บ้านดงบัง หมู่บ้านสมุนไพรเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เกษตรอินทรีย์ คือเกษตรคุณธรรม เป็นคำกล่าวของคุณสมัย คูณสุข อาศัยที่บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 6 บ้านดงบัง ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เกษตรผู้ปลูกสมุนไพรอินทรีย์แห่งบ้านดงบัง เพื่อส่งผลผลิตขายให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรเป็นหลัก

จุดเริ่มต้นก่อนการปลูกพืชสมุนไพรชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มทำนามาก่อน จากนั้นมีการปรับเปลี่ยนมาทำสวนไผ่ตง และได้มีการผันตัวเองมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับเป็นอาชีพหลักเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากราคาตกต่ำ เกษตรกรจึงคิดจะปลูกพืชสมุนไพรเป็นรายได้เสริม เพื่อส่งผลผลิตให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เป็นตัวเชื่อมชุมชนกับโรงพยาบาลฯ ในการเพาะปลูกจะมีการทำสัญญาล่วงหน้า 2 ปี โดย โรงพยาบาลฯมีข้อกำหนดในการปลูกพืชสมุนไพรต้องห้ามใช้สารเคมี และต้องเป็นออแกนิกส์ 100%  ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้สารอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพได้ บ้านดงบังแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรพื้นที่แรกของประเทศไทย ที่ได้รับรองมาตรฐานแปลงเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) หรือ IFOAM

โดยลักษณะแปลงปลูกของเกษตรกรเป็นการปลูกป่า 3 ระดับ  ประกอบด้วยไม้สูง ไม้กลาง และไม้ล่าง ที่มีความสูงลดหลั่นกันไป

คุณสมัย กล่าวว่าเริ่มแรกจำนวนสมาชิกจากมีความสนใจจะปลูกพืชอินทรีย์กว่า 300 คน แต่ชาวบ้านบางรายยังคงชินกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกอินทรีย์ได้ จำนวนผู้สนใจจึงลดลงเหลือ 12 ครัวเรือน (30-40 คน) เริ่มแรกวัตถุดิบที่โรงพยาบาลต้องการคือหญ้าปักกิ่ง ชาวบ้านขณะนั้นเริ่มต้นเพาะปลูกด้วยพื้นที่เพียง 1-2 งาน ซึ่งหญ้าปักกิ่งมีอายุเพียง 3-4 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ ราคาขายสดที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ในระยะแรกปลูกเพื่อส่งขายแบบสด โดยส่งให้โรงพยาบาลฯ สัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม แต่หลังจากนั้นจึงส่งแบบแห้งให้กับโรงพยาบาลกิโลละ 650 บาท จึงทำให้เกษตรกรเริ่มสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น 1-2 ไร่ต่อครัวเรือน จนกระทั่งปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรส่งให้กับเครือข่ายรวม  60-70 ไร่

บ้านดงบังแห่งนี้ มีโรงล้างและโรงหั่น ซึ่งแปรรูปออกมาเป็นวัตถุดิบชิ้นแห้ง ส่งให้กับโรงพยาบาลฯ ร่วมถึงผลิตส่วนขยายพันธุ์พืชเอง โดยส่วนใหญ่ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ ซึ่งพืชสมุนไพรที่น่าสนใจและเป็น product champion ที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ได้แก่ ขมิ้นชัน กราวเครือขาว กระชายดำ บัวบก ฟ้าทะลายโจร และมะขามป้อม จากพืชที่กล่าวมา ขมิ้นชันเป็นพืชที่เกษตรกร สามารถปลูกเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้อย่างแน่นอน ตลาดของขมิ้น มีโอกาสที่จะพัฒนาอีกได้ไกล นอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรค อาหารเสริม และอื่นๆ นับเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชแซมในยางพาราหรือปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย ถือเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ระหว่างรอการเติบโตของพืชหลัก ให้กับเกษตรกรได้ดี

ซึ่งขมิ้นชัน มีการขยายพันธุ์ด้วยข้อหรือเหง้า ดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกควรจะเป็นดินที่ร่วน และมีการระบายน้ำได้ดี การเพาะปลูกเริ่มต้นจากการไถยกร่องซึ่งคล้ายกับการปลูกมันสำปะหลัง โดยขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมประมาณ ก x ย 50 เซนติเมตร X 100 เซนติเมตร แนะนำให้ปลูกในเดือน ม.ค.- เม.ย. เดือนสุดท้ายที่เก็บเกี่ยวคือเดือน เม.ย.ของปีถัดไป โดยใช้ท่อนพันธุ์ 400 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลผลิตที่ 2,500 กิโลกรัม/ไร่ ราคาขายสดที่ช่วงราคา 25-50 บาท ซึ่งแล้วแต่ช่วง ขมิ้นแปรรูปราคาขายที่ 400 บาท/กิโลกรัม.

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า พืชสมุนไพรถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถยกระดับรายได้ของเกษตรกรและด้วยกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยในรูปแบบของอินทรีย์ ทำให้ถือได้ว่าเป็นการทำการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวร้อยละ 50 ของพื้นที่ทำการเกษตร ทำรายได้ปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามเกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานนิยมปลูกข้าวมากกว่า 2 ครั้งต่อปี หรือปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเกิดวิกฤติการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในการปลูกข้าว อีกทั้งการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องกระทบต่อระบบนิเวศน์
การปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นวันนี้จะแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ คุณอนันต์ บุญสมปอง บ้านเลขที่ 64/4 หมู่ 2 ต.จอระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี อดีตรองผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปัจจุบันได้ผันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ซึ่งสามารถผลิตมันสำปะหลังสดได้