ทำนาวิถีใหม่ นาเปียกสลับแห้ง และปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ข้าวของมีราคาเพิ่มมากขึ้น ผู้คนต่างก็ต้องดิ้นรนหารายได้ให้สูงขึ้นตาม การทำนาแบบเดิม ๆ ที่ได้ผลผลิตเช่นเดิมอาจไม่ตอบโจทย์กับรายได้อีกต่อไป เกษตรกรจึงต้องปรับตัว และหาวิธีการทำนารูปแบบใหม่ ที่ได้ผลผลิตและกำไรที่มากขึ้น  ซึ่งการทำ ‘นาเปียกสลับแห้ง’ และ ‘การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์’ อาจจะเป็นทางออกที่ดีให้กับเกษตรกรได้ บทความนี้ KAS จะพาเกษตรกรมารู้จักวิธีทั้ง 2 นี้ให้เป็นตัวเลือกในการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น

ปรับตัวให้ทันยุค ทำนาให้ทันสมัย เพื่อผลกำไรที่มากขึ้น

ท่ามกลางสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ค่าใช้จ่ายการทำนามีแต่จะสูงขึ้นในทุกวัน หากเกษตรกรยังคงทำนาด้วยวิธีดั้งเดิมที่ขังน้ำในแปลง และปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตตามธรรมชาติ โดยไม่ได้คำนึงถึงทรัพยากรน้ำในช่วงหน้าแล้งว่าจะเพียงพอหรือไม่ อาจทำให้การทำนาสร้างผลกำไรได้ไม่มากเท่าที่ควร จึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาสู่รูปแบบใหม่ที่ได้ผลกำไรมากกว่าเดิมอย่าง การทำนาเปียกสลับแห้ง

“การทำนาเปียกสลับแห้ง หนทางการทำเกษตรของเกษตรกรไทย”

การทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นเทคนิคการปลูกข้าวที่อาศัยการ ควบคุมระดับน้ำ ในแปลงนา โดยสลับระหว่างช่วงที่มีน้ำขังและช่วงที่ดินแห้ง ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของราก ทำให้ต้นข้าวแข็งแรงและให้ผลผลิตที่สมบูรณ์

นอกจากจะช่วยให้รวงข้าวสวยและมีคุณภาพแล้ว วิธีนี้ยังสามารถ ลดต้นทุนการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านปริมาณการใช้น้ำที่ลดลงถึง 25-30% รวมถึงลดการใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี ส่งผลให้เกษตรกรสามารถ เพิ่มผลกำไร ได้อย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นแนวทางการเพาะปลูกที่ช่วยให้ภาคเกษตรกรรมมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยใด? ที่ทำให้การทำนาเปียกสลับแห้งยังคงเป็นเรื่องท้าทาย

แม้การทำนาเปียกสลับแห้งจะมีข้อดีหลายประการ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำนาเปียกสลับแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ‘ปัญหาการจัดการน้ำ’ ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งชลประทานได้ และ ช่วงเวลาการส่งปล่อยน้ำในระบบชลประทานที่คาดเดาได้ยาก ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอเมื่อต้องปล่อยน้ำเข้าแปลงนา รวมถึงปัจจัยอย่าง ‘การปรับระดับพื้นที่นา’ ที่มีผลอย่างมาก เพราะพื้นที่ต่างระดับ ทำให้การควบคุมและกระจายน้ำไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

‘การปรับพื้นที่’ ขั้นตอนสำคัญของการทำนาเปียกสลับแห้ง

การปรับพื้นที่ให้เรียบทั่วทั้งแปลง คือสิ่งจำเป็นในการทำนาเปียกสลับแห้ง เมื่อปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอกันทั่วทั้งแปลง น้ำก็จะสามารถกระจายได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ข้าวได้น้ำและความชื้นอย่างเหมาะสม ต้นข้าวเติบโตแข็งแรงและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังส่งผลต่อการจัดการวัชพืชและปุ๋ยได้ง่ายขึ้น เพราะระดับพื้นนาที่เรียบ จะสามารถขังน้ำในระดับที่เสมอกันทั่วทั้งแปลง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการป้องกันการเกิดวัชพืชในนาข้าว รวมถึง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารของต้นข้าวในแปลงได้อย่างทั่วถึง

ควรใช้วิธีการปรับพื้นที่แบบไหนดี?

การปรับพื้นที่นารูปแบบดั้งเดิม เช่น การใช้ไม้กระดานติดรถไถ หากมองด้วยตาเปล่าอาจเห็นว่าแปลงราบเรียบ แต่แท้จริงแล้วเราไม่สามารถวัดหรือประเมินว่าระดับของหน้าดินมีความสม่ำเสมอกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งระดับของหน้าดินที่ไม่สม่ำเสมออาจส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำให้เท่ากันทั่วทั้งแปลงได้ ดังนั้นการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) จึงเป็นทางออกที่จะมาช่วยปรับพื้นที่นาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling)

การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) คือการใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์มาช่วยปรับพื้นที่ให้ได้ระดับอย่างสม่ำเสมอและแม่นยำทั่วทั้งแปลง โดยเป็นการย้ายดินจากจุดพื้นที่สูงของแปลง เกลี่ยลงในพื้นที่ต่ำ โดยสามารถปรับให้หน้าดินทั่วทั้งแปลงมีความสูงต่ำแตกต่างเฉลี่ยเพียง 3 – 5 เซนติเมตร อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำเข้าแปลงในขั้นตอนการปรับพื้นที่นาแบบดั้งเดิม ทำให้สามารถลดการใช้น้ำได้ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน แต่พื้นที่แปลงที่ปรับด้วยเลเซอร์นั้น จะมีความเรียบลดลงทุกครั้งที่มีกิจกรรมการเพาะปลูกและใช้งานเครื่องจักรในแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระดับพื้นที่หน้าดิน ฉะนั้นจึงแนะนำให้ควรทำซ้ำทุก ๆ 2 – 3 ปี

