ปุ๋ย คืออะไร มีกี่ประเภท มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ก่อนปลูกพืชต้องอ่าน!

ปุ๋ย คืออะไร มีกี่ประเภท มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง ก่อนปลูกพืชต้องอ่าน!

ปุ๋ย หนึ่งในตัวช่วยของเกษตรกร ที่จะยกระดับประสิทธิภาพของการเพาะปลูก ปลูกผักก็ขึ้นงาม ปลูกผลไม้ก็โตง่าย เพิ่มผลผลิตให้งอกเงยสมบูรณ์ ได้ผลผลิตตามต้องการ และมีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งบทความนี้ KUBOTA จะมาเจาะลึกทุกรายละเอียดทุกประเด็น
ของปุ๋ย จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

ปุ๋ยคืออะไร ? ช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างไร

ปุ๋ย คือ สารอินทรีย์ หรือ อนินทรีย์ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ สำหรับใช้
เป็นธาตุอาหารแก่พืช หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมกับพืช พืชสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดี ช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างแข็งแรง มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

ปุ๋ย

ปุ๋ยมีกี่ประเภท ? มีข้อดี – ข้อเสียอย่างไร

ปุ๋ยสามารถแบ่งได้ 4 ประเภทตามกรรมวิธีการผลิต และแหล่งที่มา ดังนี้

1. ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ (เศษซากพืช สัตว์ จุลินทรีย์) ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น ทำให้ชื้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด ฯลฯ ทำให้วัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายโดยสมบูรณ์ (ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลาย) โดยปุ๋ยอินทรีย์จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. ปุ๋ยคอก: ปุ๋ยที่ได้มาจากมูลของสัตว์ต่าง ๆ เช่น วัว ควาย ไก่ หมู ฯลฯ นำไปหมัก
    ให้เกิดการย่อยสลาย สามารถนำมาใช้ได้ทั้งแบบสดหรือตากแห้ง
  2. ปุ๋ยหมัก: ปุ๋ยที่ได้มาจากเศษซากของพืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เช่น ตอซังข้าว/ข้าวโพด เศษผลไม้ แกลบ ฯลฯ โดยนำมาหมักจะทำให้ได้อินทรีย์วัตถุที่มีสีน้ำตาล
    จึงสามารถนำไปใช้ได้
  3. ปุ๋ยพืชสด: ปุ๋ยที่ได้มาจากการปลูกพืชบำรุงดิน เมื่อระยะพืชเจริญเติบโตเต็มที่หรือระยะพืชกำลังออกดอก ให้ทำการไถกลบกลายเป็นปุ๋ยพืชสด โดยพืชที่นิยมนำมาทำได้แก่ ปอเทืองหรือพืชตระกูลถั่วเป็นต้น
  4. ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์: ปุ๋ยอินทรีย์จะมีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูง ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น (เกิดการร่วนซุย) และไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ
  5. ข้อเสียของปุ๋ยอินทรีย์: มีปริมาณธาตุอาหารต่าง ๆ น้อย จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับปุ๋ย
    ชนิดอื่นเพื่อให้ธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการพืช
ปุ๋ยอินทรีย์

2. ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม เป็นสารประกอบอนินทรีย์
ที่ให้ธาตุอาหารแก่พืช เป็นสารประกอบที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน
ที่มีความชื้นเหมาะสม ปุ๋ยเคมีจะละลายให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว โดยแบ่งได้เป็น
2 ประเภท ดังนี้

  1. ปุ๋ยเดี่ยว หรือ แม่ปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารคือไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบอยู่หนึ่งหรือสองธาตุแล้วแต่ชนิด ของสารประกอบที่เป็นแม่ปุ๋ยนั้น ๆ มีปริมาณของธาตุอาหารที่คงที่ และมีความเข้มข้นสูง มักนำมาใช้ ผสมเป็นปุ๋ยสูตรต่าง ๆ โดยแม่ปุ๋ยสามารถดูจากตัวเลขบนถุงที่จะมีเพียง 1 ชนิด เช่น ปุ๋ยไนโตรเจน (46-0-0), ปุ๋ยฟอสฟอรัส (18-46-0), ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เป็นต้น
  2. ปุ๋ยผสม เป็นปุ๋ยที่มีการนำแม่ปุ๋ย หลายชนิดมาผสมรวมกัน เพื่อให้ปุ๋ยที่ผสมได้มีปริมาณ และสัดส่วนของธาตุอาหาร N P และ K ตามที่ต้องการ เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่เหมาะจะใช้กับพืช
    และดินที่แตกต่างกัน เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15, ปุ๋ยสูตร 16-8-8 เป็นต้น

