การปลูกอ้อยให้ได้ดีมีผลผลิตสูงต้องอาศัยการใช้พันธุ์อ้อยที่มีคุณสมบัติที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก และต้องอาศัยการดูแลรักษาเฝ้าระวังโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถได้ผลผลิตและค่าความหวานสูง
ลุง สรวิชญ์ ศรีพิมาน เกษตรกรคนเก่งแห่งกาญจนบุรี ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ปลูกอ้อยเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันได้ปลูกและจำหน่ายอ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อย ทั้งภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งพันธุ์อู่ทอง 15 นั้นเป็นพันธุ์อ้อยที่ได้รับการวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี โดยถ้าปลูกในช่วงปลายฝนจะให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 18 ตัน พื้นที่แนะนำคือ ดินร่วนปนทราย ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พื้นที่ที่นิยมปลูกในช่วงปลายฝน ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา และชลบุรี และพื้นที่ปลูกต้นฝน ได้แก่ ลพบุรี กาญจนบุรี
ลุงสรวิชญ์ กล่าวว่า การปลูกอ้อยพันธุ์ต้องมีการดูแลและบำรุงรักษามากเป็นพิเศษเพราะต้องปลูกอ้อยให้มีความสวยมีลำต้นที่ใหญ่ปลอดโรคและแมลง ซึ่งถ้าเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถนำความรู้และวิธีการจัดการแปลงตามแนวทางของลุงสรวิชญ์ไปปฏิบัติ พี่น้องชาวไร่อ้อยต้องได้รับอ้อยที่มีผลผลิตและค่าความหวานสูงอย่างแน่นอน
การปลูกพันธุ์อ้อยต้องมีหลักการ 5 ขั้นตอนคือ
1.ช่วงเวลาการปลูก
การเลือกช่วงเวลาการปลูกอ้อยพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญมาก ตามแบบของลุงสรวิชญ์นั้นการปลูกอ้อยพันธุ์ ต้องปลูกในช่วง เดือน มิ.ย.-ส.ค. เพราะเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยส่งโรงงานจะเริ่มปลูก ตอใหม่ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. และ พันธุ์อ้อยที่ดีควรมีอายุ 6-8 เดือน ดังนั้นการปลูกอ้อยในช่วง มิ.ย. – ส.ค. จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ทำให้ได้ท่อนพันธุ์ตรงช่วงความต้องการของเกษตรกร
2.การเตรียมดิน
การเตรียมดินปกติลุงสรวิชญ์จะไว้ตออ้อยถึงตอสาม โดยอ้อยปลูกใหม่(อ้อยตอแรก) จะขายเป็นท่อนพันธุ์ ส่วนอ้อยตอสองและตอสาม ใช้สำหรับขายเข้าโรงงาน การเตรียมดินจึงต้องพิถีพิถันหน่อย อันดับแรกต้องระเบิดดินดานด้วยอุปกรณ์ต่อพ่วงริปเปอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ ทำให้รากของอ้อยแผ่ขยายได้ลึก หลังจากนั้นจึงใช้ผานพรวน พรวนดินในแปลงอ้อยอีกครั้ง ดินจึงสามารถเก็บความชื้นได้ดีมีความอุดมสมบูรณ์ และสุดท้ายยกร่องเพื่อเตรียมวางท่อนพันธุ์
3.การปลูก
