ที่มาของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และความรู้เกี่ยวกับข้าวไวแสง

ข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice) (Official name “Thai Hom Mali”)

เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกที่ไหนในโลกไม่ได้คุณภาพดีเท่ากับปลูกในไทย และเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก

ประวัติและที่มา

เมื่อปี พ.ศ. 2497 นายสุนทร สีหเนิน พนักงานข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในเขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน 199 รวงแล้ว ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น) ได้ส่งไปปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) ดำเนินการคัดพันธุ์โดยนักวิชาการเกษตรชื่อนายมังกร จูมทอง ภายใต้การดูและของนายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรงจนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 ได้พันธุ์บริสุทธิ์ข้าวขาวดอกมะลิ 4-2-105105 (หมายเลข 4 หมายถึงอำเภอที่เก็บมาอำเภอบางคล้า หมายเลข 2 หมายถึง ชื่อพันธุ์ข้าวที่เก็บในอำเภอนั้น คือ พันธุ์หอมมะลิ และ หมายเลข 105 คือ ตำแหน่งรวงข้าวของพันธุ์หอมมะลิที่เก็บในที่นั้น รวงที่ 105) และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ข้าวได้อนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า “ขาวดอกมะลิ 105 ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 จนได้ข้าวพันธุ์ กข 15 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย

ลักษณะจำเพาะของกลิ่นหอมมะลิ

ความหอมของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยชื่อ 2-acetyl-1-pyroline ซึ่งเป็นสารที่ระเหยหายไปได้ การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิให้คงอยู่นานนั้นจึงควรเก็บข้าวไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เก็บข้าวเปลือกที่มีความชื้นต่ำ 14-15% ลดความชื้นข้าวเปลือกที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป นักการเกษตรกรบางท่านกล่าวว่า การใช้ปุ๋ยโปตัสเซียมในการปลูก มีแนวโน้มช่วยให้ข้าวมีกลิ่นหอมมากขึ้น (ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน)

ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวไวแสง

ข้าวไวต่อช่วงแสง คือ ข้าวที่จะออกรวงเมื่อแสงแดดน้อยลงจากช่วงเวลาปกติ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยแล้วทำไมต้องปลูก ในเมื่อมันควบคุมยาก ที่ต้องปลูกข้าวไวแสงเพราะข้าวหลายสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติเด่นๆ มันเป็นข้าวที่ถูกควบคุมด้วยยีน หรือพันธุกรรมที่ตกค้างมาจากพันธุ์ป่า หรือพันธุ์ดั้งเดิมที่เกิดจากการปรับตัวตามธรรมชาติ เพื่อให้ดำรงเผ่าพันธุ์ตนเองไว้ได้ เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวกข15 ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติ นุ่มหอม และเป็นที่ต้องการของตลาดแสงแดดปกติที่ส่องถึงพื้น ผิวโลกของประเทศไทยเราคิดคำนวณที่ 12 ชั่วโมง ส่วนข้าวไวต่อช่วงแสง คือข้าวที่จะออกดอกเมื่อได้รับแสงน้อยกว่า 12 ชั่วโมง โดยข้าวไวต่อช่วงแสงมี 2 แบบ ข้าวไวน้อยต่อช่วงแสง (Less Sensitive to Photoperiod) จะออกดอกเมื่อความยาวกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 40-50 นาที และข้าวไวมากต่อช่วงแสง (Strongly Sensitive to Photoperiod) จะออกดอกเมื่อความยาวกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 10-20 นาที

ฉะนั้นเมื่อเลือกปลูกข้าวพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสง ไม่ว่าจะเริ่มปลูกเมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ้งเป็นช่วงที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน ข้าวก็จะออกดอกทันที จึงเป็นที่มาของคำว่า “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ”(12 ส.ค. – 5 ธ.ค.) เพราะพันธุ์ข้าวที่เราปลูก คือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าว กข15 ซึ่งเป็นข้าวหนักมีอายุการเก็บเกี่ยว มากกว่า 120 วัน หากเราปลูกเร็วเกินไปก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้น หากปลูกช้าเกินไป ข้าวก็จะไม่สามารถสะสมอาหารได้เต็มที่ก่อนออกรวง ทำให้ผลผลิตลดลงนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าวอินทรีย์เป็นการผลิตทางการเกษตรที่เน้นเรื่องของธรรมชาติเป็นสำคัญ อีกทั้งยังสามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการรักษาสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในทุกๆวันนี้โลกมีวิวัฒนาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย ในขณะที่การใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชยั
การดูแลรักษาแปลงอ้อยโดยใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก อ้อยเป็นพืชที่มีการปลูกเป็นแถว มีระยะห่างระหว่างแถวตั้งแต่ 80 – 180 เซนติเมตร ปลูกได้ทั้งแบบร่องคู่และร่องเดี่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะการเจริญเติบโตของแต่ละพันธุ์อ้อยและความอุดมสมบูรณ์ของสภาพดินและน้ำ อีกทั้งเมื่อปลูกแล้วอ้อยยังสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง