แมลงสิง (rice bug) ศัตรูพืชสำคัญในนาข้าว

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Leptocorisa acuta (Thunberg) Leptocorisa oratorius (Fabricius)

วงศ์                  :   Alydidae

อันดับ               :   Hemiptera

ชื่อสามัญอื่น      :   แมลงฉง

           แมลงสิง Leptocorisa oratorius (Fabricius) เป็นมวนชนิดหนึ่ง  ตัวเต็มวัยมีรูปร่างเพรียวยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร  หนวดยาวใกล้เคียงกับลำตัว โดยลำตัวด้านบนสีน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีเขียวเมื่อถูกรบกวนจะบินหนี และปล่อยกลิ่นเหม็นออกจากต่อมที่ส่วนท้อง ตัวเต็มวัยจะออกหากินช่วงบ่ายๆ และช่วงเข้ามืด และเกาะพักที่หญ้าขณะที่มีแสงแดดจัด เพศเมียวางไข่ได้หลายร้อยฟองในช่วงชีวิตประมาณ 2-3 เดือน วางไข่เป็นกลุ่มมี 10-12 ฟอง เรียงเป็นแถวตรงบนใบข้าวขนานกับเส้นกลางใบ ไข่มีสีน้ำตาลแดงเข้ม รูปร่างคล้ายจาน วงจรชีวิตในระยะไข่ 7 วัน ตัวอ่อนมีสีเขียวแกมน้ำตาลอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวก่อน ต่อมาเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายเมล็ดข้าวในระยะข้าวเป็นน้ำนมจนถึงออกรวง

ลักษณะการทำลายและการระบาด

           ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าวได้ทั้งเมล็ดอ่อนและเมล็ดแข็ง โดยตัวเต็มวัยจะทำความเสียหายมากกว่า เพราะดูดกินเป็นเวลานานกว่าทำให้เมล็ดลีบ หรือเมล็ดไม่สมบูรณ์และผลผลิตข้าวลดลงการดูดกินของแมลงสิง ไม่ทำให้เป็นรูบนเปลือกของเมล็ดเหมือนมวนชนิดอื่นโดยปากจะเจาะผ่านช่องว่างระหว่างเปลือกเล็กและเปลือกใหญ่ของเมล็ดข้าว ความเสียหายจากการทำลายของแมลงสิงทำให้ข้าวเสียคุณภาพมากกว่าทำให้น้ำหนักเมล็ดลดลง โดยเมล็ดข้าวที่ถูกแมลงสิงทำลายเมื่อนำไปสีจะแตกหักง่าย แมลงสิงเริ่มพบในต้นฤดูฝน ขยายพันธุ์ 1-2 รุ่นบนพืชอาศัยพวกวัชพืชตระกูลหญ้า ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแปลงนาข้าวช่วงระยะข้าวออกดอก แมลงสิงพบได้ทุกสภาพแวดล้อม แต่พบมากในนาน้ำฝนและข้าวไร่ สภาพที่เหมาะต่อการระบาดคือ   นาข้าวที่อยู่ใกล้ชายป่า มีวัชพืชมากมายใกล้นาข้าว และมีการปลูกข้าวเหลื่อมเวลากันข้อสังเกต ถ้ามีแมลงสิงระบาดในนาข้าวจะได้กลิ่นเหม็นฉุน

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดวัชพืชในนาข้าว คันนาและรอบๆแปลง

2. ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในนาข้าวที่พบระบาดและนำมาทำลาย

3. ตัวเต็มวัยชอบกินเนื้อเน่า นำเนื้อเน่าแขวนไว้ตามนาข้าว และจับมาทำลาย

4. หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ขยายพันธุ์

5. ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อแมลงสิงมากกว่า 4 ตัวต่อตารางเมตร ในระยะข้าวเป็นน้ำนม

บทความที่เกี่ยวข้อง

หนอนชอนใบอ้อย (แมลงดำหนามอ้อย) (Sugarcane hispid beetle) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhadinosa reticulate Baly วงศ์ : Hispidae รูปร่างลักษณะ : หนอนชอนใบอ้อย หรือ แมลงดำหนามอ้อย เป็นด้วงปีกแข็งมีขนาดเล็ก ตัวยาว 3-4 มิลลิเมตร มีสีดำ บนหลังและปีกมีหนามแข็งยาวแหลมอยู่ทั่วไป ตัวเมียวางไข่ใบเดี่ยว ๆ ไว้ใต้
ชุดดินในที่ดอนที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5. ชุดดินโคราช (โคราช series : Kt) กลุ่มชุดดินที่ 35 การกำเนิด : เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ และ/หรือเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะทางไม่ไกลนักของหินตะกอนเนื้อหยาบพวกหินทรายบริเวณพื้นที่เกือบราบหรือที่เกือบราบ (peneplain)
รำข้าว คือ ส่วนที่ได้จากการขัดข้าวกล้องให้เป็นข้าวสาร ซึ่งประกอบด้วยชั้นเยื่อหุ้มเมล็ด และคัพภะ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้จากกระบวนการสีข้าว โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รำหยาบ (bran) ซึ่งได้จากการขัดผิวเมล็ดข้าวกล้อง และรำละเอียด(polish) ได้จากการขัดขาวและขัดมัน นอกจากนี้รำข้าวยังมีคุณค่าทางอาหารสูง