ข้อดีของปุ๋ยเคมี

  • ปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชได้เร็ว พืชใช้ประโยชน์ได้ทันที
  • มีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงมาก (ใช้ปริมาณน้อยก็เพียงพอ)
  • ราคาถูกเมื่อเทียบต่อหน่วยธาตุอาหารพืช หาซื้อได้ง่าย และใช้สะดวก

ข้อเสียของปุ๋ยเคมี

  • ปุ๋ยแอมโมเนียม (46-0-0) ทำให้ดินเป็นกรด เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ทำลายโครงสร้างดิน ดินเสื่อมโทรมได้ง่าย
  • มีความเค็มที่มาก ทำให้ต้องตรวจสอบปริมาณที่ใช้กับพืชทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเคมี

3. ปุ๋ยชีวภาพ

ปุ๋ยชีวภาพ หรือ ปุ๋ยจุลินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่นำเอาจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพดิน ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ ชีวเคมี ช่วยให้ดินมีความเหมาะสมพร้อมสำหรับการปลูกพืช
โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.กลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์สารประกอบอาหารพืชไนโตรเจนได้เอง เช่น แบคทีเรีย
ไรโซเบียมที่อยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่ว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ในโพรงใบของแหนแดง
และยังมีจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินอย่างอิสระอีกมากที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้แก่พืชได้เช่นกัน
2.กลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยทำให้ธาตุอาหารพืชในดินละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น เช่น เชื้อราไมคอร์ไรซาที่ช่วยให้ฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินละลายออกมาอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้

  • ข้อดีของปุ๋ยชีวภาพ: เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์ ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เป็นปุ๋ยต้นทุนต่ำ ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีช่วยลดการใช้ ปุ๋ยเคมี
  • ข้อเสียของปุ๋ยชีวภาพ: ต้องระวังในการเก็บรักษา เนื่องจากประกอบด้วยจุลินทรีย์
    ที่มีชีวิต และให้ธาตุอาหารพืชบางชนิด อาจจะไม่ครอบคลุม
แหนแดงปุ๋ยชีวภาพ

4. ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้อุณหภูมิสูง ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น โรคพืช โรคสัตว์ โรคมนุษย์ และจุลินทรีย์ทั่ว ๆ ไป จากนั้นให้นำจุลินทรีย์
ที่เลี้ยงไว้ โดยมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยชีวภาพมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว หลังจากนั้นให้ทำการหมักต่อไป จนกระทั่งจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปในปุ๋ยอินทรีย์มีความคงที่ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะคอยช่วยตรึงไนโตรเจนให้พืช ผลิตฮอร์โมน ควบคุมโรค และกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคอีกด้วย ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่มีคุณสมบัติของ ปุ๋ยอินทรีย์ และ ปุ๋ยชีวภาพ

  • ข้อดีปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ: ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ทำให้ธาตุอาหารภายในดินมีความหลากหลายและปริมาณที่มากพอต่อพืช
  • ข้อเสียปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ: ต้องใช้เวลาในการผลิตและแสดงผลที่มากกว่าปุ๋ยชนิดอื่น
    รวมไปถึงมีต้นทุนการผลิตที่สูง

ธาตุอาหารในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชเติบโตมีอะไรบ้าง ?

ธาตุอาหารในปุ๋ยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

1. ธาตุอาหารหลัก

ธาตุอาหารหลักของพืช คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการเป็นจำนวนมากแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • ไนโตรเจน (N): คือ ธาตุอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของใบและลำต้น หากพืชได้รับไนโตรเจนไม่เพียงพอ จะทำให้ใบของพืชเล็กลงมีสีเหลือง และลำต้นแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างปุ๋ยไนโตรเจนได้แก่ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0), ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) เป็นต้น
ปุ๋ยไนโตรเจน
  • ฟอสฟอรัส (P): คือ ธาตุอาหารที่ช่วยในการแพร่กระจายของราก ทำให้พืชยึดเกาะดินได้ดีไม่ล้มง่าย ทั้งยังช่วยในเรื่องของการผลิดอก ออกผล และสร้างเมล็ด หากพืชได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอ จะส่งผลให้รากไม่แข็งแรงล้มง่าย ใบจะแสดงอาการโดยมีสีม่วงหรือน้ำตาล และหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างปุ๋ยฟอสฟอรัสได้แก่ ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (20-53-0) เป็นต้น
ปุ๋ยฟอสฟอรัส
  • โพแทสเซียม (K): คือ ธาตุอาหารที่ช่วยในเรื่องการสร้างผล โดยจะทำให้ผลผลิต
    ที่ออกมามีคุณภาพดี ทั้งยังช่วยให้พืชแข็งแรงมีสุขภาพดี รวมไปถึงป้องกันศัตรูพืช
    ถ้าพืชได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ผลผลิตเติบโตได้ไม่เต็มที่และมีคุณภาพต่ำ ตัวอย่างปุ๋ยโพแทสเซียมได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) ปุ๋ยเคมีโพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50) เป็นต้น
ปุ๋ยโพแทสเซียม

