ถั่วเขียวเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชบำรุงดินและขายเป็นรายได้สำหรับเกษตรกร ต้นฤดูฝนช่วงแรกก่อนที่จะปักดำข้าวสามารถปลูกถั่วเขียว เก็บเกี่ยวผลผลิตและไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดได้
1. การเลือกพื้นที่ปลูก เกษตรกรที่มีการทำนาโดยวิธีปักดำข้าวสามารถปลูกถั่วเขียวได้ทุกพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่นาที่ระบายน้ำได้ดีจะทำให้ได้ผลผลิตถั่วเขียวสูง
2. การระบายน้ำ การระบายน้ำออกจากแปลงนาจะเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จของการปลูกถั่วเขียวก่อนข้าวในช่วงฤดูฝนว่าจะได้ผลผลิตมากหรือน้อย ดังนั้นในช่วงแรกในขณะที่ปลูกถั่วเขียวจะต้องเปิดคันนาทิ้งไว้เพื่อระบายน้ำออกจากแปลงนา
2.1 การเตรียมดิน เมื่อมีฝนต้นฤดูตั้งแต่ช่วงฝนสงกรานต์ ให้รีบไถดะเตรียมดิน (ครั้งที่ 1) เมื่อถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมให้ไถแปร (ครั้งที่ 2) เพื่อที่จะปลูกถั่วเขียวต่อไป
2.2 การปลูกไถแปร (ครั้งที่ 2) เมื่อมีฝนตกความชื้นพอที่จะปลูกแล้วหว่านเมล็ดถั่วเขียวอัตรา 4 – 5 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วคราดกลบ
2.3 การกำจัดวัชพืช หลังจากหว่านถั่วเขียว 5 – 7 วัน เมล็ดถั่วเขียวจะงอก ถ้างอกสม่ำเมอและงอกได้เร็วจะมีปัญหาวัชพืชน้อย ถ้าฝนตกชุกมีน้ำขังให้ระบายน้ำออก เพราะถั่วเขียวเป็นพืชที่ไม่ทนน้ำขัง ปล่อยให้ถั่วเขียวเจริญเติบโตจนกระทั่งเก็บเกี่ยว
2.4 การใส่ปุ๋ย เมื่อปลูกถั่วเขียวในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตถั่วเขียวสูงควรจะใส่ปุ๋ยคอก ปริมาณที่ใส่จะมากหรือน้อยตามที่เกษตรกรมีอยู่
2.5 การเก็บเกี่ยว เมื่อถั่วเขียวสุกแก่พอที่จะเก็บเกี่ยวได้อายุประมาณ 60 – 75 วัน เก็บฝักถั่วเขียวนำไปตากแดดให้แห้ง นวด แล้วนำเมล็ดไปจำหน่ายต่อไป
2.6 การไถกลบซากถั่วเขียว หลังจากที่เก็บเกี่ยวฝักถั่วเขียวแล้วให้ไถกลบต้นถั่วเขียวลงสู่ดินเพื่อเป็นปุ๋ยสำหรับข้าวต่อไป