เทคนิคการลด PM 2.5 ในภาคการเกษตร

เป็นกระแสรุนแรง สำหรับค่าฝุ่นละอองของประเทศไทยในช่วงนี้ เราได้ยินคำว่า PM 2.5กันทุกวัน ทำให้คนไทยมีความตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละออง PM 2.5กันมากขึ้น ความหมายของ PM คือ Particulate Matter ฝุ่นละอองที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบง่ายๆ คือมลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ กล่าวคือ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ และมีขนาดเพียง ครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด (5 ไมครอน) ดังนั้นฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ อีกทั้งฝุ่นยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

แหล่งกำเนิดฝุ่นเหล่านี้ มาจากการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การผลิตของภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่ง  ที่อยู่อาศัยและการเผาในที่โล่ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาคการเกษตรของประเทศเรายังคงมีการเผาเศษวัสดุ เช่น ฟางข้าว  ใบอ้อย หรือใบไม้กิ่งไม้ กันอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จึงขอนำเสนอวิธีการเพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะลดมลพิษในโลกของเรา 

ลดการเผาตอซังข้าวโพด และฟางข้าว

เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรทำการไถกลบตอซังข้าวโพด และฟางข้าว โดยไม่ควรเผาเป็นอันขาดเพราะ การเผาตอซังและฟางเปรียบกับการเผาทองคำดิน เนื่องจากเมื่อเผาฟาง อินทรียวัตถุและปุ๋ยก็ถูกเผาไปด้วย อีกทั้งจุลินทรีย์ ไส้เดือน และแมลงที่เป็นประโยชน์ก็จะตายไป เหตุที่ต้องไถกลบทันทีเนื่องจากดินยังมีความชื้นสูงทำให้ ไถง่าย เมื่อ  ไถกลบแล้วก็จะใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นให้ทั่วแปลง หรือถ้าเป็นนาในเขตชลประทานก็ปล่อยน้ำหมักชีวภาพไปกับน้ำที่ใส่ลงในแปลงนา ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชั้นยอดได้เร็วขึ้น

ยกเลิกการเผาไร่อ้อย

ปัจจุบัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยยังคงใช้การเผาไร่อ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้สามารถเข้าทำการเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อส่งขายโรงงานได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยมากถึง 2,571,431 ไร่ โดยฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.- มี.ค. ของทุกปีซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งมีปัญหาฝุ่นละอองในอากาศสูงอยู่แล้ว หากทุกแปลงทำการเผาพร้อมกัน เราจะประสบสภาวะวิกฤตเหมือนประเทศอินโดนีเซียเลยทีเดียว วิธีการในการเก็บเกี่ยวอ้อยโดยไม่เผาแปลง  มีด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่การใช้รถตัดอ้อยเข้าเก็บเกี่ยว ซึ่งรถตัดอ้อยมีประสิทธิภาพดี สามารถเข้าทำงานได้ในแปลงอ้อยโดยไม่ต้องเผาก่อน

การใช้รถตัดอ้อยมีประโยชน์คือ การตัดใบอ้อยด้วยรถตัดอ้อย ใบอ้อยที่ถูกปั่นจะปกคลุมที่ผิวดิน ซึ่งมีประโยชน์คือการรักษาความชื้นในดินให้แก่ตออ้อยได้ยาวนานขึ้น และยังทำให้อัตราการแตกกอใหม่ดีขึ้นอีกด้วย 

ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”

ขั้นตอนที่ 1 นำเศษข้าวโพดหรือฟางข้าว 4 ส่วนกับมูลสัตว์ 1 ส่วน โดยปริมาตรวางสลับกันเป็นชั้นบางๆ โดยสูงไม่เกินชั้นละ 10 ซม. จำนวน 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ทำการขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่มีความสูงประมาณ 1.50 เมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร ส่วนความยาวจะยาวเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี

ขั้นตอนที่ 2 รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอ

ขั้นตอนการทำมี 2 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกเช้า (หากฝนตกควรงดขั้นตอนนี้) 

ขั้นตอนที่ 2 ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรู ลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ระยะห่างของรูประมาณ 40 ซม.ทำขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย 


ขั้นตอนที่ 3 เมื่อกองปุ๋ยมีอายุครบ 60 วัน ควรหยุดให้ความชื้น กองปุ๋ยจะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร แล้วทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้ง วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้แห้งอาจทำโดยทิ้งไว้ในกองเฉยๆ ประมาณ 1 เดือน หรืออาจแผ่กระจายในที่ร่มอากาศถ่ายเทให้มีความหนาประมาณ 20 – 30 ซม. แล้วเกลี่ยไปมา ซึ่งจะแห้งภายในเวลา 3 – 4 วัน ก็สามารถนำไปใช้บำรุงพืช และปรับปรุงดินในพื้นที่ของเกษตรกรได้ทันที หรือจะนำมาป่นละเอียดเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ก็เข้าที

การทำปุ๋ยสูตรนี้สามารถใช้เศษพืชได้ทุกชนิด ทั้ง ฟางข้าว เศษข้าวโพด ต้นข้าวโพด ใบอ้อย เศษหญ้าและใบไม้ เป็นการใช้ประโยชน์เศษซากพืชได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเกิดประโยชน์สูงสุด ปุ๋ยที่ได้มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช นำไปใช้บำรุงดิน หรือจำหน่ายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสร้างรายได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ประวัติ ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ในระหว่างปี พ.ศ.2549-2556 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เพื่อให้ได้ข้าวโพดหวานลูกผสมที่มีผลผลิตสูง คุณภาพการบริโภคดี และต้านทานต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้เบอร์ 75 กับสายพันธุ์แท้เบอร์ 66 ผ่านการประเมินผลผลิตพันธุ์ลูก
ประวัติ ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ในระหว่างปี พ.ศ.2548-2554 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท เพื่อให้ได้ข้าวโพดหวานลูกผสมที่มีผลผลิตสูง และคุณภาพการบริโภคดี เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้เบอร์ 75 กับสายพันธุ์แท้เบอร์ 50 ผ่านการประเมินผลผลิตพันธุ์ลูกผสมตามขั้นตอนของกรมวิชา