โรคใบขาวอ้อย

เชื้อสาเหตุของโรคใบขาว

โรคใบขาวของอ้อยเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา ซึ่งเป็นเชื้อที่ต้องเจริญเติบโตอยู่ในต้นอ้อยหรือในแมลงพาหะเท่านั้น โดยเชื้อจะอยู่ภายในท่ออาหารของอ้อย ซึ่งอ้อยเจริญเติบโตไปได้เพียงใด เชื้อสาเหตุของโรคสามารถเพิ่มปริมาณไปได้ไกลเท่ากัน

แมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อ

แมลงพาหะที่สามารถถ่ายทอดเชื้อไฟโตพลาสมา สาเหตุโรคใบขาวมี 2 ชนิด ประกอบด้วย เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาล และ เพลี้ยจักจั่นหลังขาว โดยเพลี้ยทั้งสองชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงอ้อยเป็นหลัก เพื่อการเจริญเติบโตและวางไข่ในดิน โดยชอบวางไข่ในดินทรายหรือดินร่วนทรายมากกว่าดินชนิดอื่น เมื่อแมลงพาหะไปดูดกินน้ำเลี้ยงจากอ้อยที่มีเชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคใบขาวแล้ว เชื้อไฟโตพลาสมาสามารถเข้าไปเพิ่มปริมาณในตัวของแมลงพาหะ (ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์) แล้วเข้ามาอยู่ในต่อมน้ำลายของแมลง ซึ่งทุกครั้งหลังจากนี้ถ้าหากแมลงดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นอ้อยปกติ ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อไฟโตพลาสมาไปยังต้นอ้อยได้ ทั้งนี้พบว่า เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาลเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้มาก ช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน ในขณะที่เพลี้ยจักจั่นหลังขาว สามารถเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้มาก ระหว่างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน โดยช่วงเวลาดังกล่าวจึงต้องเฝ้าระวังการระบาดการเพิ่มขึ้นของแมลงทั้งสองชนิด ไม่ควรปลูกอ้อยใหม่ในช่วงนี้ อาจใช้กับดักแสงไฟ หรือแถบกาว  สีต่างๆช่วยดักจับแมลง เพื่อลดช่องทางการระบาดของโรคใบขาวอ้อยได้

การป้องกันกำจัด

1.  หากอ้อยแสดงอาการใบขาว ควรทำการขุด และนำไปเผาทำลายนอกแปลง หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเสท) ให้ตายไปทั้งกอ
2.  ไม่ปล่อยกออ้อยที่เป็นโรคใบขาวไว้ในแปลง เพราะมีความเสี่ยงที่แมลงพาหะจะมาดูดกินน้ำเลี้ยงและอาจถ่ายทอดเชื้อใบขาวไปยังกออ้อยอื่นๆ
3.  หากพบการระบาดในระดับเสียหาย โดยมีเปอร์เซ็นการเกิดโรคสูงกว่า 30% ให้รื้ออ้อยออกทั้งแปลง เนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการบำรุงรักษาต่อไป
4.  เลือกใช้ท่อนพันธุ์อ้อย จากแปลงอ้อยที่เชื่อถือได้ หรือมีการตรวจรับรองแปลงพันธุ์อ้อยว่าไม่มีเชื้อสาเหตุโรคใบขาวแฝงอยู่
5.  จัดทำแปลงอ้อยไว้เป็นท่อนพันธุ์โดยเฉพาะ ที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคใบขาวอ้อย ด้วยเทคนิคการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยปลอดโรค
6.  หากพบการระบาดของโรคใบขาว ในแปลงอ้อย ให้สำรวจพื้นที่การระบาดและเปอร์เซ็นต์ของการเกิดโรค และแจ้งโรงงานน้ำตาล หรือ สมาคมชาวไร่อ้อยที่สังกัด เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหา
7.  เกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคใบขาวอ้อยควรรวมกลุ่มกัน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
8.  ควรติดตามข่าวสารของหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง 

บทความที่เกี่ยวข้อง

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด (Corn borer : Ostrinia fumacalis Guenee) รูปร่างลักษณะ : หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดชนิดหนึ่งของข้าวโพด โดยเฉพาะในไร่ที่มีการปลูกข้าวโพดมานานปี หรือในแหล่งที่มีการใช้สารฆ่าแมลงมาก เพราะจะไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไข่ ซึ่งเป็นตัวคอย
ยิ่งเผา ยิ่งสร้างมลพิษ ทำลายโครงสร้างดิน ควรจัดการอย่างไรดี ?
ชื่อวิทยาศาสตร์ : มอดดิน (Ground Weevil) รูปร่างลักษณะ : ตัวเต็มวัยของมอดดินเป็นด้วงงวงขนาดเล็ก เป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวป้อม ผิวขรุขระมีสีดำปนน้ำตาล และเทา มีขนาดความกว้างของลำตัวเฉลี่ยประมาณ 2.2 มิลลิเมตร ความยาวเฉลี่ย 3.5 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ในดินบริเวณที่มีต้นพืช ไข่มีลักษณะกลมรี