สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย

สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย หมายถึง สภาพของดินอยู่ในสภาวการณ์ขาดอากาศ (ออกซิเจน) ทำให้รากอ้อยเกิดสภาวการณ์ขาดอากาศเช่นกัน เป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตหรือตายได้ โดยที่อ้อยแสดงอาการทางใบ คือ ใบอ้อยจะค่อย ๆ มีสีเหลืองซีด ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งอ้อยตาย นอกจากนี้ยังทำให้คุณสมบัติของดินเปลี่ยนแปลงไปในทางลบต่อการเจริญเติบโตของอ้อย เช่น ดินจะมีการอัดตัวแน่นมากขึ้น การชะล้างหน้าดิน การปลดปล่อยธาตุอาหารของดินลดลง ตัวจุลินทรีย์ในดินตาย และอื่น ๆ

สภาวะน้ำขังในแปลงอ้อย

1. สภาวะน้ำท่วมขังยอดอ้อย (น้ำท่วมมิดยอดอ้อย) หมายถึง สภาวะน้ำท่วมขังยอดอ้อยหรือสภาวะอ้อยอยู่ใต้น้ำ ซึ่งสภาวะแบบนี้จะทำให้อ้อยขาดอากาศอย่างรวดเร็ว แล้วจะทำให้อ้อยตายอย่างรวดเร็วเช่นกัน ถือว่ามีระดับความรุนแรง (ความเสียหาย) ของอ้อยอย่างมาก และมากกว่าสภาวะน้ำขังแบบอื่น ๆ แต่ถ้าหากน้ำท่วมขังระยะเวลาสั้น ๆ จะทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต สำหรับสภาวะแบบนี้จะมีผลโดยตรงทางลบต่อผลผลิตอ้อยและการไว้ตอ พื้นที่ลักษณะนี้ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มมาก ๆ (บึง/ หนอง/ แอ่งรับน้ำ) และพื้นที่นาลุ่ม

ระดับความรุนแรง (ความเสียหาย): จะมีความรุนแรงมากจนทำให้อ้อยตายในระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะอ้อยเล็กหรือระยะอ้อยกำลังงอก สำหรับระยะเวลาน้ำท่วมขังยอดอ้อยที่ทำให้อ้อยตายที่ 50 % คือ ระยะเวลาน้ำท่วมขังยอดอ้อยที่ 2, 3 และ 5 วัน ของระยะอ้อยงอก ระยะอ้อยแตกกอ และระยะอ้อยย่างปล้อง

การบริหารจัดการ: หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่แอ่งกระทะ และมีการวางแผนการระบายน้ำอย่างดี แต่ถ้าหากต้องการปลูกอ้อยในบริเวณดังกล่าว จะต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำทุกด้าน เพื่อกั้นน้ำเข้าท่วมแปลงและต้องสูบระบายน้ำออกให้ทันด้วย

2. สภาวะน้ำขังบนผิวดิน (น้ำขังโคนอ้อย) หมายถึง สภาวะน้ำขังบริเวณโคนอ้อยจะทำให้อ้อยขาดอากาศ (ออกซิเจน) เช่นกัน แต่มีระดับความรุนแรง (ความเสียหาย) น้อยกว่าอ้อยที่เกิดสภาวะน้ำท่วมขังยอดอ้อย เนื่องจากอ้อยมีรากอากาศที่ช่วยหาอากาศออกซิเจนแทนได้ อ้อยที่อยู่ในสภาวะนี้มักทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเท่านั้น หรืออ้อยมีอัตราอยู่รอดมากขึ้น สำหรับพื้นที่ลักษณะนี้จะเป็นพื้นที่ ที่อยู่สูงกว่าแบบที่ 1 ได้แก่ พื้นที่ริมแม่น้ำ คลอง ลำธาร และพื้นที่นาดอน

ระดับความรุนแรง (ความเสียหาย): จะมีความสัมพันธ์โดยตรงอย่างใกล้ชิดกับผลผลิตอ้อย หรือความสูญเสียผลผลิตอ้อย (%) อ้อยจะชะงักการเจริญเติบโต เช่น ความสูงของอ้อยขณะน้ำขังที่ 0.3, 1.2 และ 1.5 เมตร ทำให้อ้อยมีผลผลิต 2.72, 14.40 และ 15.36 ตัน/ไร่ หรือสูญเสียผลผลิต 93%, 10% และ 4% ตามลำดับ เพราะสภาวะนี้ทำให้อ้อยมีปริมาณรากน้อยและระบบรากตื้นเท่านั้น เป็นสาเหตุให้ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างมาก การไว้ตอลดลง และอ้อยจะไม่ทนแล้ง

การบริหารจัดการ: หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ที่เป็นทางน้ำไหล (ริมคลอง/ แม่น้ำ) และการปรับพื้นที่เพื่อระบายน้ำ 

