น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการใช้น้ำกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำสำหรับผลิตอาหารและพลังงานซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำสะอาดที่ใช้ในการบริโภคทั้งหมดของโลก แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำสะอาดที่มีอยู่ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางน้ำที่เกิดจากมนุษย์รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปัญหาขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายส่วนของโลก ดังนั้นการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งทางตรงและทางอ้อมและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบปฏิบัติโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ ภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ
Water Footprint (รอยเท้าน้ำ) คือตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมใน Supply Chain ซึ่งเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั้งสินค้าส่งถึงมือผู้บริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทราบถึงปริมาณน้ำที่ใช้จริงในกระบวนการต่างๆ
องค์ประกอบของWater Footprint
Water Footprint ถูกแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ โดยใช้สี 3 สีประกอบคำอธิบายในการจำแนก Water Footprint คือ สีเขียว, สีฟ้า และสีเทา เพื่อให้ทราบถึงต้นตอแหล่งทรัพยากรน้ำที่ใช้จนสามารถหาวิธีการจัดการทรัพยากรน้ำใหถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
1. Green Water Footprint (รอยเท้าน้ำสีเขียว)
คือปริมาณน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่เพาะปลูกและถูกเก็บกักในเขตรากถูกพืชดูดขึ้นมาใช้ในกระบวนการระเหย การคายน้ำ และการสังเคราะห์แสงของพืช
2. Blue Water Footprint (รอยเท้าน้ำสีฟ้า)
คือปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำใต้ดินที่ถูกใช้ในการผลิตสินค้าแล้วสูญเสียไป ในกระบวนการผลิต
3. Grey Water Footprint (รอยเท้าน้ำสีเทา)
คือปริมาณน้ำดีที่ต้องใช้ในการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ
Crop Water Footprint คือผลรวมของปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตพืช ปริมาณน้ำจากแห่งน้ำที่นำมาใช้ และปริมาณน้ำดีที่ต้องใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากการผลิตพืช
Water Footprint ของกล่ำปลี
Water Footprint ของแอปเปิล
Water Footprint กับการวางแผนการจัดการน้ำ มีประโยชน์ต่อการการวางแผนบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ และระดับประเทศนอกจากนี้การมีข้อมูล Water Footprint ที่ถูกต้องยังช่วยให้เกษตรกรและ ผู้วางนโยบายของประเทศสามารถตัดสินใจได้ว่าควร เพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมากในบริเวณใด ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การลด Water Footprint น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดการน้ำทั้งในระดับประเทศในภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยภาครัฐควรส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยังยืน มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม และลดความเสี่ยงในการทำลายสภาพแวดล้อม ส่วนผู้บริโภคสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่การลดการใช้น้ำโดยตรง ลดการทิ้งอาหารอย่างสูญเปล่า และลดการบริโภคสินค้าที่ต้องใช้น้ำมากเป็นต้น