รู้จัก การทำนาเปียกสลับแห้ง การทำนาลดโลกร้อน
การทำนาเปียกสลับแห้ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาให้ดีขึ้น พร้อมตอบโจทย์การทำนาแบบรักษ์โลก ซึ่งการทำนาเปียกสลับแห้งทำอย่างไร มีข้อดีแบบไหน ศึกษา
การเป็นชาวนารักษ์โลกไปพร้อมกับ KAS ได้ในบทความนี้
การทำนาเปียกสลับแห้ง คืออะไร
การทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีทั้งสภาพเปียกและสภาพแห้งที่เหมาะสม
กับความต้องการน้ำของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติเพื่อให้ดิน
มีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง โดยช่วงที่เหมาะสมต่อเทคนิค
การทำนาเปียกสลับแห้ง ได้แก่ ระยะข้าวแตกกอและก่อนเก็บเกี่ยว การทำนาเปียกสลับแห้งนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ต้นข้าวแข็งแรงแล้ว ยังประหยัดน้ำในการเพาะปลูก และลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นหนึ่ง
ในก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของการเกิดสภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ขอบคุณภาพจาก : ARDA THAILAND
ข้อดีของการทำนาเปียกสลับแห้ง
- ลดการใช้น้ำในภาคการเกษตร ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวมากถึง 25-40% เนื่องจากมีการควบคุมระดับน้ำภายในแปลงนา พร้อมกับมีช่วงที่ปล่อยน้ำให้แปลงนาแห้ง
ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม - ลดต้นทุนการเพาะปลูก ลดต้นทุนค่าสูบน้ำเข้าออกแปลงนา และต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี
ในการเพาะปลูกข้าวเมื่อต้นข้าวมีความแข็งแรงมากขึ้น - เพิ่มผลผลิต การทำนาเปียกสลับแห้งสามารถช่วยให้รากและลำต้นข้าวเจริญเติบโตแข็งแรงมากขึ้น ต้นข้าวสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากมีการป้องกันกำจัดวัชพืชภายในแปลงอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย
- ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำนาเปียกสลับแห้งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับการทำนาแบบขังน้ำตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการจัดการในแต่ละพื้นที่
- มีโอกาสสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เมื่อเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งพร้อมกับมีการบันทึกข้อมูลกิจกรรมภายในแปลง เกษตรกรมีโอกาสสร้างรายได้เสริมจากการขาย คาร์บอนเครดิต กับหน่วยงานที่เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการหรือรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตร
วิธีการทำนาเปียกสลับแห้ง
การทำนาเปียกสลับแห้งมีวิธีการดังนี้
- เตรียมท่อ PVC วัดระดับน้ำ ขนาด 4 นิ้ว ยาว 25 ซม. ให้วัดจากขอบท่อลงมา 5 ซม. จากนั้น
ใช้ปากกาเคมีทำเครื่องหมายไว้ กำหนดระยะห่างทุก ๆ 5 ซม. จากนั้นทำการเจาะรูตามที่มีการทำเครื่องหมายไว้ - นำท่อ PVC วัดระดับน้ำที่เจาะรูไปฝังไว้ในแปลงนาลึก 20 ซม.จากระดับผิวดิน และท่อจะพ้นระดับ
ผิวดินขึ้นมาอีก 5 ซม.จากนั้นทำการขุดดินในท่อออก เมื่อนำน้ำเข้าแปลงนาให้สังเกตระดับน้ำ
จะเสมอปากท่อ PVC รูปแบบการติดตั้งท่อให้วาง 1 ท่อ ต่อที่นา 1 แปลง หรือวางตามระดับ
ความลาดชันของพื้นที่
ขอบคุณภาพจาก: เกษตรก้าวไกล กับ สวก.
