หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด (Corn borer : Ostrinia fumacalis Guenee

รูปร่างลักษณะ : หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุดชนิดหนึ่งของข้าวโพด โดยเฉพาะในไร่ที่มีการปลูกข้าวโพดมานานปี หรือในแหล่งที่มีการใช้สารฆ่าแมลงมาก เพราะจะไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไข่ ซึ่งเป็นตัวคอยควบคุมประชากรหนอนเจาะลำต้นได้ดี ทำความเสียหายโดยการเจาะเข้าไปกินอยู่ภายในลำต้นข้าวโพด ทำให้ต้นข้าวโพดหักล้มง่ายเมื่อถูกลมพัดแรง นอกจากนั้นยังเจาะทำลายฝักด้วย ซึ่งมักเจาะกินที่ก้านฝักหรือโคนฝัก หากมีการระบาดรุนแรงมากจะเจาะกินที่ตัวฝักด้วย สามารถเข้าทำลายในช่วงการเจริญเติบโตของลำต้น ระยะติดดอกและติดเมล็ด โดยที่หนอนจะเจาะกินใบส่วนยอด เจาะกินภายในช่อดอก และเจาะเข้าทำลายภายในลำต้น หนอนที่ฟักออกจากไข่ระยะแรก ๆ จะกัดกินใบที่ม้วนอยู่ แต่ถ้าระบาดระยะที่ข้าวโพดกำลังออกเกสรตัวผู้จะอาศัยกินอยู่ที่ช่อดอกตัวผู้ ซึ่งอาจจะทำให้ช่อดอกไม่คลี่ได้ ต่อมาจึงเจาะเข้าลำต้นด้านบริเวณก้านใบเหนือข้อและโคนฝัก การทำลายของหนอนเจาะลำต้นนี้จะกัดกินเป็นรูย้อนขึ้นทางด้านบน แต่ถ้าในแหล่งที่มีการระบาดมากจะเจาะกินฝักด้วย ในสภาพที่มีการเจาะทำลายโดยเฉลี่ย 3-6 รูต่อต้น จะทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 10-40 นอกจากนี้พบว่าการปลูกข้าวโพดในช่วงปลายฤดูฝนจะมีการระบาดของแมลงศัตรูดังกล่าวมากกว่าในช่วงต้นฤดู

การเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด เป็นแมลงพวกผีเสื้อกลางคืน ตัวหนอนเจาะเข้าทำลายภายในลำต้น แม่ผีเสื้อวางไข่เป็นกลุ่มซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลาสีขาวนวล ด้านใต้ใบข้าวโพดตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 30 วัน ไปจนกระทั่งถึงระยะออกดอก ไข่ฟักเป็นตัวภายใน 3-4 วัน ถ้ามีหนอนระบาดระยะที่ข้าวโพดอายุประมาณ 30-45 วัน หนอนขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 20 มิลลิเมตร ตัวมีสีขาวนวลอมชมพู และมีจุดตามตัว ในระยะต่อมาจะเข้าดักแด้ภายในลำต้น ระยะของการเป็นตัวหนอน 15-21 วัน ดักแด้เป็นสีน้ำตาลอ่อน และสีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นสีน้ำตาลไหม้เกือบดำ แต่ทางด้านท้องมีสีจางกว่ารอยปีก หนวดและตาเห็นได้ชัด ตามปกติดักแด้จะมีใยขาวหุ้มอยู่รอบ ๆ ระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน ก็ออกเป็นผีเสื้อหรือตัวเต็มวัย ซึ่งจะมีอายุประมาณ 7-14 วัน ตัวเต็มวัยตัวเมียปีกคู่แรกมีสีเหลืองอ่อน มีลายเส้นหยัก ๆ สีน้ำตาลพาดขวางที่ปลายปีก กลางปีกจะมีสีน้ำตาล 2 จุด อยู่ใกล้ ๆ กัน ปีกคู่หลังพื้นสีเหลืองเข้มกว่าคู่แรกเล็กน้อย ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอ่อน ทางด้านท้องมีสีนวล ตัวยาวประมาณ 1.45 เซนติเมตร ตัวผู้มีสีเข้มกว่าตัวเมียเล็กน้อย และตัวยาวประมาณ 1.35 เซนติเมตร 

การป้องกันกำจัด : ในสภาพธรรมชาติมีแมลงด้วยกันที่คอยทำลายหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดให้มีปริมาณลดลง แมลงที่มีประโยชน์เหล่านี้ ได้แก่ แตนเบียนในวงศ์ไทรโครแกรมมา แมลงหางหนีบ (Proreus simulans Stallen) แมลงช้าง (Chrysopa basalis Walker) Anthicus ruficollis Sand และ Formicomus braminus La ferte-Senectere (แมลงปีกแข็งในวงศ์ Anthicidae) และแมงมุม Cyclosa sp. 

