ปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ข้อดีของปุ๋ยเคมีคืออุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ต้นไม้ต้องการ แต่ช่วงนี้ปุ๋ยเคมีราคาแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ดังนั้นปุ๋ยอินทรีย์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
ปุ๋ยอินทรีย์คืออะไร
ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้หรือผลิตจากวัสดุ อินทรีย์ ได้แก่ ซากพืช ซากสัตว์ รวมทั้งสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ และเศษขยะต่าง ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งผลิตด้วย กรรมวิธี ทําให้ขึ้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด หรือ วิธีการอื่น และวัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์
ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์
1. ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทําให้โครงสร้าง ของดินดีขึ้น เช่น ทําให้ดินโปร่ง ร่วนซุย มีการระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศดี ทําให้ระบบรากพืชเจริญเติบโตแผ่กระจายในดินได้ดีขึ้น สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารในดินไปให้พืชใช้ได้มากขึ้น ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
2. เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชครบถ้วนตามที่พืชต้องการ ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม โดยจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้า ๆ และอยู่ในดินได้นาน จึงมีโอกาสสูญเสียน้อยกว่าปุ๋ยเคมี และเมื่อใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะช่วยส่งเสริมให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
3. ช่วยเพิ่มแหล่งอาหารให้แก่จุลินทรีย์ในดิน ทําให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินเพิ่มขึ้น ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้แปรสภาพเป็นธาตุอาหารพืชได้มากขึ้น และจุลินทรีย์บางชนิดช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้ด้วย
ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์สามารถจําแนกตามแหล่งที่มาได้ 4 ชนิด ได้แก่
1. ปุ๋ยคอก
หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งขับถ่ายของ สัตว์ หรือมูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น โค กระบือ แกะ ม้า สุกร เป็ด ไก่ ค้างคาว ก่อนนําไปใช้จะต้องหมักไว้ให้เกิดการย่อยสลายก่อนนำไปใช้ โดยทั่วไปจะมีปริมาณธาตุอาหารในโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม อยู่ในปริมาณค่อนข้างต่ำ
2. ปุ๋ยหมัก
หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการหมักวัตถุดิบเหลือทิ้งที่เป็นสารอินทรีย์บางชนิด เช่น แกลบ ใบไม้ กิ่งไม้ เศษอาหาร เกิดจากนำวัตถุดิบเหล่านั้นมากองรวมกัน รดน้ำให้ชื้น ทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ย่อยสลาย โดยสามารถใช้จุลินทรีย์อื่นๆ เช่น กากน้ำตาล, E.M. ผสมเพื่อเพิ่มขบวนการย่อย จากนั้นนำไปใช้ปรับปรุงดิน
3. ปุ๋ยพืชสด
เป็นปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งได้จากการไถกลบต้น ใบ ดอก และส่วนต่าง ๆ ของพืช โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วไถกลบในระยะช่วงออกดอก จนถึงดอกบานเต็มที่ ซึ่งเป็นช่วงที่มีธาตุไนโตรเจนในลําต้นสูงสุด แล้วปล่อยไว้ให้เน่าเปื่อยผุพัง ย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืชที่จะปลูกตามมา พืชตระกูลถั่วที่ใช้เป็นปุ๋ยพืชสด เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ ปอเทือง โสนอัฟริกัน เป็นต้น ปุ๋ยพืชสดนอกจากจะให้ธาตุไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักแก่พืชแล้ว ยังให้ธาตุอาหารอื่น ๆ ที่จําเป็นแก่พืชด้วย
4. น้ำหมักชีวภาพ
ได้จากการหมักชิ้นส่วนของพืชผัก ผลไม้ หรือ สัตว์ชนิดต่าง ๆ กับกากน้ำตาล และน้ำ ผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ประกอบด้วยสารต่าง ๆ เช่น ธาตุอาหารพืช ฮอร์โมน กรดอะมิโน กรดฮิวมิก กรดอินทรีย์ เอ็นไซม์ วิตามิน มีผลต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช กระตุ้นการงอกของราก ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น สีสันและรสชาติดีกว่าเดิม ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต
วิธีการทําสูตรผักและผลไม้
หั่นหรือสับผักและผลไม้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ 40 กิโลกรัม ผสมกับกากน้ำตาล 10 กิโลกรัมในถังหมัก ใส่สารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 (เตรียมโดยใช้ จํานวน 1 ซอง ผสมน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากันประมาณ 5 นาที) ลงในถังหมัก ปิดฝาไม่ต้องสนิท วางในที่ร่ม ในระหว่างการหมัก คน 1-2 ครั้งต่อวัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ จะเห็นฝ้าขาวเกิดขึ้นซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ และมีกลิ่นแอลกอฮอล์ ถ้าน้ำหมักสมบูรณ์ คราบเชื้อจุลินทรีย์ลดลง ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง
อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก
- ข้าว : ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนการปลูกพืช
- พืชไร่ : ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ โดยโรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืชแล้วคลุกเคล้ากับดิน
- พืชผัก : ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 4 ตันต่อไร่โดยหว่านหัวแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน
- ไม้ตัดดอก : ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่
- ไม้ผล ไม้ยืนต้น : ใช้ 20 – 50 กิโลกรัมต่อตัน ขึ้นกับอายุของพืช ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในร่องและ
กลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม
ปุ๋ยพืชสด
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการไถกลบพืชเพื่อให้ได้ ปุ๋ยพืชสดที่ดี คือระยะออกดอกเต็มที่ ส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้ พืชตระกูลถั่ว โดยส่วนใหญ่ จะทําการไถกลบเมื่ออายุระหว่าง 45 – 60 วัน ปล่อยให้เน่า สลายกลายเป็นปุ๋ยประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม
น้ำหมักชีวภาพ
ใช้น้ำหมักชีวภาพ 4 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 80 ลิตรต่อไร่ ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 7-10 วัน
ข้อจํากัดของปุ๋ยอินทรีย์
1. ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารพืชอยู่น้อย หากต้องการให้พืชได้รับธาตุอาหาร เพื่อยกระดับผลผลิตให้ได้เท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมี จะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นจํานวนมาก มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง และใช้แรงงานในการใส่ปุ๋ยมากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมี
2. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถปรับแต่งปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินและพืชได้ เนื่องจากแหล่งของปุ๋ยอินทรีย์ได้มาจากซากพืชและสัตว์ มีความผันแปรของธาตุอาหารพืชต่าง ๆ ในปุ๋ย ทําให้ไม่สามารถปรับสมดุลของธาตุอาหารพืชในดินได้ เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี
3. ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิดอาจมีโลหะหนักหรือสารพิษปนเปื้อน โดยเฉพาะปุ๋ยหมักที่ทําจากขยะที่รวบรวมจากเมืองใหญ่ หรือวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อพืชดูดขึ้นไปใช้ คนหรือสัตว์ที่บริโภคผลผลิตนั้น อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้
ข้อควรคำนึง “ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี” ดีที่สุด