คำแนะนำในการใช้คลอโรฟิลล์มิเตอร์สำหรับการใส่ปุ๋ย เพื่อเพิ่มคุณภาพของข้าว

การใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพดีและมีผลผลิตที่สม่ำเสมอ แต่ในดินที่มีการปลูกพืชมักจะขาดแคลนธาตุไนโตรเจน ทำให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในการทำนาทุกครั้ง ซึ่งในการใส่ปุ๋ย หากใส่มากเกินไป อาจทำให้ข้าวเกิดโรคและหักล้มง่าย หากใส่น้อยเกินไป อาจทำให้ได้ผลผลิตต่ำ นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาการใส่ปุ๋ยไม่ตรงกับระยะเวลาความต้องการของข้าวและใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมด้วย ทำให้การใช้ปุ๋ยไม่มีประสิทธิภาพและเกษตรกรมีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น

สยามคูโบต้า จึงเกิดแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาแนวทางการปลูกข้าวของชาวนาไทย ด้วยการนำเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ประเมินความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ในใบพืช โดยไม่ทำลายใบ ที่เรียกว่า คลอโรฟิลล์มิเตอร์ (Chlorophyll meter) ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และวัดผลได้รวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถกำหนดปริมาณการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ ช่วยให้เกษตรกรมีความเข้าใจในการใส่ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง

ขณะนี้ สยามคูโบต้า กำลังทำการศึกษาวิจัยในแปลงนาทดลองในพื้นที่ จ.อยุธยา โดยมีวิธีการศึกษาวิจัยการใช้คลอโรฟิลล์มิเตอร์ ดังนี้ 

1. เลือกสุ่มต้นข้าว โดยเลือกต้นที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุด และเลือกใบข้าวที่ 2-3 (นับจากใบบนสุดของต้นข้าว)

2. ทำความสะอาดใบข้าวให้ปราศจากน้ำและฝุ่นละออง 

3. ทำการวัดค่า โดยใช้ปากคีบของเครื่อง หนีบที่ใบข้าว โดยให้ตำแหน่งหัววัดอยู่บริเวณส่วนกลางใบให้มากที่สุด และไม่ควรให้ตรงเส้นใบหรือก้านใบ เพราะจะทำให้ได้ค่าที่ผิดพลาด และมีข้อแนะนำว่า ในขณะวัดค่าควรป้องกันให้พ้นจากการสัมผัสแสงแดดโดยตรง ด้วยการยืนในตำแหน่งหันหลังให้พระอาทิตย์ เพื่อให้ได้ข้อมูลการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

ทั้งนี้ ค่ามาตรฐานที่ใช้ประเมินความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ในใบข้าว แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. มีค่ามากกว่า >35 มีปริมาณไนโตรเจนสูงเกินไป ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย

2. มีค่าระหว่าง 35-30 มีปริมาณไนโตรเจนเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือใส่เพียงเล็กน้อย

3. มีค่าระหว่าง 30-25 มีปริมาณไนโตรเจนค่อนข้างต่ำ จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย

4. มีค่าน้อยกว่า <20 มีปริมาณไนโตรเจนต่ำมาก อาจเกิดจากความเสียหายของรากและใบ

ดังนั้น การใช้คลอโรฟิลล์มิเตอร์ในการตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารในใบข้าวตามระยะเวลาที่เหมาะสม จึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยจัดการธาตุอาหารได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตและช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย

ในอนาคต สยามคูโบต้า ยังได้วางแผนที่จะนำคลอโรฟิลล์มิเตอร์ ไปทำการศึกษาและทดลองกับกลุ่มพืชชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้ครอบคลุมและถ่ายทอดไปยังกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร  ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน

บทความที่เกี่ยวข้อง

มันมาอีกแล้ว” พื้นที่นาข้าวที่กำลังเขียวขจีในฤดูนาปลังปีนี้ เป็นทุ่งนาแห่งความ หวังของพี่น้องชาวนา หลังจากผ่านวิกฤติน้ำท่วมจากปลายปีที่แล้ว แต่การกลับมาของศัตรูตัวร้ายอันดับต้นๆ ของข้าว ทำให้เกษตรกรหลายคนถึงกับผวาแต่อยากบอกว่าเรามีทางป้องกันและแก้ไข ที่ไม่ยากเกินไปสำหรับเกษตรกรชาวนามืออาชีพ วิธีการ
การไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มผลผลิตข้าว ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ ได้ผลผลิตข้าว 24 ล้านตัน มีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 16.9 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจึงนับได้ว่ามีปริมาณฟางข้าว และตอซังข้าวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับตอซัง
ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5. ชุดดินโคราช (โคราช series : Kt) กลุ่มชุดดินที่ 35 การกำเนิด : เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ และ/หรือเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะทางไม่ไกลนักของหินตะกอนเนื้อหยาบพวกหินทรายบริเวณพื้นที่เกือบราบหรือที่เกือบราบ (peneplain)