3. สภาวะน้ำขังใต้ดิน (ระดับน้ำใต้ผิวดิน) หมายถึง บริเวณพื้นที่ดินไม่ถูกน้ำขังแต่มีสภาวะระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน ที่เรียกว่า “สภาพดินชุ่ม/ ฉ่ำน้ำ” ซึ่งสภาวะแบบนี้จะทำให้รากอ้อยขาดอากาศเช่นกัน ถ้าหากมีระดับน้ำใต้ดินสูง แสดงว่า ระดับน้ำอยู่ใกล้ผิวดินมากทำให้พื้นดินมีอากาศน้อย จะทำให้ปริมาณรากน้อย/ ลดลง ในขณะเดียวกันหากมีระดับน้ำใต้ดินต่ำ แสดงว่า ระดับน้ำอยู่ไกลผิวดินมาก ทำให้พื้นดินมีอากาศมากขึ้น ก็จะทำให้มีปริมาณรากมาก/ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่มีระดับความรุนแรงของอ้อยน้อยกว่าอ้อยที่เกิดสภาวะอื่นๆ ส่วนใหญ่พื้นที่ลักษณะนี้ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานที่ไม่มีน้ำท่วมขัง และที่ชุ่มน้ำ

ระดับความรุนแรง (ความเสียหาย): จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับน้ำใต้ดิน คือ ระดับน้ำใต้ดินใกล้ผิวดินมากเท่าไหร่ จะมีผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตของอ้อยมากเท่านั้น เช่นเดียวกับระยะเวลาน้ำขังแช่ พบว่า ระดับน้ำใต้ดินที่ 0.2, 0.4, 0.6 ,0.8 และ 1.0 เมตร (จากผิวดิน) จะทำให้อ้อยมีผลผลิต 2.2, 5.8, 9.4 และ 13.1 ตัน/ไร่ ตามลำดับ สำหรับระยะเวลาที่ระดับน้ำใต้ดิน 0.5 เมตร นาน 40, 80, 120, 160 และ 200 วัน จะทำให้อ้อยมีผลผลิต 14.9, 12.0, 9.1, 6.1 และ 3.2 ตัน/ไร่ ตามลำดับ สภาวะนี้คล้ายกับแบบที่ 2 แต่ความรุนแรงน้อยกว่า จึงทำให้อ้อยมีปริมาณรากน้อยและระบบรากตื้นเท่านั้น เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงอย่างมาก การไว้ตอลดลง และอ้อยจะไม่ทนแล้ง

การบริหารจัดการ: หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และมีการวางแผนการระบายน้ำ คือ การสูบน้ำออก เมื่อระดับน้ำใต้ดินอยู่ต่ำหรือใกล้ผิวดิน และวิธีเขตกรรม เช่น การพูนโคน การพรวนดิน เป็นต้น

ดังนั้น การปลูกอ้อยควรสำรวจสภาพพื้นที่เพาะปลูกว่าเหมาะสมต่อการปลูกอ้อยหรือไม่ เช่น สภาพหน้าดิน สภาพน้ำในดิน และการปรับระดับพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังไม่ว่าน้ำจะสูงระดับใด เป็นต้น ดังนั้นหากน้ำท่วมขังจะทำให้อ้อยขาดอากาศ ส่งผลต่อผลผลิต และอ้อยจะเน่าตายในที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

การระบาดของแมลงศัตรูอ้อยในช่วงเดือนต่างๆ ได้แก่ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอลายจุดใหญ่ หนอนกอลายใหญ่ หนอนกอลายแถบแดง หนอนกอสีชมพู หนอนกอสีขาว แมลงหวี่ขาวอ้อย เพลี้ยกระโดดอ้อย เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นงวง เพลี้ยกระโดดดำ เพลี้ยหอยอ้อย เพลี้ยอ่อนสำลี เพลี้ยแป้งสีชมพู มวนอ้อย ไรแมงมุมอ้อย ด้วงหนวดยาวอ้อย แมลงนูนหลวง ปลวกอ้อย แมลงค่อมทอง ด้วงขี้ควาย ด้วงดำ ด้วงงวงอ้อย ตั๊กแตนไฮโรไกรฟัส ตั๊กแตนโลกัสต้า ตั๊กแตนปาทังก้า และหนอนบุ้ง
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas rubrilineans การระบาด 1. ระบาดไปทางท่อนพันธุ์ 2. ระบาดโดยทางลม ฝน โดยพัดพาเชื้อจากต้นที่เป็นโรคไปติดต้นอ้อยข้างเคียง ลักษณะอาการ ใบมีเส้นสีแดงเป็นขีดยาวตามความยาวของใบบางครั้งรอยขีดติดกันเป็นปื้น ต่อมาเชื้อลามไปในยอด ทําให้มีอาการยอดเน่าบางพันธุ์อาจพบ