การปลูกอ้อยนั้น ลุงสรวิชญ์ มีเทคนิคคือต้องเลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่มีตาประมาณ 3-4 ข้อ มีความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ซึ่งท่อนพันธุ์ต้องได้มาจากอ้อยปลูกใหม่(อ้อยตอแรก)เท่านั้น เพราะอ้อยตอแรกเปรียบเสมือนอ้อยยังหนุ่มยังแน่น มีแรงมากโตไวแตกกอไว โดยปกติท่อนพันธุ์อ้อย 1 ข้อจะมี 1 ตา เท่านั้น และตาอ้อยที่ทำให้อ้อยเจริญเติบโตดีนั้น ควรมีอายุของอ้อยประมาณ 6 เดือน ดังรูป ตาของอ้อยจะใหญ่และสมบูรณ์พร้อมเจริญเติบโต
ถัดไปเป็นขั้นตอนในการเริ่มลงมือปลูก เมื่อเตรียมท่อนพันธุ์พร้อมแล้ว การวางท่อนพันธุ์มีเทคนิคที่ทำให้อ้อยแตกกอได้สม่ำเสมอ คือต้องวางเหลื่อมทับกันโดยส่วนที่ทับกันนั้นต้องเป็นส่วนปลายและส่วนโคนของต้นอ้อย ตามรูป
โดยการปลูกอ้อยในปัจจุบัน มีปัญหาความขาดแคลนแรงงานมีมากขึ้นเรื่อยๆ และค่าแรงงานก็สูงขึ้นมาก ถ้าพี่น้องเกษตรกรปลูกอ้อยด้วยเครื่องปลูกอ้อยพร้อมใส่ปุ๋ย จะสามารถลดต้นทุนจากค่าแรงได้มาก เพราะใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน และการปลูกอ้อยด้วยเครื่องปลูกอ้อย สามารถทำงานได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้เครื่องปลูกอ้อยยังสามารถปลูกอ้อยที่ระยะห่างระหว่างแถว 1.9 เมตร ซึ่งสามารถบำรุงอ้อยได้ดีขึ้น ด้วยการนำแทรกเตอร์ขนาดเล็กเข้าทำงานระหว่างแถวอ้อยในขณะที่อ้อยเจริญเติบโตจนสูง เพื่อพรวนดิน และฝังปุ๋ย ภายในแปลงอ้อย เพราะถ้าระยะห่างระหว่างอ้อยแคบก็ไม่สามารถนำแทรกเตอร์เข้าไปบำรุงรักษาอ้อยได้
ส่วนการใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม สูตร 16-24-0 ที่ใส่พร้อมการปลูกอ้อยนั้น เพื่อเร่งการแตกรากพร้อมการวางท่อนพันธุ์ลงหลุมและกลบหลุม ขั้นตอนถัดไปจึงทำการปล่อยน้ำเข้าร่องปลูกได้เลย โดยวิธีการใส่ปุ๋ยพร้อมกับการวางท่อนพันธุ์นั้นเป็นประโยชน์มากกับการเจริญเติบโต เนื่องจากเมื่ออ้อยแตกหน่อแล้วจะสามารถดูดรับสารอาหารของปุ๋ยบริเวณท่อนพันธุ์ได้ทันที อีกทั้งดินบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้นเนื่องจากมีปุ๋ยบริเวณท่อนพันธุ์มาก น้ำจากบริเวณใกล้เคียงจึงไหลเข้ามาบริเวณปุ๋ยตามกระบวนการ Osmosis ทำให้ท่อนพันธุ์เจริญเติบโตได้ดี
4.การดูแลรักษา
การดูแลรักษาต้องมีการหมั่นตรวจสอบโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเจอโรคหรือแมลงโจมตีจะสามารถหาวิธีแก้ไขได้อย่างถูกต้อง และขนาดระยะห่างระหว่างแถวที่กว้างจึงสามารถใช้แทรกเตอร์ขนาดเล็ก พรวนดิน และฝังปุ๋ยภายในแปลงอ้อยได้ โดยลดต้นทุนจากแรงงานที่ลดลง เป็นการดูแลบำรุงรักษาอ้อยได้อย่างครบวงจร ลุงสรวิชญ์กล่าวว่า “การทำการเกษตรนั้น ต้องอยู่กับแปลงตัวเองทุกวัน หมั่นเฝ้าสังเกตพืชของตน ถ้าไม่ดูแลปล่อยแปลงทิ้งไว้นานๆ ไม่มีทางปลูกพืชได้ผลดี” การใส่ปุ๋ยเมื่อใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมในครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็ใส่ปุ๋ยอีกหลังจากปลูกประมาณ 2-3 เดือน หรืออ้อยมีความสูงประมาณหัวเข่า ปุ๋ยที่ใส่คือสูตร 15-15-15 หรือ 25-7-7 ซึ่งนอกจากใส่ปุ๋ยเคมีแล้วก็ควรมีการบำรุงดินให้มีความร่วนซุยด้วยปุ๋ยอินทรีย์และปลูกพืชตระกูลถั่วหลังการรื้อตออ้อยทุกครั้ง สุดท้ายการใส่ปุ๋ยรอบที่ 3 ในช่วงที่อ้อยมีอายุประมาณ 5-6 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 28-12-8 เมื่ออ้อยมีอายุมากแล้ว ก็ไม่ต้องดูแลมากแค่ต้องมีการควบคุมน้ำ หมั่นดูแมลงศัตรูพืชและโรคไม่ให้มาลุกลาม
5.การเก็บเกี่ยวและจำหน่าย
ท่อนพันธุ์ ใช้การตัดอ้อยด้วยแรงงานคนในการทำท่อนพันธุ์ เพราะตาของอ้อยมีความสำคัญสำหรับการเพาะปลูก จึงไม่ต้องการให้ตาของอ้อยเสียหาย โดยการจำหน่ายท่อนพันธุ์ของลุงสรวิชญ์นั้น คิดราคาตามความยาวของแถว 40-50 บาท/เมตร( 1 ไร่ ~ 780 เมตร โดยคำนวณจากระยะตามยาวของแถว ซึ่งระยะห่างระหว่างกลางแถวคือ 1.9 เมตร) ซึ่งเมื่อคำนวณรายได้ ลุงสรวิชญ์สามารถสร้างรายได้ประมาณ 31,200 บาทต่อไร่(ยังไม่หักค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยว)
อ้อยส่งโรงงาน เป็นอ้อยตอสองและตอสาม ซึ่งเป็นอ้อยที่ต้องการน้ำหนักและค่าความหวานสูง การเผาใบอ้อยจึงไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพราะทำให้ทั้งน้ำหนักและความหวานของอ้อยลดลง ดังนั้นการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมจึงต้องอาศัยรถตัดอ้อย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อส่งโรงงานน้ำตาลและยังสามารถตัดปัญหา ความขาดแคลนแรงงานได้อีกด้วย ซึ่งการผลิตอ้อยส่งโรงงานนั้น มีราคาของอ้อยมีความผันผวน จากสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดการณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการ ผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ตันละ 850 บาท เมื่อเปรียบเทียบราคากันระหว่าง ผลผลิตทั้ง 2 แบบ การผลิตท่อนพันธุ์จำหน่ายมีต้นทุนจากค่าแรงงานเก็บเกี่ยวสูงมาก แต่เมื่อหักค่าจ้างแล้ว รายได้ก็ยังมากกว่าการผลิตอ้อยส่งโรงงาน
การทำอ้อยพันธุ์เป็นผลผลิตที่มีมูลค่าสูง มีมาตรฐานในการป้องกันโรคที่อาจจะระบาดติดไปกับอ้อยพันธุ์ ซึ่งการจะทำอ้อยพันธุ์ขายต้องมีการลงทะเบียน และมีการตรวจสอบโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรณีถ้าตรวจสอบพบโรคที่ติดไปกับอ้อยพันธุ์ แปลงอ้อยพันธุ์นั้นต้องถูกทำลายทั้งหมดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปยังพื้นที่อื่น การปลูกอ้อยพันธุ์จึงต้องอาศัยการดูแลอย่างมาก ดังนั้นถ้าเกษตรกรชาวไร่อ้อย เอาใจใส่ดูแลแปลงอ้อยของตนอย่างสม่ำเสมอนำวิธีการดูแลอ้อยดังที่กล่าว นำมาใช้กับการผลิตอ้อยของตนเองไม่ว่าจะเป็นอ้อยพันธุ์หรืออ้อยส่งโรงงาน “ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยจะต้องออกมาดีผลผลิตงามอย่างแน่นนอน”