ปุ๋ยสั่งตัด นวัตกรรมการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

ปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างแพร่หลาย การใช้งานส่วนใหญ่จะใช้ตามความรู้สึก การคาดการณ์หรือประสบการณ์ของเกษตรกร แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจดินและการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ประกอบกับการใช้ข้อมูลชุดดินอ้างอิง ทำให้สามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ช่วยลดการใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็นของต้นพืชได้ นำไปสู่การลดต้นทุนค่าปุ๋ย

ขั้นตอนการใช้ปุ๋ยสั่งตัด

1) ทราบข้อมูลชุดดิน

สามารถค้นหาชุดดินในพื้นที่ของตนเองได้หลากหลายวิธี โดยวิธีที่สะดวกสำหรับเกษตรกรทั่วไปคือการสอบถามไปยังกรมพัฒนาที่ดินในพื้นที่ของตนเอง หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th  หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน กดดูรู้ดิน ก็จะสามารถทราบข้อมูลชุดดินในพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง เพื่อใช้ประกอบกับการใช้ปุ๋ยสั่งตัด

2) การตรวจวิเคราะห์ดิน

ดินแต่ละตัวอย่างต้องเป็นตัวแทนของพื้นที่ที่มีความสม่ำเสมอ และขนาดของแต่ละแปลงไม่ควรเกิน 25 ไร่ (ดิน 1 ตัวอย่างเป็นตัวแทนของพื้นที่ 25 ไร่) เดินสุ่มเก็บตัวอย่างดิน15-20 จุดให้ทั่วการเก็บตัวอย่างดินแต่ละจุดต้องเก็บเศษซากพืชบนผิวดินออกเสียก่อน แต่อย่าปาดหน้าดินออก แล้วใช้จอบพลั่วหรือเสียมขุดดินเป็นหลุมรูปตัววี (V) หรือรูปลิ่ม ปลูกข้าว ให้ขุดลึก 10 ซม. พืชไร่/พืชผัก 15 ซม. ไม้ผล/ยางพารา 30 ซม. แซะดินด้านใดด้านหนึ่งของหลุม ให้ได้ตัวอย่างดินเป็นแผ่นหนา 2-3 ซม. และมีความลึกตั้งแต่ผิวดินจนถึงก้นหลุม แล้วนำตัวอย่างดินใส่รวมกันในกระป๋องพลาสติกเมื่อได้ครบ 15 จุด เทดินทั้งหมดลงบนผ้าพลาสติกที่สะอาด เก็บเศษรากพืชออก ถ้าดินเปียก ให้ตากดินในที่ร่มย่อยดินให้เป็นก้อนเล็กๆ คลุกเคล้าดินให้เข้ากัน กองดินเป็นรูปฝาชี แบ่งดินออกเป็น 4 ส่วน เก็บดินไว้เพียงส่วนเดียวและทำซ้ำจนเหลือดินหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ถ้าดินยังเปียกอยู่ให้ตากในที่ร่มต่อไป บดให้ละเอียด อาจใช้ขวดแก้วที่สะอาด เก็บดินในถุงพลาสติก เขียนชื่อหมายเลขแปลง และวันที่ที่เก็บดินกำกับไว้ แล้วนำส่งวิเคราะห์ที่คลินิกดิน

ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการตรวจดินด้วยตนเองก็สามารถทำได้ โดยใช้ชุดตรวจดินที่สามารถบอกค่า N P K และ pH ได้ เช่น ชุดตรวจดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

3) การผสมปุ๋ยสั่งตัด

การผสมปุ๋ยสั่งตัด สามารถทำได้เมื่อทราบข้อมูลชุดดินและค่าวิเคราะห์ดิน โดยจะมีคู่มือการผสมปุ๋ยให้มาพร้อมกับชุดตรวจดิน โดยสามารถดูสัดส่วนการผสมปุ๋ยได้จากค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ เช่น การประยุกต์ใช้ปุ๋ยสั่งตัดกับแปลงนาข้าว กข 43 พื้นที่คูโบต้าฟาร์ม โดยทำการวิเคราะห์ดิน ประกอบกับข้อมูลชุดดินมาบบอน ก่อนการใส่ปุ๋ย ได้ค่า N P K = ต่ำ ปานกลาง ต่ำซึ่งจะได้ปริมาณการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ คือ

  ปุ๋ยครั้งที่ 1 ค่า N = 7 กิโลกรัม

  ปุ๋ยครั้งที่ 2 ค่า P = 5 กิโลกรัม

  ปุ๋ยครั้งที่ 3 ค่า K = 7 กิโลกรัม

  ปุ๋ยครั้งที่ 4 ค่า N = 9 กิโลกรัม (ใส่เฉพาะ N)

  รวมปริมาณปุ๋ยทั้งหมด 23 กิโลกรัม จากปกติทั่วไป 40 – 50 กิโลกรัมต่อไร่ ได้ผลผลิตในปี 2563 ปริมาณ 633 กิโลกรัมต่อไร่

เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานปุ๋ยสั่งตัดที่ตรงความต้องการของพืชมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น รวมถึงลดโอกาสการเกิดข้าวล้มในกรณีที่ใส่ปุ๋ยมากเกินไป จนทำให้มีการเจริญเติบโตทางใบและลำต้นมากเกินความจำเป็นจนข้าวล้มได้อีกด้วย

 อ้างอิงข้อมูล

–  เอกสารแจกเกษตรกร การปลูกข้าวปลอดภัยเชิงพาณิชย์แบบเป็นมิตรกับระบบนิเวศแบบ “สั่งตัดเงินล้าน” โดย ผศ.ดร. แสงดาว เขาแก้ว และคณะ

–  http://www.ssnm.info/

–  http://www.banrainarao.com/

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก (Acherontia styx ; Death’s head hawk month) หรือเกษตรกรมักจะเรียกว่า “หนอนแก้ว” เป็นแมลงศัตรูที่มีพืชอาหารกว้าง พบในถั่วงา มะเขือ ยาสูบ มันเทศ ม่านบาหลี และแตง เป็นต้น วงจรชีวิตของหนอนผีเสื้อหัวกะโหลกใช้เวลา 49-56 วัน ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 125-156
โรคไหม้ คืออะไร ? สาเหตุเกิดจาก เชื้อรา Pyricularia grisea Sacc. พบมาก ในน้ำฝน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง พบส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้