การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery pool model)

การทำเกษตรกรรมในยุคปัจจุบัน เกษตรกรยุคใหม่จำเป็นต้องหันมาใช้ระบบการรวมกลุ่ม เพื่อร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาแนวทางการทำเกษตรของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต  เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง” (เกษตรทิพย์) ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มกันทำการเกษตร จึงได้รวมกลุ่มกันผลิตข้าวอินทรีย์และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้สอดคล้องกับการดำเนินงานของสยามคูโบต้าที่มุ่งพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมสนับสนุนชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้โครงการ “ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” ที่ต้องการพัฒนาชุมชนเกษตรเข้มแข็งต้นแบบอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรด้วย KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร หรือ KAS ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรภายในกลุ่ม ควบคู่ไปกับการจัดการระบบเกษตรกรรมในขั้นตอนต่างๆ เช่น การเตรียมดิน การทำนาดำหรือนาหยอด และการทำเกษตรปลอดการเผา เป็นต้น

ปัจจุบันทางกลุ่มฯ มีจำนวนสมาชิก 1,254 คน มีพื้นที่การเพาะปลูกกว่า 21,000 ไร่ และด้วยองค์ความรู้ KAS ที่สยามคูโบต้าได้ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ทำให้ชาวบ้านบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรในแต่ละขั้นตอนของการปลูกข้าวอินทรีย์ได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในขั้นตอนการเตรียมดิน  เกษตรกรจะใช้แทรกเตอร์ต่อพ่วงกับอุปกรณ์เตรียมดินได้หลากหลาย เพราะมีการทำนาแห้งและนาน้ำตม จากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนการเพาะปลูกได้ใช้รถดำนาและเครื่องหยอดแทนการทำนาหว่าน ทำให้ต้นข้าวมีระยะห่างระหว่างกอที่เหมาะสม ลดค่าใช้จ่ายเมล็ดพันธุ์และแรงงานคนในการปลูก นอกจากนี้ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ทางกลุ่มฯ ได้ใช้รถเกี่ยวนวดข้าว ทำให้เก็บเกี่ยวได้ทันเวลา ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงความต้องการของตลาด หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ได้ใช้เครื่องอัดฟาง เพื่อลดการเผาไหม้ฟางและลดมลพิษภายในชุมชน *ซึ่งผลลัพธ์จากการปลูกข้าวด้วยวิธีใช้รถดำนา พบว่า ได้ผลผลิต 540 กก./ไร่ และได้กำไร 4,442 บาท/ไร่ ส่วนวิธีหยอดแห้ง ได้ผลผลิต 530 กก./ไร่ และได้กำไร 4,606 บาท/ไร่

ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ มีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ซื้อในนามกลุ่มฯ ได้แก่

1. แทรกเตอร์ รุ่น L4708 1 คัน

2. รถดำนาเดินตาม 6 แถว 1 คัน

3. รถเกี่ยวนวดข้าว 2 คัน รุ่นDC95 และ DC105

4. เครื่องอัดฟาง 1 เครื่อง

โดยมีแนวทางในการจัดสรรให้เกษตรกรได้ใช้งานร่วมกัน ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานเครื่องจักรกลการเกษตรขึ้นมา ทำการสำรวจความต้องการและอธิบายเงื่อนไขการให้บริการต่างๆ เช่น ลักษณะพื้นที่ วิธีการทำนา และราคาการให้บริการที่เป็นธรรม หลังจากนั้นจะทำแผนออกให้บริการแก่สมาชิก นอกจากนี้ ทีมงานสยามคูโบต้ายังได้จัดอบรมการใช้งานและดูแลรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรเบื้องต้นให้แก่สมาชิกอีกด้วย

หลังจากที่เกษตรรวมกลุ่มกันใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ส่งผลให้ทางกลุ่มฯ  มีเครื่องจักรกลการเกษตรในการทำนาอย่างครบวงจร และมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่คุ้มทุนและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรแก่สมาชิกได้อย่างทั่วถึงและทันต่อช่วงเวลาการเพาะปลูกในทุกๆ ช่วง ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง เป็นชุมชนเกษตรต้นแบบแห่งที่ 2 ที่สยามคูโบต้า จัดตั้งขึ้น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้แก่เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเองให้ประสบความสำเร็จต่อไป

*หมายเหตุ : ตัวเลขทั้งหมดได้จากการเก็บข้อมูลของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ในปี 2559 โดยผลการทดสอบอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ  การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

การระบาดของแมลงศัตรูอ้อยในช่วงเดือนต่างๆ ได้แก่ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอลายจุดใหญ่ หนอนกอลายใหญ่ หนอนกอลายแถบแดง หนอนกอสีชมพู หนอนกอสีขาว แมลงหวี่ขาวอ้อย เพลี้ยกระโดดอ้อย เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นงวง เพลี้ยกระโดดดำ เพลี้ยหอยอ้อย เพลี้ยอ่อนสำลี เพลี้ยแป้งสีชมพู มวนอ้อย ไรแมงมุมอ้อย ด้วงหนวดยาวอ้อย แมลงนูนหลวง ปลวกอ้อย แมลงค่อมทอง ด้วงขี้ควาย ด้วงดำ ด้วงงวงอ้อย ตั๊กแตนไฮโรไกรฟัส ตั๊กแตนโลกัสต้า ตั๊กแตนปาทังก้า และหนอนบุ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptocorisa acuta (Thunberg) Leptocorisa oratorius (Fabricius) วงศ์ : Alydidae อันดับ : Hemiptera ชื่อสามัญอื่น
ดินทราย – เนื้อดินมีลักษณะหยาบ (ทรายจัด) – ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก – การระบายน้ำดีมาก – พบมากในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับดินทราย ดินร่วนปนทราย – เนื้อดินค่อนข้างหยาบ – ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ – การระบายน้ำดี