เทคนิคการเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศ ให้ลูกดกและอร่อย

การผลิตมะเขือเทศให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรควรมีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการผลิต เริ่มจากการเตรียมเมล็ด การเพาะกล้า การย้ายปลูก การดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยว นอกจากที่เราจะปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนแล้ว เรายังมีเทคนิคการเพิ่มผลผลิตมะเขือ ทำให้มะเขือเทศผลิตผลที่อวบอิ่มมีสีสันสดใสน่ากิน และขายได้ราคาดี

มะเขือเทศเชอรี่ที่เราปลูกในโรงเรือน คือ พันธุ์โซลาริโน่ (Solarino) และพันธุ์อะลูลู่ (Aruru) เป็นมะเขือเทศผลเล็ก รสชาติหวาน เนื้อแน่นมีกลิ่นหอม อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี และยังมีสารจำพวกไลโคปีน  แคโรทีนอยด์ เบตาแคโรทีน และกรดอะมิโน เป็นต้น ซึ่งการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนจะช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายหลายชนิด ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบจุด โรคเหี่ยวเขียว โรคไวรัส เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ และแมลงหวี่ขาว ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ปลอดภัยสำหรับผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

เรายังมี 3 เทคนิคการเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศเชอรี่ ให้ลูกดก ผลอวบอิ่ม สีสนสดใส คุณภาพดี  ได้แก่

เทคนิคที่ 1 การตัดกิ่งกระโดง

เมื่อต้นมะเขือเทศโตเต็มที่สังเกตระหว่างกิ่งจะมีกิ่งกระโดง ให้เด็ดทิ้งก่อนยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารที่จะไปเลี้ยงผล รวมทั้งตัดแต่งใบแก่เพื่อให้มีการระบายอากาศดี ลดการเข้าทำลายของโรค  โดยตัดแต่งในช่วงเช้า แสงแดดจะช่วยให้พืชรักษาแผลได้เร็วและป้องกันการเข้าทำลายของโรคผ่านทางบาดแผลได้

เทคนิคที่ 2 การจำกัดจำนวนผลต่อช่อทำให้ผลส่วนที่เหลือมีขนาดใหญ่ มีคุณภาพและรสชาติที่ดี

สำหรับมะเขือเทศในโรงเรือน ควรตัดแต่งแบบไว้กิ่งหลัก 2 กิ่งหลัก เมื่อต้นมะเขือเทศติดผล จะจำกัดจำนวนผลของมะเขือเทศ โดยการตัดผลออกบางส่วน คงเหลือเพียง 12-15 ผลต่อช่อ เพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่และ  มีขนาดที่สม่ำเสมอกัน ลูกมะเขือเทศก็จะอวบมีสีสันสดใส หากเราปล่อยให้ผลส่วนปลายช่อโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ผลส่วนปลายช่อจะมีลูกขนาดเล็ก และลูกที่อยู่ส่วนโคนก็ไม่หวาน

เทคนิคที่ 3  การผสมดอกมะเขือเทศ

  • ในโรงเรือนจะเลี้ยง ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว (Stingless bees) ช่วยในการผสมเกสรของมะเขือเทศ โดยชันโรงจะถูกนำมาใส่ไว้ตั้งแต่เริ่มเกิดดอกแรก ที่เลือกใช้ชันโรงในการผสมเกสรเพราะ ง่ายต่อการจัดการ วางไว้ตรงไหนก็จะหากินอยู่ตรงบริเวณนั้น ชันโรงไม่มีเหล็กไน ไม่มีอันตราย และตอมดอกไม้ที่ละเอียดนุ่มนวลจึงผสมเกสรได้ดี
  • ถ้าไม่ใช้ชันโรง การผสมเกสรจะสามารถทำได้โดยการเขย่าต้น โดยทำการเขย่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ปกติแล้วในดอกของมะเขือเทศ มีเกสรตัวผู้กับเกสรเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ถ้าเราเขย่าต้น/ดอกของมะเขือเทศ จะทำให้ละอองเกสรตัวผู้จะฟุ้งกระจายออกมาผสมกับเกสรตัวเมีย

หากเกษตรกรวางแผนการปลูกมะเขือเทศตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการผลิต ลองนำเทคนิคการเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศเชอรี่ง่ายๆ เหล่านี้ไปใช้กันดู รับรองว่าจะได้มะเขือเทศผลใหญ่และมีรสชาติอร่อยมากขึ้นกว่าเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

สิ่งแรกที่มองเห็นเมื่อเดินทางมาถึงเราจะพบกับทุ่งนาที่เขียวขจี ร่องสวนที่อุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำ รายล้อมด้วยต้นไม้นานาชนิด บรรยากาศราวกับอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมต่างจังหวัด แต่ทว่าสถานที่ ที่กล่าวมาอยู่ในกรุงเทพของ คุณสมโภชน์ ทับเจริญ เจ้าของฟาร์ม @บางขวด ตั้งอยู่ภายใน ซ.นวลจันทร์ 56 แยก 5
เมื่อ “เมล่อน” เข้าสู่ระยะติดผล มักจะเกิดอาการชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ผลแตก” ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรได้ภายในเวลาเพียงข้ามคืนเลยทีเดียว แล้วทุกท่านสงสัยไหมว่า ผลแตกนั้นเกิดจากสาเหตุใด? วันนี้เราได้หาคำตอบมาให้กับผู้อ่านทุกท่านแล้ว โดยปัจจัยหลักคือ การควบคุมปริมาณ