ระบบ Modern Farm เริ่มต้นมาอย่างไร
คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า การเตรียมแปลงปลูกนั้นก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี ที่ไร่ด่านช้างได้มีการใช้ระบบเข้ามาควบคุมการทำร่องเพื่อกำหนดขนาดของร่องได้ทันที ที่ไร่ด่านช้างแห่งนี้มีการกำหนดขนาดร่องปลูกเอาไว้ที่ 1.85 เมตร โดยที่ร่องปลูกนั้นจะมีการทำรอยเส้นไว้ ซึ่งสามารถทำให้คนปลูกสามารถดูแนวระยะปลูกได้ง่าย
ส่วนเครื่องมือที่ใช้ไถหน้าดินเตรียมแปลงปลูกนั้นมีความพิเศษเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนของใบมีดจะมีลักษณะกึ่งตัวแอล ทำมุม 90 องศา ซึ่งจะช่วยให้สามารถฟันดินได้ป่นกว่าใบมีดรูปแบบอื่น เมื่อไถพรวนดินแล้วสามารถปลูกได้ทันที ไวกว่าวิธีที่ต้องมาไถแล้วเริ่มทำหน้าดินใหม่ แต่วิธีนี้สามารถเริ่มปลูกได้ทันที
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้ Ripper (คราดดินติดรถไถ) เข้าไปเสริมในการช่วยทำให้ดินร่วนซุยขึ้น ถ้าในช่วงที่มีความชื้น Ripper จะดึงความชื้นขึ้นมาจากดิน ทำให้ในเวลาปลูกอ้อยไม่ต้องใช้น้ำในการรดแปลงปลูก ส่วนลูกกลิ้งที่ไถมาพร้อมกับรถไถพรวนนั้นจะทำให้ร่องแปลงปลูกเรียบ แล้วยังช่วยเก็บความชื้นให้อยู่ในดินที่ไถพรวนได้นาน
Modern Farm มีหลักปฎิบัติอย่างไร
คุณกิมเพชร กล่าวว่า สำหรับโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีหลักใหญ่อยู่ 4 ประการ ด้วยกันคือ
1. ต้องมีการเว้นพื้นที่พักบำรุงดินด้วยการไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ใบอ้อยคลุมดินหรือเมื่อรถตัดมาตัดอ้อยสดเข้าโรงงานแล้วเอาใบอ้อยคลุมดินไว้ ก็จะช่วยจัดเก็บความชื้นเอาไว้ได้นาน ซึ่งจะลดการใช้สารปุ๋ยเคมีลงได้ด้วยการใช้ใบอ้อยคลุมดินแทน
2. ลดการไถพรวนบดอัดหน้าดิน หรือ Control Traffic ไม่ให้ล้อรถขึ้นไปเหยียบบนพื้นที่ที่จะใช้ปลูกอ้อย เพราะฉะนั้น การจะใช้ control traffic ให้ได้ผลนั้น มิตรผลใช้ระบบ GPS (อุปกรณ์ระบุตำแหน่ง) ติดกับรถไถและรถตัดอ้อยเพื่อคอนโทรลไม่ให้ล้อรถขึ้นไปเหยียบบนแปลงปลูกอ้อย
3. การจัดรูปแบบแปลงปลูกที่ไร่ด่านช้าง มีการวางขนาดร่องปลูกไว้ที่ 1.85 เมตร โดยเว้นระยะให้รถจักรกลหนักที่จะเข้าไปทำงานภายในไร่สามารถผ่านไปได้โดยไม่ทำความเสียหายให้กับตออ้อยที่ปลูกไว้
4. ปลูกพืชบำรุงดิน ไม่ปลูกอ้อยซ้ำกันทุกปี แต่ปลูกพืชตระกูลถั่วปีเว้นปี เช่น ถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว เพื่อหยุดพักหน้าดินและให้อาหารเสริมแก่ดินในบริเวณไร่อ้อยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุภายในดินอีก ทั้งยังเป็นการตัดวงจรแมลงศัตรูพืชที่อยู่ในบริเวณไร่อ้อย
คุณกิมเพชร กล่าวต่อไปว่า ส่วนระยะร่องคันดินที่ใช้ในการปลูกอ้อยควรมีระยะการยกหน้าดินให้มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะปลูกที่เหมาะสม ต้นอ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากทำครบ 4 เสาหลักนี้แล้ว โอกาสความยั่งยืนของการปลูกอ้อยและผลผลิตอ้อยต่อไร่นั้นจะมีมากขึ้น เนื่องจากมีการบำรุงดินพร้อมกับลดการไถพรวนดินทำให้จุลินทรีย์ในดินไม่ตายไป
ปลูกอ้อยด้วย ระบบ Modern Farm
คุณกิมเพชร กล่าวว่า รถปลูกอ้อยที่ใช้สำหรับปลูกอ้อยในรูปแบบโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีอุปกรณ์การปลูกที่ประกอบไปด้วยเครื่องปลูกแบบแนวนอน จานปลูกมีลักษณะเป็นดิสก์ฝังลงไปในหน้าดิน ซึ่งในสมัยก่อนนั้นมีการใช้เครื่องปลูกแบบหัวหมู ทำให้ความชื้นภายในดินลดลง จานดิสก์ที่ใช้นี้ก็เป็นรูปแบบ 2 ร่องคู่ ห่างกัน 50 เซนติเมตร โดยภายใน 1 เมตร นั้น จะได้ท่อนพันธุ์อ้อย 6 ท่อนพันธุ์ เฉลี่ยท่อนพันธุ์ละสองข้อตาก็จะได้อ้อยจำนวน 12 ข้อตา ต่อการงอก
องค์ประกอบที่สองเป็นส่วนของท่อนพันธุ์อ้อยที่อยู่บนรถสาลี่ลาก ซึ่งจะประกอบไปด้วยแผงกันและที่ยืนซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกันคนงานที่เสียบต้นพันธุ์อ้อยไม่ให้หล่นลงไป
วิธีการปลูกอ้อยที่ฝังลงไปในดินแบบจานดิสก์จะทำให้ดินเกิดแผลเล็กๆทำให้ความชื้นในดินที่อยู่ด้านล่างจากการเตรียมดินด้วยริปเปอร์ (Ripper) ลากไปนั้นจะขึ้นมาหาท่อนพันธุ์ที่ปลูก จากนั้นใช้ลูกกลิ้งที่ติดกับรถปลูกอ้อยกลบหน้าดินเพื่อกันไม่ไห้ความชื้นขึ้นไปกับอากาศ ซึ่งขั้นตอนการปลูกนี้ก็มีการใช้ GPS ชี้กำหนดแนวร่องปลูก เพื่อ Control traffic ลดการบดอัดหน้าดินลง
สำหรับการปลูกอ้อยด้วยรถปลูกนั้น จะทำงานด้วยระบบไฮดรอลิกทั้งหมด ดังนั้น การทำงานก็จะใช้วิธีเปิดระบบไฮดรอลิกเพื่อให้ท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงไปในดินมีความสม่ำเสมอเท่ากันทุกท่อน ซึ่งท่อนพันธุ์ที่ปลูกลงไปจะมีขนาดความยาวอยู่ที่ 37 เซนติเมตร
โดยเฉลี่ยท่อนพันธุ์ที่คำนวณแล้วจาก 12 หน่อ ต่อ 1 ไร่ จะได้อ้อย ประมาณ 20,000 ลำ ปุ๋ยที่ใส่รองพื้นระหว่างปลูกอ้อยนี้เพื่อช่วยให้อ้อยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ประมาณ 3 เดือน โดยใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสเพื่อบำรุงรากของต้นอ้อยไปพร้อมกันด้วย
คุณกิมเพชร กล่าวเสริมอีกว่า ปัญหาหลักที่พบระหว่างปลูกอ้อยลงแปลงนั้นคือ การโหลดอ้อยเข้ามาในสาลี่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ทำโมเดิร์นฟาร์ม ต้องใช้เวลาโหลดอ้อย ประมาณ 35 นาที แต่ขณะนี้ได้มีการเสริมชุดโหลดท่อนพันธุ์อ้อยมาให้ในสาลี่สำรอง เมื่อหมดสาลี่หลักก็สามารถเปลี่ยนสาลี่แล้วปลูกต่อได้ทันที
ข้อดีของการทำแปลงปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มคือ การลดแรงงานคน อีกทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่ขาดแคลนลงได้ โดยหากใช้ระบบโมเดิร์นฟาร์มเข้ามาจัดการกับแปลงปลูกอ้อยสามารถใช้คนงานปลูกอ้อยแค่ 2 ถึง 4 คน เท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้คนงานปลูกอ้อย 6 ถึง 8 คน แล้วยังต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่เพื่อลากท่อนพันธุ์ ทำให้สิ้นเปลืองปริมาณน้ำมันไปอีกด้วย