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ถ้าไม่ระบาดรุนแรงจริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมักจะเกิดที่ปลายฝักหรือส่วนของลำต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการระบาดเกิดหลังจากถึงระยะติดเมล็ดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตนัก ในกรณีที่สังเกตเห็นว่ามีหนอนระบาดมากพอสมควร และมีโอกาสเกิดความเสียหายก็อาจป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีการป้องกันกำจัด 2 วิธีการ คือ 

1. เลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ค่อนข้างจะต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้น เช่น พันธุ์สุวรรณ 1 หรือพันธุ์สุวรรณ 2 

2. โดยทั่วไปในสภาพธรรมชาติมีแมลงศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ให้มีปริมาณลดลงอยู่บ้างแล้วไม่จำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด นอกจากในบางพื้นที่หรือบางฤดูกาลที่มีการระบาดรุนแรงจริง ๆ พอที่จะมีผลผลิตของข้าวโพดได้โดยอาศัยหลักการที่คอยสำรวจกลุ่มไข่อยู่เสมอ โดยผีเสื้อจะเริ่มวางไข่ที่ใต้ใบข้าวโพดตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 21 วัน เป็นต้นไป

เมื่อพบกลุ่มไข่ประมาณ 15 กลุ่มต่อ 100 ต้น หรืออายุข้าวโพดประมาณ 30-40 วัน หรือพบใบยอดที่ยังไม่คลี่ถูกทำลาย 40-60 เปอร์เซ็นต์ หรือเมื่อพบรูทำลายที่ลำต้น 2 รูต่อต้น หรือพบหนอน 2 ตัวต่อต้น จึงเริ่มใช้สารฆ่าแมลงช่วยป้องกันกำจัด เพราะเมื่อพบหนอนเข้าทำลายภายในลำต้นแล้ว ไม่มีประโยชน์ในการใช้สารฆ่าแมลงไปกำจัด โดยอาจใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ Triflumuron (Alsystin 25%WP) ในอัตรา 30 กรัม หรือ Teflubenzuron (Z-Killer 5% EC) ในอัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ Chlorfluazuron (Atabron 5% EC) ในอัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ Deltamethrin (Decis 3% EC) ในอัตรา 10 มิลลิลิตร หรือ Cypermethrin (Ripcord 15% EC) ในอัตรา 8 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร Fipronyl (Ascend 5% SC)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากข้าวแดงหอมที่ปะปนไปกับผลผลิตข้าวขาว จะทำให้ข้าวขาวขาดมาตรฐานตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดไม่ให้มีข้าวแดงปนในข้าวขาว 100% ชั้น 1 ชั้น 2 และ ชั้น 3 แม้แต่เมล็ดเดียว ดังนั้น กรมการข้าวจึงกำหนดมาตรการการปลูกข้าวแดงหอม ดังนี้ ควรปลูกในพื้นที่เฉพาะที่กำหนดไว้เท่านั้น และไม่ควรปลูกใกล้เคียง
ตัวเบียนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เบียดเบียนด้านบนหรือด้านในตัวศัตรูอ้อยเพื่อการเจริญเติบโต หรือดำรงอยู่จนครบวงจรชีวิต ทำให้เหยื่ออ่อนแอและตายในที่สุด
ดินเค็ม เป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเพาะปลูก เนื่องจากมีปริมาณเกลือที่ละลายได้อยู่ในดินมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินเค็มที่มีปริมาณโซเดียมมากเกินไป ได้แก่ ดินโซดิก และดินเค็มโซดิก จะทาให้สมบัติทางกายภาพของดินเสีย อนุภาคดินไม่เกาะตัว เกิดการฟุ้งกระจายได้ง่าย ดินแน่น