เกษตรกรรายย่อย ปลูกอ้อยอย่างไรให้กำไรงาม

เกษตรกรรายย่อย ปลูกอ้อยอย่างไรให้กำไรงาม ชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อย แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางอุทัย สุขศรีพะเนาว์ ได้รับรางวัลดีเด่น ชาวไร่อ้อยที่มีการบริการจัดการไร่อ้อยที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดีเด่น (ประเภทรายเล็ก พื้นที่ปลูกอ้อย 56 ไร่) ทำการเพาะปลูกอ้อยมากว่า 24 ปี มีการปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกตามคำแนะนำของคุณวีนัด ได้ประมาณ 8 ปี ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว โดยใช้ระยะเวลาในการดูแลอ้อยลดลง เกษตรกรปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นหลัก เนื่องจากเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และอากาศในเขตดังกล่าว

เทคนิคสำคัญในการเพาะปลูก

  1. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้กากตะกอนหม้อกรอง (filter cake) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการ ต้มน้ำอ้อย เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุ ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้อ้อยงอกได้สม่ำเสมอแข็งแรง เจริญเติบโตและตั้งตัวเร็ว และยังสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ดี จากนั้นจึงไถกลบ
  2. การเตรียมดินเพื่อปลูก ใช้แทรกเตอร์ต่อพวงผานบุกเบิกทำการไถพื้นที่ และตากดินไว้ 7-14 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช และแมลง
  3. การปลูก จะใช้แทรกเตอร์ต่อพ่วงเครื่องปลูกอ้อย โดยใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุ 10 เดือน การใช้เครื่องปลูกทำให้สามารถปลูกอ้อยได้รวดเร็ว และอ้อยที่โตจะมีความสม่ำเสมอมากกว่าใช้แรงงานคน วิธีการปลูกโดยใช้เครื่องปลูกอ้อยของสยามคูโบต้า โดยกำหนดระยะห่างของการปลูกคือ 150 ซม. พร้อมใส่ปุ๋ยเคมีปูพื้น 1 กระสอบ/ไร่ สูตร 28:10:10 และฉีดพ่นยาคลุม อะทราซีน
  4. การบำรุงรักษา เมื่อผ่านไป 1 เดือน (เดือน พ.ค.) เมื่ออ้อยงอกจึงให้อาหารทางใบ ใช้น้ำหมักขี้หมู โดย

สูตรการทำน้ำหมักขี้หมู อุปกรณ์ ดังนี้

  1. แกลบขี้หมู 5 กก.
  2. พด.2 จำนวน 1 ซอง
  3. กากน้ำตาล 6 ลิตร

วิธีทำ
นำแกลบขี้หมู 5 กก. แช่ในน้ำเปล่า 50ลิตร หมักไว้จำนวน 1 คืน ทำการกรองเอาน้ำหมักขี้หมูที่ได้ นำไปผสมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด2 จำนวน 1 ซอง ผสมกากน้ำตาล 6 ลิตร จากนั้นทำการคนเช้าเย็น ปิดฝาถังแบบไม่ต้องสนิท หมักไว้จำนวน 7 วัน โดยวิธีการนำมาใช้ ดังนี้ นำน้ำหมักขี้หมูที่ได้ 1.5 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 150 มล. (1-2 ฝา) นำไปฉีดต้นอ้อยเพื่อให้อาหารทางใบอ้อย