2. ธาตุอาหารรอง

ธาตุอาหารรอง คือ ธาตุอาหารที่พืชต้องการน้อยแต่ขาดไม่ได้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดดังนี้

  • แคลเซียม (Ca): ช่วยในการเจริญเติบโตของรากและยอด เพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์พืช
    หากพืชได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้ใบของพืชเกิดการหงิกงอมีจุดดำขึ้นที่เส้นใบ รากสั้นลง และผลผลิตที่ออกมาไม่มีคุณภาพ ตัวอย่างปุ๋ยที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบได้แก่ แคลเซียมซัลเฟต (Calcium Sulfate, ยิปซั่ม), แคลเซียมไนเตรต (Calcium Nitrate) เป็นต้น
  • แมกนีเซียม (Mg): เป็นส่วนประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์แสง
    และการสร้างพลังงาน หากพืชได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้ใบเหลืองแก่และหลุดร่วงง่าย ตัวอย่างปุ๋ย แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate, เอปซอมซอลต์), แมกนีเซียมออกไซด์ (Magnesium Oxide)
  • กำมะถัน (S): เป็นส่วนประกอบของกรดอะมิโนและโปรตีน ช่วยในการสร้างเอนไซม์และวิตามิน หากพืชได้รับกำมะถันไม่เพียงพอจะทำให้ลำต้นอ่อนแอลง ตัวอย่างปุ๋ย แอมโมเนียมซัลเฟต (Ammonium Sulfate), แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate)

3. จุลธาตุ

จุลธาตุเป็นธาตุอาหารที่ต้องการน้อยกว่าธาตุอาหารหลักและรอง แต่ขาดไม่ได้เช่นกัน
ซึ่งจะอยู่ด้วยกันดังนี้

  • เหล็ก (Fe): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์เพื่อสังเคราะห์แสง ถ้าได้รับ
    ธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้ใบของพืชมีสีขาวซีด ตัวอย่างปุ๋ย ปุ๋ยเหล็กซัลเฟต (Ferrous Sulfate), เหล็กคีเลต (Iron Chelate)
  • แมงกานีส (Mn): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางตัว หากพืชได้รับแมงกานีสไม่เพียงพอจะทำให้ใบอ่อนมีสีเหลือง หากทิ้งไว้นานเกินไปจะทำให้ใบแห้งเหี่ยวลง ตัวอย่างปุ๋ยที่มีแมงกานีสเป็นส่วนประกอบได้แก่ แมงกานีสซัลเฟต (Manganese Sulfate)
  • สังกะสี (Zn): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยเสริมในการสร้างเมล็ดพันธุ์ ต้านทานโรคพืช หากขาดธาตุนี้จะทำให้รากสั้นลง ใบมีสีเหลืองและขาวแซมประปราย ตัวอย่างปุ๋ย สังกะสีซัลเฟต (Zinc Sulfate), สังกะสีคีเลต (Zinc Chelate)
  • ทองแดง (Cu): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสร้างคลอโรฟิลล์ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด หากพืชได้รับธาตุนี้ไม่เพียงพอจะทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโต ปุ๋ยจะอยู่ในรูปธาตุอาหารเสริมเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ปุ๋ยคีเลตทองแดง (Cu-EDTA), ทองแดงซัลเฟต (Copper Sulfate)
  • คลอรีน (Cl): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสังเคราะห์แสง และการคงความสมดุลของน้ำในเซลล์พืช ถ้าพืชได้รับธาตุชนิดนี้ไม่เพียงพอ จะทำให้รากอ่อนแรงและลำต้นแห้งเหี่ยวลง ตัวอย่างปุ๋ย โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride), แอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride)
  • โบรอน (B): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการผลิดอกออกผล และเคลื่อนย้ายน้ำตาลเข้าสู่ผล ถ้าได้รับธาตุนี้ไม่เพียงพอจะทำให้ลำต้นไม่ยืดตัว ตัวอย่างปุ๋ย โบรอนคีเลต (Boron Chelate), โบรอนซัลเฟต (Boron Sulfate)
  • โมลิบดินัม (Mo): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในกระบวนการตรึงไนโตรเจนคงที่ และการเปลี่ยนไนเตรตเป็นไนไตรต์ในพืช หากขาดธาตุนี้จะทำให้ใบมีจุดเหลืองเล็ก ๆ ขึ้น ตัวอย่างปุ๋ยโซเดียมโมลิบเดต (Sodium Molybdate), แอมโมเนียมโมลิบเดต (Ammonium Molybdate)
  • นิเกิล (Ni): เป็นธาตุอาหารที่ช่วยเปลี่ยนสภาพไนโตรเจนให้เหมาะสมกับพืช ทำให้พืชนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ช่วยในเรื่องการงอกเมล็ด หากพืชได้รับธาตุชนิดนี้ไม่เพียงพอ จะทำให้พืชผลิตผลออกมาน้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่พืชมักจะไม่ขาดธาตุนี้ โดยตัวอย่างปุ๋ยได้แก่ นิกเกิล ซัลเฟต (Nikel Sulphate)
ธาตุอาหารในปุ๋ย

4. อินทรีย์วัตถุ

อินทรีย์วัตถุ (Organic Matter) คือ วัสดุที่มาจากสิ่งมีชีวิตทั้งที่ยังมีชีวิตและตายไปแล้วในดิน เช่น ซากพืช ซากสัตว์ และจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพดิน ทำให้สามารถกักเก็บน้ำและสารอาหารได้นานขึ้น รวมไปถึงการระบายอากาศในดิน ทำให้รากพืชเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดินซึ่งมีบทบาทในการแปลงสารอินทรีย์ให้กลายเป็นธาตุอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ ทั้งยังช่วยป้องกันและควบคุมโรคพืชอีกด้วย

5. จุลินทรีย์ แบคทีเรีย และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆในดิน

จุลินทรีย์ในดิน (Microorganism) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาด 1 ไมครอน มีรูปร่างลักษณะเป็นเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ ส่วนใหญ่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภทเช่น แบคทีเรีย, เชื้อรา ฯลฯ โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะอาศัยอยู่ในดินที่ระดับความลึก 1-20 นิ้ว ซึ่งจุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินชั้นนี้ทำให้เกิดการทับถมของสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายแล้ว ส่งผลให้ดินมีธาตุอาหารจำนวนมาก ทั้งยังถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี ดินที่มีจุลินทรีย์จำนวนมากจึงเหมาะต่อการปลูกพืชมากที่สุด

สรุปเกี่ยวกับ ปุ๋ย ตัวช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตการเกษตร

ปุ๋ย เป็นอาหารบำรุงที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตของพืชให้มากขึ้น ซึ่งปุ๋ยมีอยู่หลายประเภทเกษตรกรจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ว่ามีข้อดี – ข้อเสียแบบใด จะส่งผลต่อพืชแบบไหน เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องและเหมาะสม ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกร คุ้มค่าต่อการลงทุน หากต้องการศึกษาสาระความรู้ดี ๆ
แบบนี้ อย่าลืมติดตามได้ที่เว็ปไซต์ KAS (KUBOTA (Agri) Solutions)

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชีวภัณฑ์ มิตรคู่เกษตรกร ผู้ปกป้องพืชผักจากศัตรูพืช วิธีการเกษตรที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีห่วงโซ่อาหารเข้ากับเกษตรกรรมอย่างลงตัว อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในยุคที่การใช้สารเคมีไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภค เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งชีวภัณฑ์คืออะไร ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้กับ KUBOTA 
"นาข้าว ยิ่งเขียว ยิ่งดี” หรือ “ใส่ปุ๋ยมาก ๆ ข้าวจะได้งอกงาม” จริงหรือ? ถ้าอยากรู้คลิกเลย
ฟางข้าว อย่ามองข้าม สามารถนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเกษตร พลังงาน หรือแม้กระทั่งแฟชั่น ในบทความนี้ KAS จะมาแนะนำ 10 วิธีการแปรรูปฟางข้าววัสดุเหลือใช้ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน จะมีอะไรบ้างไปดูกัน