นวัตกรรมใหม่ทำปุ๋ยหมักโดยไม่ต้องกลับกอง “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากเริ่มหันกลับมาลดต้นทุนทางการเกษตร โดยทำการหมักปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือจะต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำให้ทาง ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้คิดค้นวิธีการทำปุ๋ยหมักที่ง่าย ประหยัด และได้ผลดีขึ้นมา โดยเรียกนวัตกรรมใหม่นี้ว่า “วิศวกรรมแม่โจ้” ขั้นตอนวิธีการเป็นเช่นไรติดตามได้ในฉบับนี้เลยครับ

ขั้นตอนที่ 1 นำเศษข้าวโพดหรือฟางข้าว 4 ส่วนกับมูลสัตว์ 1 ส่วนโดยปริมาตร วางสลับกันเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกินชั้นละ 10 เซนติเมตร จำนวน 15 – 17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร ส่วนความยาวของกองจะยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี ความสำคัญของการที่ต้องทำเป็นชั้นบาง ๆ 15 – 17 ชั้น ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอน (มีอยู่ในเศษพืช) และธาตุไนโตรเจน (มีในมูลสัตว์) ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ของจุลินทรีย์ ซึ่งจะทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยการวางกองปุ๋ยหมักสามารถวางไว้กลางแจ้งได้เลย ไม่ต้องมีการปิดคลุม

ขั้นตอนที่ 2 รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลา (มีค่าประมาณร้อยละ 60 – 70) โดยมี 2 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกเช้า (ถ้าฝนตกก็ให้งดขั้นตอนนี้) 

ขั้นตอนที่ 2 ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทำขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย ขั้นตอนที่สองนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทำ เพราะน้ำฝนจะไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ การที่ฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ในฤดูฝนได้ด้วย 

ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีค่าอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับกองปุ๋ยที่ทำได้ถูกวิธี อันเกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ และความร้อนสูงนี้ยังเป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยอีกด้วย หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลงจนมีค่าอุณหภูมิปกติที่อายุ 60 วัน 


ขั้นตอนที่ 3
 เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ก็หยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์สงบตัวและไม่ให้เป็นอันตรายต่อรากพืช วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉยๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายในที่ร่มอากาศถ่ายเทให้มีความหนาประมาณ 20 – 30 ซม. แล้วเกลี่ยไปมา ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3 – 4 วัน ก็สามารถนำไปใช้บำรุงพืช และปรับปรุงดินในพื้นที่ของเกษตรกรได้ทันที หรือจะนำมาป่นละเอียดเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ก็เข้าที

ข้อห้ามของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

1. ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคุลมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้สะดวก

2. ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ต้องใช้ระยะเวลาหมักนานขึ้น และปุ๋ยมีคุณภาพต่ำ

3. ห้ามวางเศษพืชหนาเกินไป เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้

4. ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยจะทำให้ต้นไม้ตายได้

5. ห้ามระบายความร้อนจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนจะช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่วที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นพืชบำรุงดิน และขายเป็นรายได้สำหรับเกษตรกร นำมาปลูกหลังเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งในพื้นที่อาศัยน้ำชลประทานและไม่อาศัยน้ำชลประทาน แต่การปลูกถั่วลิสงหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยไม่อาศัยน้ำชลประทานสามารถทำได้ในบางพื้นที่เท่านั้น 1. การเลือกพื้นที่ปลูก พื้นที่ทำนา
โรคใบจุดจากเชื้อเฮลมินโธสปอเรี่ยม (Northern Leaf Spot หรือ Helminthosporium Leaf Spot) ลักษณะอาการ พบอาการตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบธง แผลเป็นจุดค่อนข้างกลมสีเหลือง หรือน้ำตาลขนาดเล็ก มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ขนาดความกว้างยาวของแผลอยู่ระหว่าง 0.5 – 4.0 x 0.5 – 40.0 มม. เมื่อความชื้นสูงแผลขยายใหญ่
มันสำปะหลัง สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ดินที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นดินเนื้อหยาบและมีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ สภาพพื้นที่ มีลักษณะเป็นพื้นที่มีความลาดชัน จึงมักเกิดปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของดินสูง เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงเรื่อย ๆ