ชื่ออื่น : หนอนเจาะสมอฝ้าย American cotton bollworm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heliothis armigera (Hübner)
วงศ์ : Noctuidae
อันดับ : Lepidoptera
หนอนเจาะฝักข้าวโพด :
เป็นศัตรูที่ทำให้ข้าวโพดเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน ซึ่งมีความอ่อนแอต่อแมลงศัตรูพืช การทำลายจะกัดกินไหมข้าวโพดและเจาะทำลายที่ปลายฝักข้าวโพด เป็นสาเหตุให้พืชได้รับความเสียหาย และเสียราคา มักพบหนอนเจาะฝักข้าวโพด เมื่อข้าวโพดเริ่มออกดอก ระยะนี้หนอนจะเกาะกินอยู่ที่ช่อดอก และเมื่อข้าวโพดออกฝักมักพบตัวหนอนกัดกินที่เส้นไหมของ ฝักอ่อน แล้วจะกัดกินบริเวณปลายฝักต่อไป
รูปร่างลักษณะ :
การทำลายพืชจะเกิดขึ้นในระยะตัวหนอน สำหรับตัวเต็มวัยจะเป็นผีเสื้อกลางคืน จะวางไข่เท่านั้น และเป็นชนิดเดียวกับหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน
ลักษณะตัวหนอน :
ลำตัวของตัวหนอน จะมีขนขึ้นประปราย ลายพาดยาวบริเวณลำตัวซึ่งเห็นได้ชัดเจน ตัวหนอนมีสีเหลือง สีเขียวอ่อน ไปจนถึงสีค่อนข้างดำ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม อายุ และการลอกคราบ ในระยะตัวหนอนมักจะอยู่รวมกัน แต่เมื่อโตขึ้นจะไม่อยู่ใกล้กันเพราะจะกัดกินกันเอง ขนาดของหนอนโตเต็มที่ จะมีความยาว 35 – 40 มม. กว้าง 3 มม. มีสีแตกต่างกันหลายสี เช่น เหลือง น้ำตาล ชมพู ขาวนวล เขียว ดำและเทา เป็นต้น และมีแถบสีดำใหญ่ขนาด 0.5 – 1.0 มม. พาดตามความยาวด้านข้างๆละเส้น รูหายใจรูปวงแหวนสีดำอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้างของทุกปล้อง ส่วนหัวมีสีเหลืองน้ำตาล โดย หนอนจะเข้าดักแด้ในตอนกลางคืน เมื่อเข้าดักแด้ใหม่จะมีสีเขียว ตัวนิ่มแล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล ผิวแข็งแรงขึ้นและเป็นสีน้ำตาลก่อนจะออกเป็นตัวเต็มวัย โดยตัวเต็มวัยหรือผีเสื้อจะซ่อนตัวอยู่ตามซอกใบ จะออกหากินในเวลาพลบค่ำ
ผีเสื้อจะวางไข่ในที่มืดหรือเวลากลางคืน :
การวางไข่ใบเดี่ยวๆตามใบพืช ส่วนมากพบตามไหมข้าวโพดและตามยอดพืช ไข่มีสีเหลืองนวล หรือ เหลืองครีม เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 0.5 – 0.6 มม. ค่อนข้างกลมคล้ายฝาชี มีริ้วหยักจากยอดสู่ด้านที่ติดใบพืช ก่อนจะฟักเป็นตัวหนอน ไข่จะเปลี่ยนเป็น สีเข้มขึ้นโดยตัวแม่ผีเสื้อวางไข่ได้เฉลี่ย 1,100 ฟอง
ชีพจักรของหนอนเจาะฝักข้าวโพด ดังนี้
การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด :
จะพบแมลงชนิดนี้อยู่ทั่วไปที่มีการปลูกฝ้าย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ยาสูบ มะเขือเทศ และถั่วต่างๆ เพราะเป็นแมลงที่สามารถกินอาหารได้หลายอย่าง และมักจะระบาดในฤดูที่มีการปลูกฝ้าย โดยเฉพาะตอนออกสมอ สำหรับข้าวโพดนั้นจะมีการระบาดจำนวนมากในระยะที่ข้าวโพดเริ่มออกฝักหรือออกฝักแล้ว ระยะที่ทำอันตรายข้าวโพดได้มากคือระยะที่ฝักอ่อน
ศัตรูธรรมชาติ :
ในธรรมชาติจะมีแมลงศัตรูที่คอยทำลายไข่ของหนอนเจาะฝักข้าวโพด คือ
- แตนเบียนไข่ Trichogramma chilotreae, T.chilonis, T.australicum
- แมลงวันก้นขน (tachinid fly)
- แตนเบียนหนอน (Braconid)
- แมลงช้างปีกใส (Green Lacewing)
การป้องกันกำจัด :
ตัวหนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายในระยะที่ข้าวโพดออกดอกแล้ว โดยอาศัยกัดกินที่ช่อดอกตัวผู้ และเส้นไหมของฝัก จึงควรหมั่นตรวจสอบดูว่ามีหนอนเกิดขึ้นหรือยัง หากพบหนอน 1 ตัวต่อต้น ในข้าวโพดจำเป็นต้องป้องกันกำจัด วิธีที่ดีที่สุดคือการจับหนอนทิ้ง หากจำเป็นต้องพ่นสารฆ่าแมลงควรใช้ในระยะหนอนยังเล็กอยู่จึงจะได้ผลดี โดยใช้สารฆ่าแมลง ดังนี้
- Fipronil (Ascend 5%SC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20ลิตร
- Biferthin (Talstar 10% EC) อัตรา 30 มล./น้ำ 20ลิตร
- Flufenoxuron (Cascade 5% EC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20ลิตร
- Methomyl (Lannate 90% WP) อัตรา 11 กรัม/น้ำ 20ลิตร
- Monocrotophos (Azodrin 56% EC) อัตรา 18 มล./น้ำ 20 ลิตร