เกษตรอินทรีย์ คืออะไร เกษตรสายธรรมชาติ ไร้สารพิษปนเปื้อน

เกษตรอินทรีย์ คืออะไร เกษตรสายธรรมชาติ
ไร้สารพิษปนเปื้อน

ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเกษตรอินทรีย์ได้กลายเป็นหนึ่งในวิธีการเกษตรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงขั้นตอนการทำ ประโยชน์ และข้อกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีอะไรบ้าง
ไปดูกันเลย!

เกษตรอินทรีย์ คืออะไร?

เกษตรอินทรีย์ คือการทำการเกษตรด้วยวิธีที่เน้นหลักธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการเกษตร
ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีสารกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า/แมลง รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการทำ เกษตรอินทรีย์ จะมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ขั้นตอนการทำเกษตรอินทรีย์

1. ตรวจสอบดิน และแหล่งน้ำ

การตรวจสอบคุณภาพดินและแหล่งน้ำเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ พื้นที่ที่จะทำการเกษตรนั้นต้องไม่เคย
ทำการเกษตรเคมี มาไม่น้อยกว่า 3 ปี  ต้องอยู่ห่างจากเขตอุตสาหกรรม และมีแหล่งน้ำ ที่ปลอดสารพิษ เพื่อให้แน่ใจว่าดินและน้ำในพื้นที่ที่ทำการเกษตรไม่มีสารพิษหรือสารเคมีตกค้างที่อาจเป็นอันตรายต่อพืช
และผู้บริโภค

2. ปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ

ดินดี ผลผลิตย่อมมีความแข็งแรงและอุดมสมบูรณ์ การปรับปรุงดินในแนวทางเกษตรอินทรีย์
จะใช้แนวทางชีวภาพและอินทรีย์วัตถุเป็นหลัก การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การใช้จุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ การใช้พืชตระกูลถั่วบำรุงดิน และปลูก
หญ้าแฝกเพื่อลดการพังทะลายของหน้าดิน

3. คัดเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้า

การทำเกษตรอินทรีย์ แหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ตรวจสอบแหล่งที่มาได้
เมล็ดพันธุ์ต้องสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน เช่น ไม่มีแมลงหรือเมล็ดพืชอื่น จากนั้นเริ่มต้นกระบวนการ
เพาะกล้า เพื่อให้ต้นผักได้มีการเจริญเติบโตที่ดีและมีความแข็งแรง

4. ปลูกกล้าลงดิน

การปลูกกล้าลงดินหลังจากการเพาะ นอกจากช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการดูแลต้นกล้าแล้ว ยังช่วยให้
การวางแผนการเพาะปลูกเป็นไปได้ง่ายขึ้น ลดโอกาสที่ต้นกล้าจะติดโรคหรือถูกแมลงศัตรูพืชทำลาย

5. หว่านปุ๋ยอินทรีย์

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่าง ปุ๋ยคอก, ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ จะช่วยเสริมสร้างธาตุอาหารในดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ทนทาน​ต่อโรคและแมลง

6. ป้องกันศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ

แนวทางการ ป้องกันศัตรูพืช สำหรับเกษตรอินทรีย์จะใช้วิธีทางธรรมชาติเป็นหลัก เช่น สารสกัดสมุนไพร สารชีวภัณฑ์ การทำความสะอาดแหล่งเพาะปลูก ใช้มุ้งป้องกัน เป็นต้น

ประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์

ขอบคุณรูปภาพจาก Puechkaset

1. เพิ่มมูลค่าผลผลิต

ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ขายได้ราคาสูงกว่าผลผลิตที่ใช้สารเคมี เนื่องจากมีความปลอดภัย
อุดมด้วยธาตุ คุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดสำหรับกลุ่มรักสุขภาพ

2. ลดต้นทุนการผลิต

การใช้หรือแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและขยะอินทรีย์
จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ เกษตรกรได้กำไรมากขึ้น

3. ผลผลิตปลอดภัย

เมื่อกระบวนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ผลผลิตที่ได้จึงไม่มีสารพิษตกค้าง ทำให้มั่นใจได้ว่าผลผลิตปลอดภัยต่อการบริโภค

4. เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

ผลผลิตจาก เกษตรอินทรีย์ มีความต้องการในตลาดสูง ทำให้สามารถจัดจำหน่ายได้ในช่องทาง
ที่หลากหลายกว่า ตั้งแต่ร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ
อย่าง Tops Supermarket, Gourmet Market หรือ Lemon Farm

5. สร้างความสมดุลให้กับสภาพแวดล้อม

หลักของการทำ เกษตรอินทรีย์ คืออิงวิถีธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน

ข้อกำหนดการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีอะไรบ้าง?