ข้อดีของการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling)

  1. สามารถปรับพื้นที่ในขณะที่ดินแห้งได้เลย ไม่จำเป็นต้องเอาน้ำเข้าแปลงก่อนตีหน้าดิน ลดขั้นตอนและช่วยประหยัดน้ำตั้งแต่ขั้นตอนแรก
  2. ทำให้พื้นที่เรียบสม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในการงอกของวัชพืชในจุดที่เป็นโคกและดอน ช่วยลดความเสี่ยงในจุดแอ่งน้ำขังที่อาจขัดขวางการเจริญเติบโตของต้นข้าว
  3. ช่วยกระจายน้ำในแปลงได้อย่างทั่วถึง ทำให้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. เพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของราก ในขั้นตอนการปล่อยน้ำให้แห้งของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะทำให้ต้นข้าวทุกจุดของแปลงเจริญเติบโตได้ดีสม่ำเสมอ เนื่องจากสามารถปล่อยน้ำให้แห้งเพื่อกระตุ้นรากได้ทั่วถึงทั้งแปลง
  5. เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว เนื่องจากต้นข้าวเติบโตอย่างสม่ำเสมอและตั้งตรง ลดการสูญเสียผลผลิต

อุปกรณ์การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling)

  1. เครื่องควบคุมและส่งสัญญาณเลเซอร์ หรือ ตัวยิงเลเซอร์ สำหรับควบคุมและตั้งค่าระดับแนวแสงเลเซอร์อ้างอิง
  2. เครื่องรับสัญญาณเลเซอร์ สำหรับรับสัญญาณแสงเลเซอร์อ้างอิง และส่งสัญญาณไปควบคุมการทำงานของชุดต่อพ่วงใบมีดเกลี่ยดิน
  3. ชุดต่อพ่วงกล่องใบมีดเกลี่ยดิน ใช้สำหรับการเกลี่ยลากเนื้อผิวดิน โดยจะปรับความสูงต่ำของกล่องใบมีดอัตโนมัติจากเครื่องรับสัญญาณที่ควบคุมชุดไฮโดรลิก
  4. แทรกเตอร์ สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ ชุดต่อพ่วงกล่องใบมีดเกลี่ยดิน

วิธีการปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling)

  1. เก็บข้อมูลพื้นที่ด้วยการสุ่มวัดระดับพื้นที่เดิม โดยใช้อุปกรณ์ยิงเลเซอร์ยิงเป็นแนว ใช้คนเดินสุ่มเก็บข้อมูลแต่ละจุดตามแนวตารางหมากรุก จากนั้นจะได้ชุดตัวเลขที่บ่งบอกบริเวณที่เป็นลุ่มเป็นดอน โดยถ้าตัวเลขสูงหมายถึงพื้นที่มีความสูง ต่ำ และใช้ชุดตัวเลขนี้ในการหาค่ากึ่งกลางหรือค่าเฉลี่ยของแนวระดับที่เหมาะสม เพื่อนำไปตั้งค่าแนวระดับเลเซอร์ และตั้งค่าการรับ – ส่งสัญญาณระหว่างอุปกรณ์

2. ต่อพ่วงรถไถกับตัวรับสัญญาณเลเซอร์ วิ่งวนทั่วแปลงให้กล่องใบมีดทำการปรับพื้นที่ โดยกล่องใบมีดจะปรับระดับขึ้นและลง เพื่อเกลี่ยดินจากจุดเนินสู่จุดต่างระดับให้ราบเรียบตามแนวเลเซอร์อัตโนมัติ ให้วิ่งปรับพื้นที่จนกว่ากล่องสถานะเป็นแสงไฟสีเขียวในแปลงครบทุกจุด

ปรึกษาการทำนาเปียกสลับแห้ง การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) ให้ KAS ช่วยเหลือ

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ยังคงเป็นวิธีการใหม่ และยังมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างสูงกว่าการปรับพื้นที่แบบทั่วไป ทั้งนี้เกษตรกรควรศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลคุณประโยชน์และความคุ้มค่าก่อนการเลือกใช้วิธีการปรับพื้นที่ที่เหมาะสม

หากเกษตรกรท่านใดมีคำถามหรือต้องการเริ่มทำนาเปียกสลับแห้งหรือปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) สามารถปรึกษากับ KAS ได้ผ่านช่องทางติดต่อดังต่อไปนี้

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

สยามคูโบต้า นำองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ไปต่อยอดและพัฒนาเกษตรกร ด้วยการทำแปลงทดสอบการปลูกพืชหมุนเวียน (Revolving crop model) ในพื้นที่นาข้าว ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี โดยร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร
น้ำไม่ได้คุณภาพ มีวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
คุณเคยหรือไม่? นัดหมายลูกค้าเป็นอย่างดี แต่ลูกน้องกลับไม่ไปตามนัด ไปผิดแปลง หรือวางแผนงานล่วงหน้าไม่ได้เพราะลูกน้องขอเบิกเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์แบบรายวัน ฯลฯ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำ จะหาตัวช่วยอย่างไรดี หาคำตอบพร้อมกันที่นี่ คลิกเลย