- ในวันที่ทำการเพาะปลูกให้ลดระดับน้ำเสมอผิวดินเพื่อสะดวกต่อการดำนา และหลังจากดำนา 1-2 วันให้ทำการฉีดพ่นสารคุมวัชพืชก่อนงอกเพื่อป้องกันและลดจำนวนไม่ให้วัชพืชขึ้นหนาแน่นในช่วงที่
ทำเปียกสลับแห้ง - เมื่อต้นกล้าข้าวที่ปักดำเริ่มฟื้นตัว ช่วง 7 – 10 วันหลังปักดำให้ทำการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และเริ่มวิธีการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง
- หลักการทำนาเปียกสลับแห้งจะเริ่มทำในช่วงข้าวอยู่ในระยะแตกกอ โดยจะเติมน้ำเข้าแปลงที่ระดับ
5 ซม. เหนือผิวดินหรือเสมอปากท่อวัดระดับน้ำ และปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติที่ระดับ 15 ซม. หรือเมื่อสังเกตุเห็นรูสุดท้ายของท่อวัดระดับน้ำ จากนั้นจะเติมน้ำเข้าแปลงนาและทำการปล่อยให้แห้งอีกครั้งสลับกันจนกระทั่งข้าวเข้าสู่ระยะตั้งท้อง ระยะเวลาการทำเปียกสลับแห้งจะอยู่ที่ 20-35 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว ลักษณะดิน และสภาพอากาศ - เมื่อข้าวเข้าสู่ระยะตั้งท้องจะทำการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 และขังน้ำในแปลงนาที่ระดับ 5-10 ซม.
ตามความสูงของต้นข้าว โดยระยะตั้งท้องและออกรวงเป็นช่วงที่ข้าวขาดน้ำไม่ได้และจำเป็นต้องใช้น้ำสำหรับการเจริญเติบโต - ก่อนเก็บเกี่ยว 10 – 15 วัน ให้ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้แห้ง เพื่อเร่งให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน
สาเหตุที่ชาวนาไม่นิยมทำนาเปียกสลับแห้ง
- ชาวนาไทยยังขาดองค์วามรู้เกี่ยวกับวิธีการทำเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ทั้งนี้
ทุกภาคส่วนจึงควรส่งเสริมหรือรณรงค์ ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้และแรงจูงใจ
ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรแบบลดโลกร้อน - การทำนาเปียกสลับแห้งมีความท้าทายในด้านการจัดการวัชพืช ในสภาพที่ดินแห้งอาจทำให้วัชพืช
ที่เติบโตได้ดีมากขึ้น เช่น วัชพืชใบแคบและใบกว้าง - การทำนาเปียกสลับแห้งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในเรื่องเตรียมพื้นที่ และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึง
ขั้นตอนการจัดการน้ำทำให้ชาวนาหลายคนไม่นิยมทำนาเปียกสลับแห้ง - การทำนาเปียกสลับแห้งต้องมีการจดบันทึกข้อมูลการจัดการน้ำและตรวจวัดน้ำโดยละเอียด
เพื่อนำส่งให้กับบริษัทที่รับซื้อ Carbon Credit เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
สรุปทั้งหมด เกี่ยวกับการทำนาเปียกสลับแห้ง
การทำนาเปียกสลับแห้ง ถือเป็นวิธีการที่สำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน หากเกษตรกรมีองค์ความรู้
และการจัดการที่ดีควบคู่ไปด้วย จะทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ ลดต้นทุนการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิตข้าว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากคาร์บอนเครดิต
ทางสยามคูโบต้ามุ่งหวังที่จะผลักดันการทำเกษตรคาร์บอนต่ำ เพื่อลดโลกร้อนและปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งมอบโลกสีเขียวให้กับลูกหลานอย่างยั่งยืน
เรียนรู้การทำนาเปียกสลับแห้งกับ KAS ก้าวสู่การทำนายุคใหม่พร้อม ๆ กัน
ศึกษาการทำนาเปียกสลับแห้งไปพร้อมกันกับ KUBOTA ก้าวเข้าสู่การทำนาแห่งยุคสมัยใหม่ ที่นอกจาก
จะทำให้ข้าวมีคุณภาพดี ปริมาณสูงแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับเกษตรกร
ท่านใดที่ต้องการทราบข้อมูลความรู้ที่จำเป็นต่อการทำการเพาะปลูกและการทำเกษตรให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
อย่าลืมติดตามความรู้ด้านการเกษตรยุคใหม่ได้ทุกสัปดาห์ที่เว็บไซต์ KAS Kubota (Agri) Solutions
คลังความรู้เพื่อเกษตรกรไทยทุกคน