หนอนกออ้อย

หนอนกออ้อย (Sugarcane Borer) อาจจะเรียกว่าหนอนเจาะหน่ออ้อย หรือหนอนเจาะลำต้นอ้อย หมายถึง แมลงในระยะตัวอ่อนที่อาศัยกัดกินอยู่ภายในหน่ออ้อยหรือลำต้นอ้อย ทำให้ไส้กลวงหรือเกิดเป็นแผลภายใน หากมองจากด้านนอกจะเห็นว่ายอดเหี่ยวและแห้งตาย ในประเทศไทยมีหนอนกออ้อยอยู่ 5 ชนิด คือ

1. หนอนกอลายจุดเล็ก (Chilo infuscatellus)

2. หนอนกอสีชมพู (Sesamia inferens)

3. หนอนกอสีขาว (Scripophaga excerptalis)

4. หนอนกอลายใหญ่หรือหนอนกอแถบลาย (Chilo sacchariphagus)

5. หนอนกอลายจุดใหญ่ (Chilo tumidicostalis)

หนอนกอลายจุดเล็ก (Chilo infuscatellus)

ตัวเต็มวัยหนอนกอลายจุดเล็กเป็นผีเสื้อกลางคืนสีฟางข้าว อายุตัวเต็มวัน 7-12 วัน วางไข่เป็นกลุ่มสีขาวครีมวางซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลาอยู่ใต้ใบและบนใบอ้อย ระยะไข่ 3-6 วัน หนอนมีจุดขนาดเล็ก ๆ (ขนาดจุดดินสอดำปลายแหลม) สีน้ำตาลไหม้อยู่บนหลังปล้องละ 1 คู่ ระยะหนอน 30-35 วัน หนอนลอกคราบ 5 ครั้งจึงเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 5-8 วัน

หนอนกอสีชมพู (Sesamia inferens)

ตัวเต็มวัยของหนอนกอสีชมพูเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาล อายุ 7-11 วัน ไข่เป็นเม็ดกลมสีชมพูเป็นกลุ่มเรียงกันอยู่ในกาบใบที่แนบอยู่กับยอดหรือใกล้ยอดใบ ระยะไข่ 6-7 วัน หนอนลำตัวสีชมพูมีขนาดใหญ่กว่าหนอนกอลาย ระยะหนอน 30-50 วัน และลอกคราบ 8-9 ครั้ง ระยะดักแด้ 10-12 วัน พบว่าสามารถทำลายอ้อยในระยะหน่อทำให้เกิดยอดอ้อยแห้งตายเหมือนการทำลายของหนอนกอลาย ในระยะย่างปล้องหนอนเจาะเข้าทำลายลำต้นน้อยกว่าหนอนกอลายและเข้าทำลายอ้อยได้มากในระยะที่อ้อยแตกกอเมื่ออ้อยอายุ 1.5-4 เดือน พบว่าสามารถเข้าทำลายอ้อยได้ในทุกเขตทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตที่มีการปลูกอ้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ

หนอนกอสีขาว (Scripophaga excerptalis)

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีขาว อายุ 6-10 วัน ไข่แต่ละฟองเป็นเม็ดกลมสีขาวเป็นกลุ่มอยู่ใต้ใบอ้อยและมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ระยะไข่ 4-6 วัน ลำตัวของหนอนสีขาวซีด มีขนาดใหญ่ และยาวกว่าหนอนกอลาย ระยะหนอน 35-40 วัน ดักแด้สีขาวปนน้ำตาล ระยะดักแด้ 8-10 วัน หนอนเจาะเข้าเส้นกลางใบอ้อยที่เพิ่งคลี่ใบทำลายใบยอดที่กำลังเจริญเติบโต มีผลทำให้ใบยอดมีรูพรุนยอดสั้นและแห้งตาย ในอ้อยระยะย่างปล้องหนอนจะเข้าทำลายส่วนเจริญเติบโตทำให้ลำอ้อยแตกแขนงด้านข้างเรียกว่า ยอดพุ่ม ส่วนใหญ่หนอนจะเข้าทำลายมากในระยะแตกกอ แต่ถ้าปีใดฝนตกมากและสม่ำเสมอ หนอนจะสามารถเข้าทำลายได้ในระยะย่างปล้องมากเช่นกัน และสามารถพบว่าเข้าทำลายอ้อยได้ทั่วประเทศ

หนอนกอลายใหญ่หรือหนอนกอแถบลาย (Chilo sacchariphagus)

ลักษณะตัวเต็มวัยสีน้ำตาลเข้มกว่าหนอนกอลายจุดเล็กมีแถบสีน้ำตาลไหม้เล็ก ๆ เป็นแนวนอนบนปีกคู่หน้าเห็นได้ชัด อายุตัวเต็มวัน 9-15 วัน ลักษณะไข่และระยะไข่เหมือนหนอนกอลายจุดเล็ก แต่ไข่สีขาวใสกว่า ระยะหนอนยาวกว่าคือ 30-40 วัน และลักษณะหนอนมีแถบสีน้ำตาลอมม่วงเป็นแถบใหญ่พาดตามยาวของลำตัวเห็นชัดเจน ระยะดักแด้ 9-15 วัน

หนอนกอลายจุดใหญ่ (Chilo tumidicostalis)

ลักษณะตัวเต็มวัยสีเข้มที่สุดในบรรดาตัวเต็มวัยของหนอนกอทั้งหมด กลางปีกคู่หน้าจะมีขีดสีน้ำตาลหนึ่งเส้นพาดไปตามแนวนอนของปีกเห็นได้ชัด อายุตัวเต็มวัน 5-10 วัน ไข่เป็นกลุ่มสีขาวครีมซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลาอยู่ใต้และบนใบอ้อย ระยะไข่ 3-6 วัน ระยะหนอน 30-35 วัน ลักษณะหนอนคล้ายหนอนกอลายจุดเล็กมากเว้นแต่มีจุดด้านหลังของลำตัวกลมใหญ่กว่า (ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด) และมีสีน้ำตาลเข้มเห็นเด่นชัดกว่า ระยะดักแด้ 7-12 วัน เข้าทำลายในระยะหน่อทำให้อ้อยเกิดอาการยอดแห้งตาย เมื่ออ้อยอยู่ในระยะย่างปล้องหนอนจะเข้าลำต้นและยอดอ้อย หนอนกอลายจุดใหญ่ และหนอนกอลายจุดเล็กจะเข้าทำลายมากเมื่ออ้อยอายุ 1.5-4 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่อ้อยกำลังแตกกอ หรือเมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้ง ส่วนหนอนกอลายใหญ่นั้นพบระบาดในหน้าฝน และพบมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และพบว่าสามารถเข้าทำลายและสร้างความเสียหายให้กับทุกพื้นที่ในประเทศ

รูปแบบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อย

ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนกออ้อย คือ เมื่อหนอนกออ้อยฟักออกมาจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กัดกินอยู่บริเวณผิวใบหรือหน่ออ้อยเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจึงเจาะเข้าไปภายในลำต้นที่อยู่บริเวณผิวดินและอาศัยอยู่ภายใน หนอนกออ้อยมีลักษณะอุปนิสัยชอบการเคลื่อนย้าย คือ หลังจากหน่ออ้อยที่หนอนกออาศัยอยู่ตายก็จะย้ายไปทำลายหน่อใหม่ ดังนั้นหนอนกออ้อย 1 ตัว จึงสามารถทำลายอ้อยได้ 3-4 หน่อ หลังจากนั้นก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายในลำต้น หนอนกออ้อยสามารถเข้าทำลายอ้อยได้ในทุกระยะการเจริญ เติบโต คือ ทำลายหน่อเมื่ออ้อยยังเล็กอยู่ ทำลายทุกส่วนของลำต้นรวมถึงส่วนยอดของลำต้น เมื่ออ้อยอยู่ในระยะย่างปล้อง และระยะที่อ้อยเจริญเติบโตเต็มที่

ลักษณะต้นอ้อยที่ถูกหนอนกออ้อยเข้าทำลาย

ผลของการทำลายของหนอนกออ้อย คือ เมื่อหนอนกอลงทำลายที่หน่อหรืออ้อยโตจะทำให้เกิดยอดแห้งตาย หากดึงยอดที่แห้งตายจะหลุดออกโดยง่ายและอาจจะมีกลิ่นเหม็นเน่า อ้อยแตกแขนง อ้อยแตกเป็นพุ่มที่บริเวณยอด หากหนอนเข้าทำลายที่บริเวณฐานหรือโคนลำจะมีรอยเจาะเป็นรู หากผ่าลำดูจะพบว่ามีหนอนอยู่ข้างใน จะส่งผลให้ลำต้นอ้อยแตก และการเจริญเติบโตทางลำต้นถูกชะงักลง

บทความที่เกี่ยวข้อง

มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการจัดการเพื่อรักษาความอุดมสมบูณ์ของดินให้เหมาะสมกับการใช้ปลูกข้าวอินทรีย์ดังนี้ 1.ไม่เผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุอินทรีย์ในแปลงนา เพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ 2.ไม่นำชิ้นส่วนของพืชที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงออกจากแปลงนา แต่ควรนำวัสดุอินทรีย์จากแหล่งใกล้เคียงใส่แปลงนาให้สม่ำเสมอทีละเล็กละน้อย
ความสำคัญ แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา จัดเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีความสำคัญ ที่สามารถทำลาย ไข่หนอนกออ้อย ไข่หนอนกอข้าว ไข่หนอนเจาะสมอฝ้าย และไข่หนอนกระทู้เป็นต้น โดยตัวเมียของแตนเบียนไข่ทริโคแกรมม่าจะวางไข่ ไว้ในไข่ของแมลงศัตรูพืช ทำให้ไข่ไม่ฟักออกเป็นตัวแต่จะฟักออกเป็นแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา มักใช้แตน