ระวังโรคใบไหม้ ในมะเขือเทศ

ถึงแม้ว่าเราจะดูแลมะเขือเทศเป็นอย่างดี แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้คือ สภาพอากาศในวันที่สภาพอากาศอากาศเย็น มีหมอกในยามเช้า มีความชื้นสูง เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเกิดโรคพืชในโรงเรือน และโรคพืชที่เราต้องเตรียมรับมือ คือ โรคใบไหม้ในมะเขือเทศ เป็นโรคที่ระบาดแพร่หลาย และรู้จักกันดีโรคหนึ่งในมะเขือเทศ ซึ่งความเสียหายจะมากหรือน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค อายุ และพันธุ์ของมะเขือเทศ 

โรคใบไหม้ (Early blight) สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora infestans โดยเชื้อราสามารถเขาทำลายในลำต้น กิ่ง และผลของมะเขือเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับมะเขือเทศในทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยจะเกิดอาการขึ้นบนใบของมะเขือเทศมากที่สุด และจะไม่ทําลายผลมะเขือเทศนอกจากในกรณีที่พืช อ่อนแอมากๆ เช่น เป็นโรคอื่นอยู่ก่อน ขาดน้ำ เป็นต้น

มักพบอาการของโรคที่ใบล่างก่อน โดยด้านบนใบพบแผลฉ่ำน้ำสีเขียวหม่นคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ ตรงกลางแผลแห้งเป็นสีน้ำตาล บริเวณขอบแผลฉ่ำน้ำมีสีดำ เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบบริเวณตรงกันจะพบส่วนของเชื้อราสาเหตุโรคสีขาว เมื่อเชื้อเจริญมากขึ้นใบจะแห้ง ไหม้เป็นสีน้ำตาลในที่สุด

จากที่เราสังเกตบริเวณที่มีการระบาดของโรคใบไหม้ในโรงเรือน พบว่าบริเวณใต้ระบบสเปรย์หมอก มีการระบาดของโรคตามรัศมีของสเปรย์หมอกที่จุดนั้นๆ โดยเชื้อรา Phytophthora จะแพร่ระบาดไปกับละอองน้ำ แต่อย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลใจกันไป เรามีวิธีการ แนวทางการป้องกันหรือแก้ไขมาฝาก

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. หากพบใบเป็นโรคไม่มาก ให้ตัดใบที่เป็นโรคใส่ถุง ระวังอย่าให้เชื้อราฟุ้งกระจาย และนำไปทิ้งหรือนำไปเผาทำลายนอกโรงเรือน เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสมของเชื้อราในแปลง

2. ปรับระยะปลูกไม่ให้แน่นเกินไป ถ้าปลูกมะเขือเทศแบบหย่อนเชือก ควรตัดแต่งใบล่างให้โปร่ง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค

3. พ่นสารชีวภัณฑ์ Bacillus subtilis อัตรา 40-50 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อเริ่มพบการระบาดของโรค หลังจากนั้น พ่นอีกทุก 5 วัน เป็นจำนวน 4-5 ครั้ง เนื่องจากโรคนี้สามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช

4. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคเข้าทำลายเกิน 20% ของจำนวนต้นทั้งหมด ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เเช่น เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 – 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% WG อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค

5. ต้นที่เป็นโรครุนแรง ควรถอนนำไปทำลายนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรค

6. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

และที่สำคัญ คือ หมั่นสังเกตุอาการผิดปกติในแปลงปลูก เนื่องจากเมื่อพบอาการผิดปกติต่างๆในระยะเริ่มต้นจะทำให้เราสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ทันเวลา และลดการเกิดความเสียหายกับผลผลิตได้นั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดินลูกรัง (Skeletal soils)หมายถึง ดินที่พบชั้นลูกรัง ชั้นกรวด ชั้นเศษหิน หรือชั้นหินพื้นในระดับตื้นกว่า 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย อาจพบกรวด หินมนเล็ก หรือเศษหินปะปน จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินลูกรังเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการใช้น้ำกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำสำหรับผลิตอาหารและพลังงานซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำสะอาดที่ใช้ในการบริโภคทั้งหมดของโลก แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำสะอาด
ในปัจจุบันแนวโน้มการจัดการการเกษตรจะชัดเจนขึ้น โดยการเปลี่ยนวิถีดั้งเดิมของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ ผลิตผลที่มีคุณภาพผ่านการควบคุมสภาพแวดล้อมการเพาะปลูกอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้ทางคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเริ่มโครงการโรงเรือนอัจฉริยะ (FOA Smart Greenhouse) โดยผู้ใช้สามารถ