เพลี้ยอ่อนที่ราก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetraneura nigriabdominalis

วงศ์ :  Aphididae

อันดับ : Homoptera

เพลี้ยอ่อนที่ราก T. nigriabdominalis เป็นแมลงปากเจาะดูด  ขนาดเล็กประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดง ชมพู หรือเหลืองส้ม ลำตัวอ่อนนุ่ม เคลื่อนไหวช้า พบแต่เพศเมีย ไม่มีปีก รูปร่างคล้ายผลฝรั่ง หนวดมี 5 ปล้อง สืบพันธุ์โดยออกลูกเป็นตัว (viviparous parthenogenesis) ระยะตัวอ่อนมี 4 ระยะ ระยะที่ 1-4 อายุเฉลี่ย 15 วัน ตัวเต็มวัยอายุ 15-20 วัน เพศเมียออกลูกได้ 35-360 ตัว

ลักษณะการทำลาย

 เป็นแมลงศัตรูข้าวไร่ที่ระบาดทำลายข้าวไร่บางครั้งบางคราว และมีความสำคัญเฉพาะในบางท้องที่  เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  น่าน  และแม่ฮ่องสอน ทำลายข้าวไร่ตั้งแต่ระยะกล้า โดยอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนรากใกล้โคนต้นและระดับดิน ต้นข้าวจะมีอาการเหลืองซีด ชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกร็นผิดปรกติ ถ้ามีการระบาดรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา ใบบิดม้วนตามยาว  ไม่ฟื้นตัวหลังจากได้รับน้ำฝน  และแห้งตายในเวลาต่อมา เมื่อดึงต้นข้าวที่มีลักษณะดังกล่าวขึ้นมาจากดิน จะพบกลุ่มเพลี้ยอ่อนเกาะดูดกินที่รากเป็นจำนวนมาก การระบาดทำลายจะเป็นหย่อมๆโดยมี  “มดเลี้ยงเพลี้ย” (Tendingants)

สกุล Pheidole, Crematogaster, Tetramorium, Lasius และ Tapinoma เป็นแมลงพาหะในการเคลื่อนที่และแพร่กระจาย โดยมดจะนำเพลี้ยอ่อนไปเลี้ยงและดูแลในรังในระยะที่ยังไม่มีการปลูกข้าวไร่  และจะหาที่อาศัยใหม่ให้เพลี้ยอ่อน โดยขุดอุโมงค์ทางเดินไปตามระบบรากของข้าวไร่  เพื่อให้เพลี้ยอ่อนสามารถเคลื่อนย้ายไปดูดกินที่ส่วนรากของข้าวไร่ได้สะดวก

การป้องกันกำจัด

1). ตั้งแต่เริ่มพบอาการเสียหายจากเพลี้ยอ่อน ค่อยๆ ถอนต้นข้าวที่ถูกทำลาย เพื่อให้เพลี้ยอ่อนติดขึ้นมากับรากข้าวมากที่สุด และนำไปทำลายทิ้ง
2). ป้องกันกำจัดมด ที่เป็นแมลงพาหะ ขุดทางเดินบริเวณระบบราก และนำเพลี้ยอ่อนไปกระจายจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
3). ใช้สารฆ่าแมลงคาร์บาริล  (เซฟวิน 85% ดับบลิวพี) หรือมาลาไทออน(มาลาไธออน 57% อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  พ่นบริเวณโคนต้นข้าว เฉพาะบริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

การลดความชื้นโดยใช้แสงอาทิตย์ คือ การใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งความร้อน โดยมีการเคลื่อนที่ของอากาศเป็นตัวช่วยพาความชื้นออกจากเมล็ด ทำให้ความชื้นของเมล็ดลดลง เป็นวิธีการที่ประหยัด ไม่ยุ่งยากแต่มีข้อเสียคือใช้แรงงานและพื้นที่ในการตาก
1.การเตรียมการก่อนปลูก 1.1 การเตรียมดิน1) ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกคือดินทรายหรือดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดและด่างของดิน pH มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.82) การเตรียมดิน ควรไถดินตากไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวนอีก 1 – 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยหมักหรือ