เทคนิคการปลูกข้าวอินทรีย์ในภาคเหนือตอนบน

ในพื้นที่นี้ แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. 2534 เกษตรกรปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ซึ่งอยู่ในกลุ่มข้าวหอมมะลิไทย ไว้เพื่อการจำหน่าย และปลูกข้าวเหนียว กข6 ไว้เพื่อบริโภคและเหลือจำหน่ายบางส่วน ดินนามีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง-สูง ปริมาณน้ำฝนเพียงพอตลอดฤดูปลูก มีการใช้รถไถเดินตามและรถแทรกเตอร์ รวมทั้งเครื่องนวดข้าวเป็นเครื่องจักรกลช่วยทุ่นแรงในการทำนา ส่วนใหญ่ปลูกข้าวแบบปักดำ และเริ่มมีการปลูกแบบหว่านข้าวแห้งในนาลุ่มแล้วบ้าง มีการใส่ปุ๋ยเคมีที่นำมาซึ่งปัญหาโรคไหม้และการทำลายของแมลงในบางปี ซึ่งยังไม่มีการป้องกันกำจัดเพราะเสียหายเพียงบางส่วน ด้านสัตว์ศัตรูข้าวนั้น ด้วยการทำนาในเวลาใกล้เคียงกันเป็นบริเวณกว้าง ช่วยกระจายการทำลายได้ และการดักจับมาบริโภคยังช่วยควบคุมปริมาณศัตรูพืชได้ดี การเก็บเกี่ยวด้วยแรงคนแล้วตากสุ่มซังในนา 3-4 วัน ทำให้ได้ข้าวเปลือกที่มีความชื้น 13-15 % นำไปเก็บรักษาหรือจำหน่ายได้เลย

แปลงนาข้าวอินทรีย์ในภาคเหนือตอนบน

ในการจัดทำแผนการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมานั้น ได้พิจารณาใช้เทคนิควิธีการเดิมที่ไม่ขัดกับระบบเกษตรอินทรีย์ แล้วพัฒนาวิธีการทดแทนการใช้สารเคมีเดิม โดยใช้ข้อมูลจากผลงานวิจัยการผลิตข้าวอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับข้อคิดเห็นของหน่วยตรวจสอบรับรอง โดยมีหลักการให้หมุนเวียนใช้ทรัพยากรในพื้นที่ และจะต้องพิจารณาต้นทุนการผลิตประกอบด้วยทุกขั้นตอนการผลิต คือ

1.  พันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์

พันธุ์ข้าวที่ใช้ตามความต้องการของตลาด คือ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ช่วงหลังปี พ.ศ. 2545-2546 มีพันธุ์ กข6 ร่วมด้วย ระยะแรกใช้เมล็ดพันธุ์จากสถานีทดลองข้าวในพื้นที่ และฝึกอบรมการปลูกข้าวเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรในโครงการ ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองและเหลือจำหน่ายบางส่วน

2.  การเตรียมดินและวิธีปลูก

ใช้รถแทรกเตอร์ไถเตรียมดินช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ในนาหว่านข้าวแห้งซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากขึ้นมากกว่า 50 % จะไถแปรโดยใช้รถไถเดินตาม หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 15 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วคราดกลบ ในเดือนพฤษภาคม ส่วนนาดำที่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่ดอน จะตกกล้าในเดือนมิถุนายนถึง กรกฎาคม แล้ว ไถแปร คราดน้ำขัง แล้วถอนกล้าข้าวมาปักดำในเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม

3.  การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ในเบื้องต้นมีการไถกลบตอซังข้าวในนา นำฟางข้าวมาทำเป็นปุ๋ยหมักผสมกับปุ๋ยคอกแล้วนำกลับไปใส่ในนา มีการเลี้ยงวัวแล้วนำมูลวัวมาหมัก ป่นแล้วอัดเม็ดนำไปใส่ในนาและเหลือจำหน่ายบางส่วน ด้านปุ๋ยพืชสด มีการพัฒนาการปลูกถั่วเขียวมาตั้งแต่ปี 2537 ต่อมามีการปลูกโสนอัฟริกันและปอเทือง ซึ่งได้ผลดีในบางปีขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนต้นฤดู การจัดการดินและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ดังกล่าว อยู่ภายใต้แนวคิด “รักษาสถานะความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ยั่งยืน”

4.  การควบคุมน้ำและควบคุมวัชพืช

การทำนาดำช่วยควบคุมวัชพืชได้เป็นอย่างดี แต่ในพื้นที่นาลุ่มที่วัชพืชไม่รุนแรง สามารถทำนาหว่านข้าวแห้งร่วมกับถั่วเขียวสลับในบางปี ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการดูแลคันนาเพื่อรักษาระดับน้ำขังในนาให้พอดีกับการเจริญเติบโตของข้าว ก็เป็นการควบคุมวัชพืชอย่างได้ผล รวมทั้งมีผลต่อความแข็งแรงของต้นข้าวด้วย

ข้าวอินทรีย์ระยะออกรวง

5.  การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว

ศัตรูข้าวที่สำคัญในพื้นที่นี้ คือ ในระยะแรกของการเจริญเติบโตของข้าว มีปู และหอยเชอรี่ ซึ่งเกษตรกรแก้ไขโดยการลดระดับน้ำในนา จับมาบริโภคหรือทำน้ำหมักชีวภาพ และใส่ต้นพืช เช่น โล่ติ้นหรือหางไหลกำจัด ในระยะข้าวแตกกอมีแมลงบั่วทำลายรุนแรงในบางปี ซึ่งยังไม่มีการป้องกันกำจัด รวมทั้งโรคไหม้ที่จะรุนแรงในบางปีและไม่ป้องกันกำจัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตพบว่า ต้นข้าวอินทรีย์ที่ไม่ได้รับปุ๋ยเคมี มีความแข็งแรงและทนทานต่อโรคไหม้ได้ดีกว่าข้าวที่ใส่ปุ๋ยเคมี ข้าวที่ปลูกแบบหว่านข้าวแห้งมีการทำลายของแมลงบั่วน้อยกว่าข้าวนาดำ รวมทั้งสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของศัตรูธรรมชาติในนา เช่น แมลงปอ ด้วงเต่า แตนเบียน เป็นต้น

6.  การจัดการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว

คุณภาพของข้าวได้รับผลกระทบจากขั้นตอนนี้มาก โดยเฉพาะจากการตกของฝนช่วงก่อน – หลังการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม การจัดการแบบดั้งเดิมก็ใช้ได้ผลดี คือ ระบายน้ำออกนาให้แห้งพอดีในช่วงที่ข้าวสุกแก่ ใช้คนเก็บเกี่ยวแล้วตากสุ่มซัง 3-4 วัน หลังจากนั้นนำมารวมกองไว้รอคนนวดหรือใช้เครื่องนวด กองไว้ได้นานกว่า 30 วัน โดยข้าวยังคงมีคุณภาพดี การใช้เครื่องนวดข้าวจะต้องระวังกรณีที่เปลี่ยนจากข้าวเหนียวเป็นข้าวเจ้า เพราะจะเกิดการปนของข้าวที่ติดอยู่ในเครื่องนวด จึงต้องเป่าหรือล้างทำความสะอาดเครื่องนวดก่อน ข้าวเปลือกที่ได้จะมีความชื้นเฉลี่ย 13-15 % ตามมาตรฐาน นำไปเก็บรักษาในยุ้งฉางหรือใส่กระสอบป่านที่ทำความสะอาดและคัดชิ้นส่วนข้าวที่ติดมากับกระสอบเดิมแล้ว ทั้งนี้ จะต้องติดรหัสของนาข้าวหรือของเกษตรกรที่กระสอบข้าวด้วย

 การตากสุ่มซัง
การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด

7.ระบบพืช/ระบบเกษตร

มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเงื่อนไขเป็นพื้นที่นาน้ำฝน ทำให้การปลูกพืชฤดูแล้งทำได้ยาก จึงมีเพียงพืชก่อนนา คือ ถั่วเขียวและปัจจุบันกำลังพัฒนาการปลูกงาในนาข้าวด้วย พื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่จะปล่อยสัตว์เลี้ยง คือ วัว ควาย เข้าไปกินหญ้าและฟางข้าวเป็นอาหาร ส่วนการพัฒนาการทำฟาร์มทั้งระบบให้เป็นเกษตรอินทรีย์นั้น อยู่ในแนวคิดของกลุ่มเกษตรกรที่จะทำต่อไป

ถั่วเขียวในนาข้าวอินทรีย์
งาในนาข้าวอินทรีย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความสำคัญ แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา หรือแตนตาแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเจริญเต็มที่มีขนาด ประมาณ 0.50 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเหลืองขุ่น ตาสีแดง บริเวณเส้นปีกมีขนอ่อนเรียงเป็นแนวตรง แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมาทำลายไข่ของผีเสื้อต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น หนอนกออ้อย หนอนกอข้าว หนอนห่อใบข้าว หนอนเจาะ ล้าต้น
แตนเบียน (Anagyrus lopezi) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแถบอเมริกาใต้ ทำหน้าที่เป็นทั้งตัวห้ำและตัวเบียน สามารถฆ่า (การห้ำ) เพลี้ยแป้งสีชมพูให้ตายได้ทันที เฉลี่ยวันละ 20-30 ตัว และวางไข่ (การเบียน) ในตัวเพลี้ยแป้งสีชมพู เฉลี่ยวันละ 15-20 ตัว แตนเบียนหนึ่งตัวสามารถฆ่าเพลี้ยแป้งสีชมพูได้เฉลี่ยวันละ 35-50 ตัว