ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

ศูนย์การเรียนรู้อีกแห่งที่เราอยากแนะนำก็คือ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว) ซึ่งอยู่ใกล้แค่จังหวัดสุพรรณบุรีนี่เอง ที่เกิดจากความตั้งใจของคุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ที่นี่ได้เปิดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่เกษตรกรทั่วไปรวมถึงนักศึกษาได้เข้ามาฝึกงาน

จุดเริ่มต้นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว) คือเกษตรในพื้นที่ตำบลหนองราชวัตร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 90 พืชที่เพาะปลูกมีหลากหลายชนิด ที่มากที่สุดคือการทำนาข้าว และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ผลผลิตต่อไร่ของพืชทางการเกษตรมี แนวโน้มที่ลดลงในขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรยังมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง เกษตรกรมีรายได้ไม่แน่นอน แต่มีต้นทุนการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยการผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่างๆ ซึ่งตัวเลขสถิติการใช้ปุ๋ยเคมีในแต่ละปีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อพิจารณาถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทางการเกษตรปรากฏว่ามีสภาพเสื่อมโทรมลงทุกปี ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อใช้บำรุงดูแลพืชที่ปลูกให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ และปัญหาดังกล่าวนี้นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

จึงได้จัดหลักสูตร การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยมีการจัดฐานเรียนรู้ด้วยกัน 4 ฐาน ประกอบด้วย 

1. ฐานเรียนรู้การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ 

โดยการเลือกพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรสนใจปลูกหรือมีตลาดต้องการ สามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ ให้ผลผลิตสูง และต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สําคัญในท้องถิ่น และก่อนปลูกควรศึกษาลักษณะและคุณสมบัติของพันธุ์ข้าวนั้นๆ เพื่อให้สามารถดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดความเสียหาย และรักษาพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ถูกต้องตรงตามพันธ์ และใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกในอัตราที่เหมาะสม

2. ฐานเรียนรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน  คือการใช้ปุ๋ยเท่าที่จําเป็น (พอดี) ตามความต้องการของพืช หากดินมีปัญหาต้องมีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม โดยมีการประเมินหรือวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดินก่อนการปลูกพืช จากการตรวจสอบจากการเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน สภาพความเป็นกรด-เป็นด่าง แล้วนํามาเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการธาตุอาหารของพืชที่ปลูกใน          แต่ละฤดู จากนั้นจึงคํานวณปริมาณธาตุอาหารหลัก( เอ็น-พี- เค ) เพิ่มตามคําแนะนํา ซึ่งอาจเลือกปุ๋ยสูตรที่มีสัดส่วนใกล้เคียง กับคําแนะนําการใช้ปุ๋ยให้มากที่สุด(ถ้ามี) ซึ่งปัจจุบันมีสูตรปุ๋ยที่หลากหลายให้เลือกใช้ หากไม่มีปุ๋ยสูตรที่แนะนํา ให้ใช้แม่ปุ๋ยมาผสมแล้วใส่ให้กับพืช ”ปุ๋ยสั่งตัด” 

3. ฐานเรียนรู้การผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว ;

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นหลักการที่สำคัญในระบบการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management-IPM) เป็นการแก้ปัญหาศัตรูพืชแบบบูรณาการโดยนำการป้องกันกำจัดศัตรูพืชวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้ร่วมกัน เพื่อลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ลดปัญหาสารพิษตกค้างเป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ลดการสร้างความต้านทานของศัตรูพืช

4. ฐานเรียนรู้ การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์

การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงนา ช่วยปรับโครงสร้างดินและให้ธาตุอาหารที่จําเป็นแก่พืช การใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีหลายรูปแบบ เช่น การไถกลบตอซังข้าว ปุ๋ยพืชสด การทําปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เป็นการเกษตรที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยทั้งตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค 

นอกจากนี้คุณสุกรรณ์ ยังให้หลักในการปฏิบัติตามแนวทางลดต้นทุนการผลิตข้าว คือ 3 ลด 1 เพื่ม 2 ปฏิบัติ”รูปแบบ 3:1:2 คือการลดต้นทุนการผลิต”

3 ลด: ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ละไม่เกิน 20 กิโลกรัม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี และใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น

1 เพิ่ม: ไม่เผาฟาง หมักฟางด้วยสารชีวภาพ ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

2 ปฏิบัติ: ใช้ข้อมูลในการวางแผนการผลิต และทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่าย

 “ถ้าปฏิบัติตามแนวทางการลดต้นทุน จะสามารถลดได้จริง จะทำอย่างไรให้ชาวนาเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง” การทำเกษตรแบบผสมผสานนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เราต้องเปิดรับและปรับเปลี่ยนวิธีที่ต่างไปจากเดิม แม้จะเกิดปัญหาขึ้นก็ตาม แต่ “หัวใจ” และ “ศรัทธา” ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้เราเดินไปถึงจุดหมายที่ตั้งเอาไว้อย่างแน่นอน


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความรู้การเกษตรฉบับนี้จะพาทุกท่าน Go Inter มุ่งสู่แดนอาทิตย์อุทัย ประเทศญี่ปุ่น ไปดูกันว่าการเกษตรของประเทศซึ่งได้ชื่อว่า “เจ้าแห่งเทคโนโลยี” เค้าพัฒนาไประดับไหนกันแล้ว ก่อนอื่นคงต้องเล่าถึงลักษณะทั่วไปของประเทศ และการเกษตรของญี่ปุ่นกันก่อน ประเทศญี่ปุ่นเป็นกลุ่มเกาะกรวยภูเขาไฟสลับชั้น
ดินลูกรัง (Skeletal soils)หมายถึง ดินที่พบชั้นลูกรัง ชั้นกรวด ชั้นเศษหิน หรือชั้นหินพื้นในระดับตื้นกว่า 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย อาจพบกรวด หินมนเล็ก หรือเศษหินปะปน จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินลูกรังเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
โรงเรือนจัดว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกษตรกรในปัจจุบันนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชต่างๆมากมาย เช่น มะเขือเทศ เมล่อน พริกหวาน และผักสลัด เป็นต้น เนื่องจากการเพาะปลูกพืชเหล่านี้ในโรงเรือนสามารถดูแลและสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าหากไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคพืชได้นั้น