่ยงการเก็บในระยะที่ขมิ้นชันเริ่มแตกหน่อ เพราะจะทำให้มีสาร curcumin ต่ำ
การใช้ประโยชน์
ใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร แต่งสี กลั่นน้ำมันหอมระเหยเพื่อประกอบเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา เป็นส่วนผสมหลักในลูกประคบ ทำสีย้อมผ้า ในทางการเกษตรใช้ไล่และกำจัดแมลง
สารสำคัญและสรรพคุณ
เหง้าขมิ้นมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ น้ำมันหอมระเหย หรือ termeric oil และสารที่ให้สีเหลือง curcuminoid ซึ่งขมิ้นชันที่ดี ต้องมีปริมาณเคอร์คูมินอยด์ คำนวณเป็นเคอร์คูมิน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก และน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก ตามมาตรฐานของตำรับยาสมุนไพรไทย หรือไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 และร้อยละ 4 ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก