ชีวภัณฑ์ คืออะไร ตัวช่วยเกษตรกรกำจัดศัตรูพืชแบบไร้สารตกค้าง
ชีวภัณฑ์ มิตรคู่เกษตรกร ผู้ปกป้องพืชผักจากศัตรูพืช วิธีการเกษตรที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎี
ห่วงโซ่อาหารเข้ากับเกษตรกรรมอย่างลงตัว อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในยุคที่การใช้สารเคมี
ไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภค เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งชีวภัณฑ์คืออะไร
ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้กับ KUBOTA
ชีวภัณฑ์ คืออะไร
ชีวภัณฑ์ (Biopesticide) คือ สิ่งมีชีวิตหรือสารที่ใช้สำหรับควบคุมและป้องกันศัตรูพืช
โดยมีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น พืช, สัตว์, แมลง, จุลินทรีย์ แต่ไม่นับรวมสาร
ที่สกัดจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นสารเคมีเชิงเดี่ยวเช่น ไพรีทรอยด์, นิโคติน, อะบาเม็กติน ฯลฯ
ชีวภัณฑ์จึงเป็นวิธีการป้องกันศัตรูพืชที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และผู้บริโภค
ประเภทของชีวภัณฑ์
ชีวภัณฑ์แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดดังนี้
1. จุลินทรีย์ (Micro-Organism)
จุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ โดยเชื้อจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เพิ่มปริมาณได้เองตามธรรมชาติ แต่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ซึ่งจุลินทรีย์ที่นำมาทำเป็นชีวภัณฑ์ได้นั้น จะมีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดโรค
อย่างเฉพาะเจาะจงกับศัตรูพืช ส่งผลทำให้เสียชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักดังนี้
- จุลินทรีย์ ควบคุมแมลง
จุลินทรีย์ที่จะควบคุมแมลง คือ จุลินทรีย์ที่จะทำการปล่อยสปอร์ออกมาให้สัมผัสกับแมลง
ซึ่งสปอร์จะเกาะอยู่กับตัวแมลงและงอกออกมาแทงผ่านเปลือกของแมลง ซึ่งสปอร์จะค่อย ๆ
เจริญเติบโตภายในตัวแมลง คอยดูดกินสารอาหารจนแมลงแห้งตาย ซึ่งชีวภัณฑ์ประเภทนี้
มีอยู่ด้วยกันหลายตัว เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย บาสเซียนา (Beauveria bassiana) ที่ทำลายแมลงศัตรูพืชจำพวก เพลี้ย เป็นต้น
- จุลินทรีย์ ควบคุมโรคพืช
จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืช คือ จุลินทรีย์ ที่จะทำการฆ่าเชื้อโรคของพืชต่าง ๆ โดยเบียดเบียน
แย่งอาหารจากเชื้อโรคพืช สร้างเส้นใยแทงโรคพืช สร้างสารพิษ และผลิตน้ำย่อย เพื่อฆ่าเชื้อโรคพืชโดยเฉพาะ ซึ่งชีวภัณฑ์ประเภทนี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ฮาเซียนั่ม (Trichoderma harzianum) เชื้อราที่กำจัดเชื้อโรคพืชหลายชนิดที่อยู่ภายในดิน เป็นต้น
- จุลินทรีย์ ควบคุมสัตว์ศัตรูพืช
จุลินทรีย์ที่ทำลายสัตว์ศัตรูพืชประเภทต่าง ๆ ด้วยการทำให้เกิดโรคส่งผลให้เสียชีวิต เช่น เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู ทำงานโดยการให้หนูกินเข้าไป เหยือโปรโตซัวจะไปสร้างซีสต์ในตัวหนู
หลังจากนั้น 10-15 วันหนูจะตายด้วยอาการน้ำท่วมปอด หรือ ไตวาย เป็นต้น
2. ตัวห้ำ (Predator)
ตัวห้ำ คือ สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีพด้วยการกินศัตรูพืชเพื่อการอยู่รอด และเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิต ตัวห้ำเป็นได้ทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลัง เช่น นก งู กิ้งก่า กบ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกแมลง โดยตัวห้ำมักมีขนาดใหญ่กว่าศัตรูพืช ทำให้สามารถควบคุมสัตว์หรือแมลง
ที่มารบกวนพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต ด้วงเต่าตัวห้ำ แมลงปอ แมลงช้าง แมลงหางหนีบ และแมงมุม เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น การกำจัดศัตรูพืชของตัวห้ำ แมลงเต่าทองที่กินเพลี้ยไฟ หรือแมลงวันเจาะใบที่กินหนอนผีเสื้อ เป็นต้น
3. ตัวเบียน (Parasite)
ตัวเบียน คือ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในหรือบนตัวศัตรูพืช โดยใช้ศัตรูพืชเป็นแหล่งอาหาร ซึ่งจะคอยเบียดเบียนศัตรูพืชด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น วางไข่ในศัตรูพืช เมื่อไข่ฟักออกมา ตัวเบียนจะกินอาหาร
ในตัวเหยื่อจนตาย ทำให้ควบคุมศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่า เพศเมีย จะใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปตรงส่วนบนของไข่ผีเสื้อ เมื่อแตนเบียนฝักออกมา ก็จะดูดกินของเหลวภายในไข่
ของผีเสือ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะเจาะไข่ของผีเสื้อออกมา ทำให้ไข่ของผีเสื้อกลายเป็นสีดำภายใน 3 วัน
ข้อดีของชีวภัณฑ์
- ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ชีวภัณฑ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มาจากธรรมชาติ จึงไม่มีสารเคมีตกค้าง ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชีวภัณฑ์ เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตจึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
ต่อสิ่งแวดล้อม หากปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติทำงานอย่างต่อเนื่องจะให้ผลแบบยั่งยืน
เพราะศัตรูธรรมชาติมีชีวิตสามารถขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่มีอาหารอยู่
และไม่มีความเสี่ยงเมื่อมีศัตรูพืชระบาด - ประหยัดค่าใช้จ่าย การใช้ชีวภัณฑ์ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมี
เพราะศัตรูธรรมชาติมีอยู่มากมายในธรรมชาติไม่ต้องเสียเงินซื้อ ทำงานโดย
ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและหลายชนิดเกษตรกรสามารถผลิตขยายใช้เองในราคาถูก - ป้องกันการดื้อยาของศัตรูพืช การใช้ชีวภัณฑ์ช่วยลดการดื้อยาของศัตรูพืช
ที่เกิดจากการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง
สรุปเกี่ยวกับชีวภัณฑ์ ป้องปราบศัตรูพืช สร้างผลผลิตอย่างมีคุณภาพ
การใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืช เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรได้กำไรมากขึ้นได้รับ ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ไร้สารเคมีตกค้าง เพิ่มความปลอดภัยให้กับ
ผู้บริโภค เกษตรกรจึงควรนำชีวภัณฑ์มาใช้ในการเกษตร เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
และระบบนิเวศและถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการทำให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติ ส่งผลให้
คุณภาพชีวิตของเกษตรกรเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดตามสาระการปลูกพืชดี ๆ แบบนี้ได้ที่
KAS (KUBOTA (Agri) Solutions)