การปลูกถั่วเหลืองในวิกฤติภัยแล้ง

 ถั่วเหลือง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 65-75 วัน (บริโภคสด) และ 85-95 วัน (เมล็ดแห้ง) ใช้น้ำน้อย ทนแล้ง นิยมใช้ในระบบปลูกพืช การปลูกถั่วเหลืองในระบบปลูกพืชมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่

  • ตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าว
  • ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดิน
  • ลดรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชครั้งต่อไป
  • เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิต

การปลูกถั่วเหลือง

1.พื้นที่ปลูก

ถั่วเหลืองสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนเหนียว และดินร่วนเหนียวปนทราย ค่าความเป็นกรดด่างของดิน 5.5-7.0 พื้นที่น้ำท่วมขังควรมีร่องระบายน้ำ

2.ฤดูปลูก

ฤดูแล้งเป็นฤดูที่เหมาะสม ปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน-ปลายเดือนธันวาคม โดยปลูกได้ทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี แต่ต้องตรวจสอบความชื้นในดินด้วย

3.สภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 15-35 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เมล็ดจะงอกช้าลง อาจใช้เวลานาน 8-10 วัน

4.พันธุ์

พันธุ์ถั่วเหลืองที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์เชียงใหม่ 60 และเมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์

5.การเตรียมดินและปลูก

การปลูกถั่วเหลืองในนาที่มีการชลประทานหลังการเก็บเกี่ยวข้าวไม่จำเป็นต้องไถพรวนดิน แต่ต้องขุดร่องรอยและผ่านกลางนาเพื่อใช้เป็นร่องระบายน้ำออกจากแปลง ระยะห่างร่อง 3-5 เมตร หลีกเลี่ยงการปลูกในสภาพดินทรายจัด โดยใช้อัตรา 12-15 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถปลูกแบบหว่านและพรวนดินกลบ และปลูกเป็นแถวใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50 ซม. ระหว่างต้น 20 ซม. จำนวน 3-5 ต้นต่อหลุม

6.การใส่ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยเกรด 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านพร้อมกับการเตรียมดิน

7.การให้น้ำ

อย่าให้ถั่วเหลือง ขาดน้ำช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ผลผลิตลดลง

8.การป้องกันกำจัดวัชพืช

วัชพืชใบแคบ พ่นฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล(15% EC) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรหรือควิซาโลฟอบ-พี-เทฟิวริล(6% EC) 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังงอก พ่นคลุมไปบนต้นเหลืองและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก

วัชพืชใบกว้าง พ่นหลังงอก พ่นโฟมีซาเฟน(25% EC) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คลุมไปบนต้นถั่วเหลืองและวัชพืช ระยะที่วัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วันหลังงอก ห้ามเกินอัตราที่กำหนด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเหลือง

9.แมลงศัตรูที่สำคัญ

1)  ระยะต้นกล้า

–  หนอนแมลงวันเจาะลำต้น ฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง เช่น ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหลังจากถั่วเหลืองงอกไม่เกิน 7-10 วัน และพ่นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน

2)  ระยะออกดอกและติดฝัก

–  แมลงหวี่ขาว พ่นด้วยสารเคมีป้องกำจัด เช่น อะเซทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการทำลายใบยอดย่น และใบหงิกงอ ในระบะถั่วเหลืองเจริญเติบโตจนถึงระยะติดฝักอ่อนและฝักยาวเต็มที่อีก 2 ครั้ง พ่น 2-3 ครั้งห่างกัน 7-10 วัน

–  หนอนเจาะฝัก ให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% อีซี (ฮอสตาไธออน 40 อีซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร 1-2 ครั้งให้ห่างกัน 10 วัน

10.โรคที่สำคัญ

–  โรครากและโคนเน่า คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

11.การเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวฝักสดเมื่ออายุ 65-75 วัน เมล็ดแห้งเก็บเกี่ยวเมื่อใบร่วง ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ร้อยละ 95 ของจำนวนฝักทั้งหมดโดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ต้นถั่วเหลืองที่เก็บเกี่ยวแล้วผึ่งไว้ในแปลง 1-2 วัน จึงนำไปนวดด้วยเครื่องนวดถั่วเหลืองที่มีความเร็วรอบ ไม่เกิน 500 รอบต่อนาที กะเทาะเมล็ดออกจากฝักและร่อนทำความสะอาดไปพร้อมกัน นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นให้เหลือประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ บรรจุเมล็ดถั่วเหลืองในกระสอบที่สะอาดและเย็บปากกระสอบให้มิดชิดเพื่อเก็บรักษาหรือส่งจำหน่าย

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

เกษตรกรมักขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง หรือหาเมล็ดพันธุ์ได้ไม่ทันต่อช่วงเวลาปลูก ดังนั้นจึงควรหาวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยเริ่มจาก

  1. ใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้
  2. ปลูกและปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนะ
  3. เพื่อปราศจากการปนพันธุ์ หมั่นตรวจสอบแปลงและขจัดพันธุ์ปน อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ระยะต้นกล้า ระยะออกดอกและติดฝัก
  4. เก็บเกี่ยวโดยใช้เคี่ยวเกี่ยวต้น ขณะใบร่วง ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ร้อยละ 95 จะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่าเครื่องเกี่ยวนวด
  5. ภายหลังกะเทาะเมล็ด ทำความสะอาด ตากเมล็ดอีกครั้งให้แห้งสนิทเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 10-12 เปอร์เซ็นต์(ตาก 1-2 แดด) ทดสอบโดยใช้ฟันขบเมล็ดจะมีเสียงดังกร๊อบและแตกเป็นชิ้นเล็กๆ

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

ภาชนะที่ใช้บรรจุต้องสะอาดและสามารถปิดได้มิดชิด เช่น ถุงพลาสติกชนิดหนา ปิ๊บ ถังพลาสติก หรือ ถังน้ำมันที่มีฝาปิดได้สนิทขนาดต่างๆ วางภาชนะไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้นจากฝน มีการป้องกัน แมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ เข้ารบกวน สามารถเก็บเมล็ดได้ข้ามปี ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การปลูกอ้อยข้ามแล้ง หรือ การปลูกอ้อยปลายฤดูกาลปลูกอ้อยแบบหนึ่งนอกฤดูฝนโดยอาศัยปริมาณน้้าฝนในช่วงปลายฤดูฝนมาสะสมอยู่ในรูปของความชื้นในดิน และอ้อยจะอาศัยความชื้นดังกล่าว มาช่วยในการงอกและการเจริญเติบโต จนกระทั่งฤดูฝนใหม่จะมาถึงหรือฝนตกหลงฤดูตกมาเติมความชื้นในดินใหม่ให้เพียงพอต่อความเจริญเติบโตของอ้อย