ปลูกผักหลังนา สร้างรายได้เสริม

การทำนาในประเทศไทย เกษตรกรมีการปลูกข้าวนาปี หรือ ข้าวที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก เป็นส่วนมาก ซึ่งเพาะปลูกได้เพียงหนึ่งรอบต่อปี เกษตรกรหลายรายจึงจำใจปล่อยแปลงนาของตนให้รกร้าง ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นการเสียโอกาสในการสร้างรายได้เป็นอย่างมาก

แต่พี่น้องเกษตรกรที่ ต.ปากดุก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นั้น ไม่ปล่อยให้พื้นที่นาว่างเปล่า พวกเขามีการรวมตัว
กันเป็น วิสาหกิจชุมชนปากดุก เพื่อผลิตผักสร้างรายได้เสริมหลังนา เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องภายในชุมชน และเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วก็ไม่ได้ปลูกผักแบบธรรมดาอย่างเช่นเกษตรกรทั่วไปที่ใช้สารเคมีโดยไม่สนข้อกำหนดหรือมาตรฐาน สิ่งนี้เป็นผลเสียให้กับทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภคผักที่ต้องบริโภคผักที่อาจมีสารเคมีตกค้าง สมาชิกในกลุ่มได้ร่วมกันทำการศึกษาและปฏิบัติในแนวทางเกษตรปลอดภัย จนได้รับการรับรองมาตรฐานผักปลอดภัย หรือ GAP ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมการทำเกษตรปลอดภัยมาตรฐาน GAP ประกอบไปด้วย 8 ด้าน คือ 

1.  การจัดการดินที่ดี มีการรักษา และปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์

2.  การจัดการน้ำ เลือกใช้ระบบการให้น้ำมีประสิทธิภาพสูง

3.  การผลิตพืช คัดเลือกพันธุ์หรือสายพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลงศัตรู

4.  การป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพที่ปลอดภัย

5.  การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปในระดับไร่นา เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม

6.  การจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงและของเสียจากไร่นา

7.  สุขภาพและความปลอดภัยของเกษตรกรหรือผู้ปฏิบัติ

8.  ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชป่าและสภาพภูมิประเทศ

ขั้นตอนการปลูกผักหลังนา

1.  หลังจากที่เกษตกรเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อยแล้ว จะทำการเก็บฟางข้าวที่อยู่ในแปลงนา โดยมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรต่อพ่วงเครื่องอัดฟาง ในการลดต้นทุนด้านแรงงาน ประหยัดเวลา และยังประหยัดพื้นที่ในการเก็บรักษาฟางข้าวได้มาก

2.  ทำการเตรียมดินโดยไถกลบตอซัง ซึ่งใช้ผานบุกเบิก 1 ครั้ง ผานพรวน 1 ครั้ง ให้ก้อนดินละเอียด แล้วทำการยกร่องและใช้โรตารีปั่นเพื่อให้เกิดความร่วนซุย และเหมาะแก่การเพาะปลูกผัก

3.  การเพาะปลูกผักมีทั้งแบบย้ายกล้า และแบบหว่านเมล็ดขึ้นอยู่กับชนิดของผัก ซึ่งการปลูกผักแบบที่ต้องหว่านเมล็ด เมื่อหว่านเมล็ดแล้ว ต้องใช้ฟางข้าวในการคลุมดิน รักษาความชุ่มชื้นของดินและป้องกันวัชพืชไม่ให้เจริญเติบโตแข่งกับผัก

เคล็ดลับ 

ในการปลูกผักแบบย้ายกล้า เมื่อถึงเวลาย้ายกล้า ให้ขุดหลุม รดน้ำในหลุม และปลูกกล้าลงในหลุม โดยการรดน้ำนั้น ในช่วง 3 วันแรกให้รดน้ำทุกวัน และหลังจาก 3 วันแรกให้รดน้ำทุกๆ 2 วัน แต่ต้องสังเกตความชื้นของดิน ความเหมาะสมของสภาพอากาศ ซึ่งในการรดน้ำนั้น จะรดเฉพาะจุดแค่ภายในหลุม เพื่อประหยัดน้ำในการเพาะปลูกและป้องกันวัชพืช

จากการที่ทางกลุ่มเปลี่ยนมาปลูกผักแบบปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้นจากการที่ใช้แปลงนาอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขายผักที่คุณภาพดีส่งขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ราคาผลผลิตจึงมีราคาเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับผักทั่วไป นอกจากจะขายได้ราคาสูงแล้ว การปลูกผักปลอดภัยทำให้การทำการเกษตรของเกษตรกร และการบริโภคของผู้บริโภคมีความปลอดภัย ห่างไกลจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากจะสามารถสร้างร้ายได้เพิ่มมากขึ้นจากการปลูกผัก GAP แล้ว การเก็บและอัดฟางยังสามารถนำฟางไปใช้ประโยชน์ ได้หลายอย่าง เช่น ปุ๋ยหมัก อาหารสัตว์ และวัสดุคลุมดินในการรักษาความชุ่มชื้น ซึ่งการไถกลบตอซังยังเป็นการประหยัดต้นทุนอีกทางหนึ่ง เป็นการเติมอินทรียวัตถุกลับคืนสู่ดิน ระบบนิเวศของแปลงนาจึงไม่เสีย มีตัวเบียน จุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ในการทำการเกษตร จึงเป็นการบำรุงดินให้แปลงนามีดินที่คุณภาพดี ส่งผลให้ได้ผลผลิตสูง

สรุป

การปลูกผักหลังนาสามารถเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร แต่พี่น้องเกษตรกรต้องมีวิธีการปลูกผักที่มีมาตรฐาน (GAP) มีเทคนิคการปลูกผัก ทั้งการประหยัดน้ำในการเพาะปลูกที่ช่วยในการลดต้นทุน มีการนำฟางข้าวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ ดังนั้นการทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จต้องมีวิสัยทัศน์ในการมองภาพให้กว้างไกล เปิดใจปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง

1.การเตรียมการก่อนปลูก 1.1 การเตรียมดิน1) ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกคือดินทรายหรือดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดและด่างของดิน pH มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.82) การเตรียมดิน ควรไถดินตากไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวนอีก 1 – 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยหมักหรือ
การทำการเกษตรแบบปลอดการเผามีความจำเป็นต้องมีการจัดการระบบการเพาะปลูกพืชให้ถูกต้องและเหมาะสม โดยควรมีการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆเข้ามาใช้ในแต่ละขั้นตอนการผลิตเพื่อสนับสนุนการหยุดการเผาในไร่นาควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช การพัฒนาการเตรียมดิน การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการพัฒนาการเตรียม
แอลฟาทอกซินในข้าวโพด เชื้อสาเหตุ: เกิดจากเชื้อรา Aspergillus flavus ลักษณะอาการ: เชื้อรา Aspergillus flavus จะสร้างกลุ่มของสปอร์สีเหลืองปนเขียว ซึ่งเห็นความแตกต่างได้จากโรคจากเชื้อราอื่น ๆ เมื่อทำการเก็บเกี่ยว การแพร่ระบาด: เชื้อราตัวนี้สามารถเจริญบนไหมของฝักข้าวโพดและเจริญเข้าไป