  1. การเก็บเกี่ยว เนื่องจากพื้นที่ของพี่อุทัยมีเพียง 56 ไร่ จึงใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวเป็นหลัก แต่ถ้ามีคิวรถตัดอ้อยว่างก็เลือกที่จะใช้รถตัดเพราะรวดเร็วกว่ามาก แต่หัวใจสำคัญคือ จะไม่มีการเผาแปลงก่อนตัด โดยเมื่ออ้อยมีอายุ 12 เดือน จะทำการสางกาบใบออกจนหมด และตัดยอดอ้อยให้สั้น ทำการเกลี่ยกาบใบให้ทั่วแปลง
  2. การจัดการแปลงหลังการเก็บเกี่ยว หลังจากทำการเก็บเกี่ยวอ้อยจนหมดแปลงแล้วจะทำการนำน้ำหมักปุ๋ยยูเรียมาฉีดพ่นเพื่อย่อยสลายกาบใบอ้อย ครั้งที่ 1 ฉีดพ่นทันทีหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยไม่ต้องสับหรือแต่งตออ้อย ครั้งที่ 2 เมื่อดินมีความชื้นฉีดพ่นน้ำหมักปุ๋ยยูเรียอีกครั้งเมื่ออ้อยตอมีอายุประมาณ 3-4 เดือน แต่ห้ามฉีดโดนต้นอ้อยและใบอ้อยใหม่เด็ดขาด จะฉีดลงเฉพาะบริเวณกลางร่องอ้อยที่มีใบเก่าทับถมอยู่เท่านั้น

สูตรน้ำหมักปุ๋ยยูเรีย

  1. ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 25 กิโลกรัม

  2. น้ำสะอาด 200 ลิตร

ทำการหมักไว้ในถังพลาสติก ปิดฝาให้สนิทเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน น้ำหมักยูเรีย 200 ลิตร สามารถฉีดพ่นแปลงอ้อยได้ประมาณ 4-5 ไร่ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของใบอ้อยที่ตัด (อ้างอิงสูตร : คุณวีนัส – คุณบุญพร้อม สำราญวงศ์ ปราชญ์แผ่นดิน ปี 2560)

การทำอ้อยตอไว้ให้ได้หลายๆ ปี อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ คือการตรวจแปลงเพาะปลูกหลังอ้อยตองอก หากพบจุดที่มีการตายต้องทำการซ่อมทันที โดยใช้การชำข้อตาอ้อย ไว้ในถุงเพาะชำ เมื่อมีอายุ 50-60 วัน ก็สามารถย้ายลงแปลงซ่อมในจุดที่อ้อยตายได้ทันที

นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรคนเก่ง ที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มาก แต่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมาพี่อุทัย สามารถเก็บผลผลิตได้เฉลี่ย 16 ตันต่อไร่ และวิธีการจัดการดังกล่าวยังช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีอีกด้วย จากที่เคยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปลูกและรื้ออ้อย ที่ทุกๆ 3 ปีต้องปลูกใหม่แบบวิธีดั้งเดิม ทำให้แทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่เมื่อได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมาเป็นอ้อยหลายต่อเช่นปัจจุบัน ทำให้มีเวลาเหลือมากขึ้น สามารถมาทำการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้งฝอย เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และปลูกผัก ด้วยระบบเกษตรปลอดภัย ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น สุขภาพก็ดีตาม เกิดความสุขอย่างยั่งยืน

Tag:

บทความที่เกี่ยวข้อง

ถั่วเขียวผิวดำ หรือ ถั่วแขก หรือถั่วเม็ดนุ่น เป็นชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ มีลักษณะต้น ใบ กิ่งก้าน ฝัก และเมล็ดใกล้เคียงกับถั่วเขียวธรรมดา ฝักอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด ส่วนเปลือกถั่วและซากลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ ยังสามารถปลูกไว้เพื่อใช้ทำปุ๋ยพืชสดได้ ปัจจุบันผลผลิตของถั่วเขียวผิวดำตลาดของ
ความสำคัญ แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา หรือแตนตาแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อเจริญเต็มที่มีขนาด ประมาณ 0.50 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเหลืองขุ่น ตาสีแดง บริเวณเส้นปีกมีขนอ่อนเรียงเป็นแนวตรง แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมาทำลายไข่ของผีเสื้อต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น หนอนกออ้อย หนอนกอข้าว หนอนห่อใบข้าว หนอนเจาะ ล้าต้น