ห้ามใช้สารเคมี

เกษตรอินทรีย์ ห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกประเภทในกระบวนการผลิต นอกจากผลผลิตที่ได้
จะไม่ออร์แกนิคแล้ว ยังส่งกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และสุขภาพของผู้บริโภค

ไม่ใช้พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMO)

พืชที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมในกระบวนการปลูก จะมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่าอาหารปกติในธรรมชาติ และอาจมีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ตรวจสอบกระบวนการเกษตรได้

การรับรองว่ากระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการเกษตร เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในทุกขั้นตอนการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่น ตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ ติดตามและบันทึกข้อมูลการใช้ปุ๋ยและสารอินทรีย์ในการบำรุงรักษาพืช เป็นต้น

ไม่สร้างมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อม

การทำเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสิ่งแวดล้อมในสภาพที่ดีและยั่งยืน

ไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนหรือเสื่อมสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สภาวะโลกร้อน (Global Warming)

ตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีอะไรบ้าง

ประเภทที่ 1 ตรามาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของประเทศผู้นำเข้าสินค้าอินทรีย์รายใหญ่

ตราสัญลักษณ์นี้แสดงถึงการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าอินทรีย์
เป็นจำนวนมาก เช่น:

  • USDA Organic ของสหรัฐอเมริกา: ตราสัญลักษณ์นี้รับรองว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์
    ผ่านการตรวจสอบและปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา
  • EU Organic ของสหภาพยุโรป: ตราสัญลักษณ์นี้บ่งบอกว่าสินค้าถูกผลิตและตรวจสอบ
    ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป

ประเภทที่ 2 ตรามาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของหน่วยงานรับรองเอกชน

ตราสัญลักษณ์จากหน่วยงานรับรองเอกชนที่ได้รับความน่าเชื่อถือ เช่น:

  • Organic Cert ของญี่ปุ่น: หน่วยงานรับรองนี้มีมาตรฐานที่เข้มงวดและการตรวจสอบ
    ที่ละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมีคุณภาพสูงและปลอดภัย
    ต่อผู้บริโภค
  • Ecocert ของฝรั่งเศส: เป็นหนึ่งในหน่วยงานรับรองที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเน้นการตรวจสอบที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นไปตามหลักการและมาตรฐานที่กำหนด

ประเภทที่ 3 ตรามาตรฐานสินค้าอินทรีย์ของหน่วยงานไทย

ขอบคุณรูปภาพจาก Vayo Farm

ตราสัญลักษณ์ที่ออกโดยหน่วยงานรับรองของไทย เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (Organic Thailand) ซึ่งรับรองว่าเป็นสินค้าที่ผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศ

ตราสัญลักษณ์ที่ออกโดยหน่วยงานรับรองของไทย เช่น:

  • มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (Organic Thailand): ตราสัญลักษณ์นี้รับรองว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ถูกผลิตตามมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานของประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการลดการใช้สารเคมีในการผลิต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
    ต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

สรุปเกี่ยวกับ เกษตรอินทรีย์ การเกษตรออร์แกนิค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นวิธีการเกษตรที่ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ยังเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย ด้วยขั้นตอนการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ใส่ใจในธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีในการพัฒนาการเกษตรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ดาวน์โหลด :

ที่มาของข้อมูล :

บทความที่เกี่ยวข้อง

การอนุรักษ์ดินและน้ำ นอกเหนือจากการปรับปรุงดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและมีสมบัติอื่น ๆ ไม่เหมาะสมให้ดีขึ้นโดยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ในขณะเดียวกันควรมีการป้องกันหรือควบคุมความเสื่อมโทรมของดินไปด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุดรูรั่วหรือป้องกันการสูญเสียเนื้อดินที่ดีรวมทั้งอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารออกไป
รถติดหล่ม รถไถแทรกเตอร์ติดหล่ม ปัญหาใหญ่ของการทำนาด้วยเครื่องจักรกลทางการเกษตร หากเกิดขึ้นมา อาจรบกวนเวลาการทำงานเป็นอย่างมากอีกทั้งยังทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย แต่จริง ๆ แล้วปัญหารถติดหล่มสามารถแก้ไขเองได้ไม่ยาก โดยบทความนี้ KUBOTA (Agri) Solutions ได้นำขั้นตอนการแก้ไขปัญหารถติดหล่มมาให้ถึง 6 วิธี จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย