ปลูกถั่วเขียวหลังนา โดยใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ ได้ผลผลิตงาม สร้างรายได้เพิ่ม

การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พื้นที่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเล็งเห็นถึงโอกาสการสร้างรายได้เพิ่ม เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สยามคูโบต้าได้สนับสนุนเกษตรกรไทยมาโดยตลอด เพราะนอกจากจะทำให้มีรายได้เสริมแล้ว ยังเกิดความคุ้มค่าในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในทุกฤดูกาลเพาะปลูกอีกด้วย ไม่เพียงเฉพาะการปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปลูกพืชหลังนาอย่างเช่นถั่วเขียว โดยที่ผ่านมา พบว่า ถั่วเขียวที่เกษตรกรปลูกอยู่นั้นยังคงให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างน้อย และมีการใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้และเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ปลูกอย่างเหมาะสม

สยามคูโบต้า จึงได้มีการทำแปลงทดสอบการปลูกถั่วเขียวหลังการทำนา ร่วมกับเกษตรกรที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา ต.นายม อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 6 ไร่ เพื่อศึกษาการปลูกถั่วเขียวระหว่างวิธีดั้งเดิมกับวิธี KAS โดยมีคุณประเสริฐ ปราบภัย อายุ 37 ปี เจ้าของพื้นที่เป็นผู้ร่วมทำแปลงทดสอบกับสยามคูโบต้าในครั้งนี้

คุณประเสริฐ เผยว่า  แต่เดิมตนเองทำนาปีละ 2 ครั้ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนมาทำนาปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากมีการปลูกพืชหลังนา เพื่อหารายได้เสริม ซึ่งพืชหลังนาที่ตนเองสนใจ ก็คือ “ถั่วเขียว” เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว และยังช่วยบำรุงให้ดีขึ้น จึงได้หันมาปลูกถั่วเขียวหลังการทำนาโดยตลอด กระทั่งได้มีทีมงาน KAS ติดต่อเข้ามาเมื่อปี 2559 เพื่อให้คำแนะนำ พร้อมทั้งสอนวิธีการปลูกด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งตนเองมองว่าน่าสนใจ จึงตัดสินใจเข้าร่วมทำแปลงทดสอบในครั้งนี้

“เมื่อก่อนผมปลูกถั่วเขียวแบบหว่าน เพราะด้วยความเชื่อที่ว่า ยิ่งหว่านเยอะ ผลผลิตก็จะได้เยอะ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ เพราะผลลัพธ์ที่ได้ คือ ต้นขึ้นหนา เบียดเสียดกันแน่น และยังไม่เป็นระเบียบ ทำให้ดูแลรักษาได้ยาก หมดค่าใช้จ่ายไปกับการใช้ยากำจัดวัชพืชและโรคแมลงค่อนข้างเยอะ สุดท้ายแล้วไม่คุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้รับ เพราะเมล็ดไม่สวยและมีพันธุ์ปนมาด้วย แต่พอเห็นแปลง KAS ที่ปลูกใกล้เคียงกัน ต้นถั่วเขียวสูงตรง เป็นแถวเป็นแนวเดียวกัน และต้นก็ไม่แน่นหนาเหมือนแปลงของผม ซึ่งดูแล้วผลผลิตที่ได้รับน่าจะคุ้มค่าอยู่ไม่น้อย”

คุณประเสริฐ เผยต่อว่า หลังจากที่ทำแปลงทดสอบร่วมกัน ผลการทดสอบ พบว่า การปลูกถั่วเขียวด้วยวิธีดั้งเดิมที่ตนเองใช้ต้นทุน 3,500  บาท/ไร่. ได้ผลผลิต 180 กก./ไร่ แต่สำหรับการปลูกด้วยวิธี KAS ใช้ต้นทุน 2,900 บาท/ไร่ ได้ผลผลิต 265 กก./ไร่ ซึ่งโดยรวมจะพบว่าการปลูกด้วยวิธี KAS สามารถลดต้นทุนและได้ผลผลิตมากกว่า นอกจากนี้ ในช่วงที่ทำแปลงทดสอบ ทีมงาน KAS ยังได้แนะนำด้วยว่า ในขั้นตอนการเตรียมดินให้ใช้แทรกเตอร์ ติดอุปกรณ์ผานพรวนและโรตารี่ ทำการไถกลบตอซังข้าวและพรวนดินให้ละเอียด จากนั้นใช้เครื่องหยอดเมล็ดถั่วเขียว ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ให้มีระยะห่างระหว่างต้นที่เหมาะสม  เพื่อให้สะดวกในการพรวนดิน กำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย ส่วนในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้ใช้รถเกี่ยวนวดข้าวติดตั้งอุปกรณ์เก็บเกี่ยวถั่วเขียว เพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตระหว่างเก็บเกี่ยว และยังได้ถั่วเขียวที่มีคุณภาพ  หลังจากเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว จะทำการไถกลบต้นถั่วเขียวลงสู่ดิน เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดในการปลูกข้าวครั้งต่อไป

“นอกจากคำแนะนำการปลูกถั่วเขียวที่ผมได้รับแล้ว ทีมงาน KAS ยังได้มีการจัดอบรมให้ความรู้อื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การจัดหาเมล็ดพันธุ์ การดูแลรักษา และการทำปุ๋ย เพื่อให้พวกเราในพื้นที่มีความรู้ด้านการปลูกถั่วเขียวแบบเกษตรสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ รวมทั้งได้คุณภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความร่วนซุย สะดวกในการเตรียมดินและการปลูกข้าวรอบปีถัดไป” 

หมายเหตุ: ตัวเลขที่ได้จากการทำแปลงทดสอบจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ  การระบาดของโรคและแมลง การระบาดของวัชพืช อัตราค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่ พฤติกรรมการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ การเลือกพันธุ์ที่ใช้ปลูก และปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี รวมทั้งขึ้นอยู่กับผลค่าวิเคราะห์ดิน

Tag:

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) พัฒนาแอปพลิเคชันปฏิทินการเพาะปลูกข้าวด้วยวิธี KUBOTA Agri Solution ภายใต้ชื่อ “KAS Crop Calendar application” เพื่อเป็นคลังความรู้ที่สำคัญของเกษตรกร
บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดเผยยอดขายทั้งตลาดในประเทศและส่งออกปี 2559 มียอดขายรวมปิดที่ 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายในปี 2560 เติบโตขึ้น 10% ประกาศรุกตลาดพืชไร่อย่างต่อเนื่อง พร้อมขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทยให้เป็นเกษตรกรรม 4.0 ด้วยแนวคิด KUBOTA (Agri) Solutions นายฮิโรโตะ คิมุระกรรมการ
หลังจากที่บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และกลุ่มวังขนาย ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ “โครงการวังขนาย-คูโบต้า พลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการเพาะปลูก ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ของไทย และตอบ